Sea ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มระดับโลก ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านดิจิทัลเอนเตอร์เทนเมนท์ (Garena) อีคอมเมิร์ซ (Shopee) และบริการด้านการเงินแบบดิจิทัล (SeaMoney) เผยผลสำรวจ Thai Youth 2020 ?COVID-19: Challenges & Opportunities for Transformation? ที่เจาะลึกสำรวจคนรุ่นใหม่ไทยซึ่งจะกลายเป็นผู้กำหนดอนาคตของประเทศต่อไปในช่วงโควิด-19 พบ 3 มิติความท้าทายที่คนรุ่นใหม่ต้องเผชิญ พร้อมเสนอแนวทางการอุดช่องโหว่ในการปรับเปลี่ยนสู่ระบบดิจิทัล การเรียนรู้ และการเงิน เพื่อช่วยให้คนรุ่นใหม่สามารถรับมือและต่อสู้กับความท้าทายใหม่นี้ได้ ด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
ดร.สันติธาร เสถียรไทย Group Chief Economist, Sea Group กล่าวว่า ?ช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา มีความท้าทายใหม่เกิดขึ้นในหลายด้าน ดังนั้น Sea Insights หน่วยงานที่รับผิดชอบการวิจัยด้านนโยบายสาธารณะภายใต้ Sea Group จึงได้ร่วมกับ สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ทำงานวิจัยที่สำรวจคนรุ่นใหม่ 70,000 คนทั่วอาเซียน อายุระหว่าง 16-35 ปี และยังเจาะลึกเฉพาะคนรุ่นใหม่ของไทย เพื่อค้นหาว่าพวกเขาเผชิญกับความท้าทายอะไรบ้าง อะไรคือสิ่งที่พวกเขารู้สึกว่าเป็นปัญหา อะไรคือสิ่งที่อยากจะปรับตัว และอะไรคือสิ่งที่พวกเราทุกคนทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งผมเชื่อว่าผลกระทบจากโควิด-19 จะมีผลกระทบกับชีวิตของคนรุ่นใหม่มหาศาล ซึ่งจะมีผลไปตลอดในอนาคตด้วย เพราะฉะนั้นการเข้าใจพวกเขาจะเข้าใจอนาคตของประเทศไทยด้วย?
จากผลสำรวจ Thai Youth 2020 ?COVID-19: Challenges & Opportunities for Transformation? พบว่า ความท้าทายของคนรุ่นใหม่ไทยในช่วงโควิด-19 มาจาก 3 มิติ ได้แก่ Disruptions to work/study การเผชิญอุปสรรคในการทำงานหรือการเรียน โดย 76% ระบุว่าการเรียนหรือทำงานทางไกลในสถานการณ์โรคระบาดเป็นเรื่องยาก โดยนักเรียน นักศึกษา และกลุ่มคนในวัยทำงานจากภาคสังคมและเกษตรกรรมพบอุปสรรคมากที่สุด ซึ่งมีสาเหตุมาจากคุณภาพของอินเทอร์เน็ต 36% โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ในขณะที่อุปสรรคที่ขัดขวางการทำงานหรือการเรียนทางไกลมากที่สุดคือความคุ้นเคยกับเครื่องมือดิจิทัล โดย88% ของผู้ที่ขาดทักษะดิจิทัลระบุว่า พบความยากลำบากในการทำงาน นอกจากนี้ ยังพบอุปสรรคในการทำงานจากบ้านอันเป็นผลจากจากกฎระเบียบของภาครัฐ เช่น เอกสารทางราชการ
มิติที่ 2 Downturns in demand เนื่องจากโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยเผชิญสภาวะขาดรายได้อย่างรุนแรงและกะทันหัน เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวในสัดส่วนที่สูงถึง 18% ของ GDP สภาวะความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นจากสถานการณ์นี้ ทำให้คนรุ่นใหม่มีการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น โดยจากผลสำรวจเผยให้เห็นว่า 63% ของคนรุ่นใหม่ใช้จ่ายอย่างประหยัดมากขึ้น นอกจากนี้ ยังพบว่า 48% ได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของการมีเงินออมเผื่อฉุกเฉินที่เพียงพอ และ 44% ได้เรียนรู้ที่จะซื้อในสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น
และมิติสุดท้าย Deficits in funding พบว่า 26% ของคนรุ่นใหม่เผชิญอุปสรรคทางการเงิน ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าสถิติของภูมิภาค (19%) โดยสิ่งที่น่าสนใจคือ คนรุ่นใหม่ในธุรกิจสตาร์ทอัพและกิจการเพื่อสังคม มีอุปสรรคทางการเงินมากที่สุด ตามมาด้วยผู้ประกอบการและผู้ที่รับจ้างรายได้ไม่แน่นอน ต่างกับสถิติในอาเซียนที่โดยทั่วไปแล้วผู้ประกอบการและผู้ที่ทำงานรับจ้างถือเป็นสองอันดับแรกที่ระบุว่าพบอุปสรรคทางการเงินมากที่สุด ทั้งนี้ ในกรณีของกิจการเพื่อสังคม การขาดเงินทุนส่วนหนึ่งอาจสะท้อนให้เห็นถึงการที่กลุ่มเปราะบางต้องการสิ่งของบริจาคมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์โควิด-19 ในขณะที่ในกรณีของสตาร์ทอัพ ส่วนหนึ่งอาจมาจากเงื่อนไขการเข้าถึงเงินทุนซึ่งมีความเข้มงวดยิ่งขึ้น
นอกจากความท้าทายและอุปสรรคของคนรุ่นใหม่ไทย ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจจากผลสำรวจ นั่นคือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ไทยมีการปฏิวัติตัวเองใน 3 ด้าน ด้านแรกคือ วิถีดิจิทัล (Digitalization) พบว่า ภาคประชาชนมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ โควิด-19 อย่างมีนัยยะสำคัญ โดยหันมาใช้เครื่องมือดิจิทัลมากขึ้น ซึ่ง 81% เพิ่มการใช้งานเครื่องมือดิจิทัลขึ้นอีกอย่างน้อยหนึ่งช่องทาง และ 41% เริ่มหันมาใช้เครื่องมือดิจิทัลเป็นครั้งแรก และภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย การเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบดิจิทัลก็จะยังดำเนินต่อไปและกลายเป็นเรื่องปกติที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน โดย 60% จะใช้งานโซเชียลมีเดียในการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ อีคอมเมิร์ซ และการส่งอาหาร เป็นพฤติกรรมติดตัวไปตลอด สำหรับในภาคธุรกิจ ช่วงโควิด-19 ผู้ประกอบการหันมาใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อกระจายสินค้าและเพิ่มยอดขาย โดย 21% ของผู้ประกอบการ ใช้อีคอมเมิร์ซเป็นช่องทางการขายมากขึ้น และ 33% ของผู้ประกอบการที่ใช้อีคอมเมิร์ซมากขึ้นเป็นผู้ประกอบการที่เริ่มหันมาใช้อีคอมเมิร์ซเป็นครั้งแรก
ด้านต่อมาคือ การเรียนรู้ (Lifelong Learning) พบว่า การเรียนออนไลน์พุ่งสูงขึ้น โดยเห็นได้ชัดเจนที่สุดในกลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่เรียนเต็มเวลา ในขณะที่กลุ่มคนทำงานก็เรียนออนไลน์เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดย 49% ของเยาวชนไทยใช้เครื่องมือการเรียนการสอนออนไลน์มากขึ้นในช่วงโควิด-19 แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาค (64%) โดย 31% ใช้งานเป็นครั้งแรก และแม้หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย 55% จะยังใช้เครื่องมือการเรียนการสอนออนไลน์ และ 30% ของกลุ่มวัยทำงานได้ใช้เครื่องมือการเรียนการสอนออนไลน์เพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19
นอกจากการปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัลแล้ว กลุ่มคนรุ่นใหม่จำนวนมากยังแสดงให้เห็นถึงสัญญาณแห่งการฟื้นตัวและความสามารถในการปรับตัวท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 โดย 63% ของกลุ่มคนรุ่นใหม่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวและการฟื้นตัวท่ามกลางสถานการณ์ อาทิ เรียนรู้ที่จะฟื้นตัวในสถานการณ์โรคระบาด เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ และ มองหารูปแบบธุรกิจใหม่ๆ โดยทั่วไป เราอาจจะเชื่อกันว่าคนวัยหนุ่มสาวน่าจะมีความสามารถในการฟื้นตัวได้เร็วกว่า แต่ผลสำรวจของเราแสดงให้เห็นว่าคนวัยหนุ่มสาวอาจไม่ได้ฟื้นตัวได้เร็วกว่าเสมอไป ผลสำรวจพบว่า กลุ่มคนในช่วงอายุ 26-35 ปี มีแนวโน้มที่จะแสดงสัญญาณแห่งการฟื้นตัวและความสามารถในการปรับตัวได้ดีกว่ากลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 25 ทั้งนี้ ผลสำรวจของเราแสดงให้เห็นว่าเยาวชนในช่วงอายุ 16-25 ปียังมีความได้เปรียบเล็กน้อยในการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ
และด้านสุดท้าย การเงิน (Financing) แหล่งเงินทุนภายนอกมีความสำคัญมากขึ้นสำหรับคนรุ่นใหม่ และมีส่วนน้อยที่เลือกใช้บริการของธนาคาร โดยคนรุ่นใหม่มักจะใช้เงินเก็บของตัวเองและเลือกที่จะขอความช่วยเหลือทางการเงินจากครอบครัวและเพื่อนก่อน โดย 63% เรียนรู้ที่จะบริหารการเงินอย่างระมัดระวังมากขึ้น และมักจะใช้ประโยชน์จากเงินเก็บส่วนตัวก่อน และ 25% ของผู้ที่พบอุปสรรคทางการเงิน ระบุว่ามักจะเลือกใช้ช่องทางการกู้เงินจากธนาคาร ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาค (33%) โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีการศึกษาในระดับไม่สูง และกำลังอยู่ในวัยเรียนยิ่งมีแนวโน้มต่ำที่จะเลือกกู้เงินจากธนาคาร ดังนั้น แหล่งเงินทุนทางเลือกจึงเป็นแหล่งสำคัญสำหรับผู้ที่เผชิญอุปสรรคทางการเงิน การสนับสนุนจากรัฐบาล แหล่งเงินทุนจากออนไลน์ และแหล่งเงินทุนอย่างไม่เป็นทางการเป็นช่องทางสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่พบอุปสรรคทางการเงิน ข้อค้นพบดังกล่าวนี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการสนับสนุนจากภาครัฐและความต้องการในโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น
จากผลสำรวจในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่ายังมี 3 ช่องโหว่ที่ต้องช่วยกันอุด เพื่อสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่สามารถต่อสู้ เอาชนะความท้าทายต่างๆ จากไวรัสและมาตรการระยะห่างทางสังคมได้ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน กล่าวคือ ช่องโหว่ในการปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัล เมื่อการปรับเปลี่ยนสู่ระบบดิจิทัลกลายเป็นเรื่องจำเป็น การอุดช่องว่างความแบ่งแยกทางดิจิทัลต้องอาศัยการขจัดข้อจำกัดแก่ทุกคน นั่นคือ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล การปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการเปลี่ยนกระบวนการจากในรูปแบบเอกสารไปสู่ออนไลน์ และกระบวนการที่ไม่ต้องใช้การสัมผัส และการให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับดิจิทัลแก่ทุกคน
ช่องโหว่ในการเรียนรู้ การสำรวจนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการฟื้นตัวและความสามารถในการปรับตัว ซึ่งต้องมีมาตรการมาช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ไปตลอดชีวิต โดยสามารถเริ่มได้จากหลักสูตรที่จะช่วยปรับและเพิ่มทักษะที่จำเป็น ทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ ที่สำคัญยิ่งกว่าเนื้อหาวิชา คือการปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่มีทัศนคติแห่งการเติบโตและความพร้อมทางจิตใจและอารมณ์ในการฟื้นตัวจากความท้าทาย เพื่อฝึกให้พร้อมรับมือกับอนาคตที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
และสุดท้าย ช่องโหว่ในเงินทุน ผลสำรวจเผยว่าเยาวชนในธุรกิจสตาร์ทอัพและกิจการเพื่อสังคม รวมไปถึงกลุ่มเยาวชนที่ทำงานรับจ้าง และเป็นผู้ประกอบการถือเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มสูงกว่าที่จะประสบปัญหาทางการเงิน แม้ในระยะสั้นจะได้รับการสนับสนุนจากนโยบายทางการเงิน แต่ข้อค้นพบจากผลสำรวจบ่งชี้ว่า ในระยะต่อๆ ไป บริการทางการเงินในระบบดิจิทัลจะมีศักยภาพในการช่วยให้ทุกคนเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มประชากรที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้
?ถ้ามองว่าคนรุ่นใหม่เป็นไม้แห่งอนาคต อยากให้เติบโตขึ้นไป ต้นไม้ก็ต้องมีทั้ง น้ำ ดิน และแสงแดด ซึ่งเราก็จะเห็นช่องว่างแต่ละอันอยู่ ดิน เปรียบเทียบกับทักษะแห่งอนาคต ถ้าเรามี Growth Mindset มีทักษะที่เปิดรับความรู้ใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา จะทำให้เราสามารถดูดสารอาหารออกมาได้ เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา แสงแดด เปรียบได้กับดิจิทัลที่ตอนนี้แม้สาดส่องตลอดเวลาแต่ยังไม่ทั่วถึง หลายคนเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต ขณะเดียวกันต้องมีทักษะดิจิทัลด้วย เรื่องนี้ต้องช่วยทั้งภาครัฐและเอกชน สุดท้าย น้ำ เปรียบได้กับการเงิน สิ่งที่ค้นพบคือ ในช่วงที่ผ่านมาคนรุ่นใหม่ของไทยพึ่งพาการเงินจากภาครัฐค่อนข้างเยอะ คนที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งการเงินแบบธนาคารในเมืองไทยยังมีค่อนข้างพอสมควร ดังนั้น หน้าที่ให้น้ำ ดิน และแสงแดด เป็นของทุกคน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ตอนแรกที่ทำงานวิจัยชิ้นนี้มองว่า เป็นบททดสอบของคนรุ่นใหม่ แต่ทำเสร็จแล้วถึงเข้าใจว่า โควิด-19 ไม่ใช่บททดสอบของคนรุ่นใหม่ แต่เป็นบททดสอบของทั้งสังคมไทยว่าสุดท้ายแล้วเราเห็นคนรุ่นใหม่ที่เป็นนักสู้ที่สามารถปรับตัวได้ขนาดนี้ บางคนโต้คลื่น แต่บางคนยังไม่มีแม้กระทั่งกระดาน เราจะหากระดานให้กับคนเหล่านั้นได้อย่างไร ทุกคนต้องมาร่วมทำด้วยกันหมด? ดร.สันติธาร กล่าวเพิ่มเติม
เกี่ยวกับ Sea (ประเทศไทย)
Sea เป็นผู้นำในการให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มระดับโลก ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านดิจิทัลเอนเตอร์เทนเมนท์ (Digital Entertainment) อีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) และ บริการด้านการเงินแบบดิจิทัล (Digital Financial Services) กลุ่มบริษัทในเครือ Sea (ประเทศไทย) ประกอบด้วย บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) บริษัท ช้อปปี้ ประเทศไทย และ บริษัท ซีมันนี่ (ประเทศไทย) โดยพันธกิจของ Sea คือการทำให้ชีวิตของผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายย่อยมีความสะดวกสบายยิ่งขึ้นด้วยเทคโนโลยี นอกจากนี้ Sea ยังเป็นบริษัทที่ได้รับการจดทะเบียนในตลาดทุน NYSE โดยใช้สัญลักษณ์ SE