รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน มอบนโยบายพัฒนาฝีมือแรงงานแก่อาสาสมัครแรงงาน มุ่งยกระดับฝีมือกลุ่มแรงงานนอกระบบ กลุ่มเปราะบาง และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้มีอาชีพ มีรายได้ที่ยั่งยืน
ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน มอบนโยบายการพัฒนาฝีมือแรงงานและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับความต้องการพัฒนาฝีมือแรงงานของกลุ่มแรงงานนอกระบบ กลุ่มแรงงานที่มีความเปราะบาง และแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผ่านอาสาสมัครแรงงาน โดยมีตัวแทนอาสาสมัครแรงงานที่ทำหน้าที่ประสานงานในชุมชน จำนวน 69 คน และเครือข่ายกลุ่มจักรยานยนต์รับจ้าง 5 คน รวมทั้งสิ้น 74 คน เข้ารับมอบนโยบาย ณ ห้องประชุมปกรณ์ อังศุสิงห์ ชั้น 10 อาคารกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
ศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวว่า อาสาสมัครแรงงานเป็นผู้ที่สมัครใจทำงานให้กับกระทรวงแรงงาน มีบทบาทสำคัญในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงแรงงาน ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและในต่างประเทศ ในการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนหรือผู้ใช้แรงงานที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนด้านแรงงานในพื้นที่ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่สำคัญในการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านแรงงานให้ประชาชนในพื้นที่ทราบ สร้างความรู้ ความเข้าใจในสาระความรู้เกี่ยวกับการให้บริการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เบื้องต้น ตามกฎหมายแรงงานให้แก่คนหางานและการใช้แรงงาน อีกทั้งเป็นผู้ประสานงานเบื้องต้นระหว่างคนหางาน ผู้ใช้แรงงาน ตลอดจนประชาชนในพื้นที่ รวมถึงทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการและความเคลื่อนไหวด้านแรงงานเบื้องต้น เพื่อนำไปพิจารณาว่างแผนการดำเนินงานด้านแรงงานในพื้นที่
รมช.แรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันอาสาสมัครแรงงานกรุงเทพมหานครมีจำนวนทั้งสิ้น 2,066 คน ประกอบด้วย อาสาสมัครแรงงานในชุมชนของกรุงเทพมหานคร จำนวน 953 คน และอาสาสมัครแรงงานที่เป็นเครือข่ายแท็กซี่ จำนวน 1,113 คน ซึ่งท่านรองนายกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ทราบดีว่ากระทรวงแรงงานให้โอกาสแรงงานทุกกลุ่ม เช่น กลุ่มเปราะบาง ที่อาจจะไม่ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง โดยดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการประชุมคณะกรรมการพัฒนา แรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) ครั้งที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบตั้งคระกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงแรงงาน และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นำเงินกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มาพัฒนาทักษะอาชีพคนพิการ รวมถึงกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการ ซึ่งกระทรวงแรงงานได้เข้าไปช่วยเหลือตั้งแต่ปี 2561-2562 เป็นต้นมาและยังคงดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กลุ่มดังกล่าวเข้าถึงการมีงานทำและแรงงานกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ชุมชนพื้นที่ห่างไกล และขณะนี้กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้มีหลักสูตรการขายออนไลน์ E-Commerce เพื่อให้แรงงานมีช่องทาง การขายเพิ่มขึ้นร่วมมือกับโรงพยาบาลกล้วยน้ำไทย เสมอมอบทุน 300 ทุน ให้นักศึกษาเรียนหลักสูตรนักอภิบาล ซึ่งปกติหลักสูตรนี้จะมีค่าเล่าเรียนประมาณ 9,500 บาท โดยนักศึกษาที่เรียนจบแล้วส่วนหนึ่งโรงพยาบาลกล้วยน้ำไทยจะรับเข้าทำงาน และส่งไปทำงานยังที่ต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรฝึกอบรมจากบริษัทต่างๆ เช่น หลักสูตรติดตั้งเสา 5G ของบริษัทหัวเว่ย หลักสูตรช่างเชื่อมของชิโนเปค เป็นต้น
?ขอเป็นกำลังใจให้ อสร. ทุกคนในการปฏิบัติหน้าที่เป็นสื่อกลาง นำข้อมูลข่าวสารแจ้งให้ประชาชนในชุมชน ได้รับรู้ถึงภารกิจและบริการที่ภาครัฐช่วยเหลือดูแลและอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ ช่วยให้ประชาชนติดต่อหรือขอรับความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงเข้ารับการพัฒนาแรงงานทักษะฝีมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่มีหลักสูตรการฝึกที่หลากหลาย และมีหน่วยงานกระจายอยู่ทุกพื้นที่ของประเทศ และอสร. คือกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวงให้บรรลุเป้าหมาย โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในระดับพื้นที่และระดับประเทศ สอดรับการดำเนินงานตามนโยบาย สร้าง ยก ให้ รวมไทยสร้างชาติ ตลอดจนยุทธศาสตร์ชาติ ท่ามกลางวิกฤติการณ์ของประเทศที่กำลังเกิดขึ้น? รมช.แรงงาน กล่าวในท้ายสุด