ปภ.รายงานสถานการณ์อุทกภัย ดินสไลด์ และวาตภัย 20 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมขัง 7 จังหวัด เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยทุกด้าน

ข่าวทั่วไป Friday October 16, 2020 11:06 —ThaiPR.net

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก ดินสไลด์ และวาตภัย ในพื้นที่ 20 จังหวัด รวม 69 อำเภอ 189 ตำบล 659 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 16,936 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย (จันทบุรี) ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา สระแก้ว ฉะเชิงเทรา สุราษฎร์ธานี ตรัง สตูล และนครศรีธรรมราช ซึ่ง ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยทหาร จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง รวมถึงสำรวจความเสียหายครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานจากอิทธิพลพายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2563 ? ปัจจุบัน (16 ตุลาคม 2563 เวลา 06.00 น.) มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก ดินสไลด์ และวาตภัย รวม 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ศรีสะเกษ สระแก้ว ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ชลบุรี ระยอง กาญจนบุรี ชัยนาท ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง สตูล และสงขลา รวม 69 อำเภอ 189 ตำบล 659 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 16,926 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย แยกเป็น

พื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำไหลหลาก รวม 18 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ศรีสะเกษ สระแก้ว ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ชลบุรี ระยอง กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พังงา กระบี่ ตรัง สตูล และสงขลา รวม 63 อำเภอ 177 ตำบล 639 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 16,902 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขัง 7 จังหวัด ดังนี้

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 12 อำเภอ 35 ตำบล 94 หมู่บ้าน ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอปักธงชัย อำเภอโนนสูง อำเภอพิมาย และอำเภอโชคชัย สถานการณ์ภาพรวมระดับน้ำท่วมลดลง

ภาคตะวันออก 2 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสระแก้ว และอำเภอเขาฉกรรจ์ รวม 7 ตำบล 24 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 213 ครัวเรือน ยังคงมีน้ำท่วมขีงในพื้นที่อำเภอเมืองสระแก้ว ฉะเชิงเทรา น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม ประชาชนได้รับผลกระทบ 35 ครัวเรือน ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายและอยู่ระหว่างการฟื้นฟู

ภาคใต้ 4 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่อำเภอพระแสง รวม 5 ตำบล 9 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 65 ครัวเรือน ปัจจุบันฝนตกเล็กน้อยทำให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้น ตรัง น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองตรัง อำเภอสิเกา อำเภอวังวิเศษ อำเภอกันตัง อำเภอห้วยยอด อำเภอนาโยง อำเภอปะเหลียน และอำเภอย่านตาขาว รวม 36 ตำบล 159 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,532 ครัวเรือน ปัจจุบันยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองตรัง อำเภอกันตัง และอำเภอวังวิเศษ ปัจจุบันระดับน้ำลดลง สตูล น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอละงู อำเภอท่าแพ อำเภอควนโดน อำเภอมะนัง อำเภอเมืองสตูล และอำเภอทุ่งหว้า รวม 17 ตำบล 87 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,980 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง และนครศรีธรรมราช น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอทุ่งใหญ่ อำเภอช้างกลาง อำเภอถ้ำพรรณรา และอำเภอนาบอน รวม 7 ตำบล 28 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 483 ครัวเรือน ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่อำเภอช้างกลาง

พื้นที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัย 3 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท กาญจนบุรี และพังงา รวม 5 อำเภอ 8 ตำบล 16 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนเสียหาย 24 หลัง ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว อยู่ระหว่างการฟื้นฟู

พื้นที่ได้รับผลกระทบจากดินสไลด์ 3 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต สตูล และกระบี่ รวม 5 อำเภอ 8 ตำบล 16 หมู่บ้าน ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว

ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ร่วมกับจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ รวมถึงสนับสนุนเรือท้องแบน พร้อมเครื่องยนต์ รถบรรทุกติดตั้งเครน รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยไปยังจุดอพยพ อีกทั้งแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อการดำรงชีพ สำหรับจังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว ให้เร่งสำรวจประเมินความต้องการการช่วยเหลือของผู้ประสบภัย พร้อมจัดทำบัญชีความเสียหายให้ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งการประกอบอาชีพชีวิตความเป็นอยู่ ที่อยู่อาศัย พื้นที่การเกษตร ปศุสัตว์ สาธารณูปโภค เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ตลอดจนเร่งซ่อมแซมและฟื้นฟู สิ่งสาธารณประโยชน์ให้สามารถใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ