“เน็คซ์ แคปปิตอล” หรือ “NCAP” นับหนึ่งไฟลิ่ง จ่อขายไอพีโอ 300 ล้านหุ้น คาดเข้าเทรดใน SET ปีนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 16, 2020 17:44 —ThaiPR.net

ก.ล.ต. นับหนึ่งไฟลิ่ง ?เน็คซ์ แคปปิตอล? เดินหน้าตามแผนเข้าจดทะเบียนใน SET เสนอขาย IPO จำนวน 300 ล้านหุ้น ระดมทุนขยายธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ โดยจะใช้ลงทุนในระบบเทคโนโลยี ชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน คาดเทรดภายในปีนี้ ล่าสุดเปิดผลประกอบการงวดครึ่งปีแรกทำรายได้รวมเกือบ 562 ล้านบาท กำไรสุทธิเกือบ 71 ล้านบาท โต 30% จากงวดครึ่งปีแรกของปีก่อน

นายวรชาติ ทวยเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัทฟินเน็กซ์แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ของบริษัท เน็คซ์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ NCAP เปิดเผยว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ได้เริ่มนับหนึ่งแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ของ NCAP เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยวางแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 300 ล้านหุ้นมูลค่าที่ตราไว้(พาร์) 0.50 บาทต่อหุ้น คาดเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ภายในปีนี้ วัตถุประสงค์การระดมทุน เพื่อนำไปใช้ลงทุนในระบบสารสนเทศเพื่อพัฒนาระบบการให้บริการสินเชื่อ และระบบสนับสนุนการทำงาน สัดส่วน 5% ใช้คืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงินสัดส่วน 15% และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจสัดส่วน 80% และคาดจะใช้เงินภายในปี2564

สำหรับผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทฯ คือ บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) มีสัดส่วนการถือหุ้นก่อนและหลัง IPO 40% และ 26.67% ตามลำดับ บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) สัดส่วนการถือหุ้นก่อนและหลัง IPO 40% และ 26.67% ตามลำดับ อีกทั้ง วิสต้า อินเวสท์เม้นท์ ลิมิเต็ด สัดส่วนการถือหุ้นก่อนและหลัง IPO 7.50% และ 5% ตามลำดับ โดยจำนวนหุ้นที่ติด Silent Period ในครั้งนี้สัดส่วน 55% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดหลัง IPO โดยหุ้นของผู้ถือหุ้นใหญ่ COM7 และ SYNEX ติด Silent ทั้งหมด สะท้อนความเชื่อมั่นในการลงทุนบริษัทฯ ในระยะยาว

นายสมชัย ลิมป์พัฒนสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็คซ์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ NCAP ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ เปิดเผยว่า บริษัทฯ มุ่งเน้นการให้บริการแก่ลูกค้ารายย่อยที่ต้องการเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์เป็นหลัก ด้วยการซื้อรถจากตัวแทนจำหน่าย (Dealer) แล้วนำมาให้ลูกค้าเช่าซื้อ โดยมี ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ (Hire Purchase) เป็นธุรกิจหลัก คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 99% ของมูลค่าลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อรวม กำหนดระยะเวลาให้สินเชื่อเช่าซื้อสำหรับรถจักรยานยนต์ทุกรุ่นทุกยี่ห้ออยู่ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ 12 - 48 เดือน

ปัจจุบัน บริษัทฯ มีจำนวนสาขาทั้งหมด 24 แห่ง ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ โดยเฉพาะทางภาคใต้ที่บริษัทฯ แข็งแกร่ง และมีดีลเลอร์ตัวแทนจำหน่ายรถเป็นพันธมิตรของบริษัทฯ ในพื้นที่ต่างๆ ประมาณ 600 ราย มีมูลค่าพอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ประมาณ 4,000 ล้านบาท มีจำนวนบัญชีประมาณ 100,000 ราย และแม้จำนวนบัญชีในปี 2563 ไม่ได้เติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่กำไรบริษัทฯ ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากกระบวนการจัดการภายในที่ดีขึ้น ในการอนุมัติและติดตามสินเชื่อใหม่ที่คล่องตัว รวมถึง ใกล้ชิดลูกค้ามากขึ้น

ทั้งนี้ NCAP มีโครงการในอนาคต ในการขยายสาขาไปยังต่างจังหวัด และแผนการเพิ่มพันธมิตรทางธุรกิจกับร้านค้าและตัวแทนจำหน่ายเพิ่มเติม ให้ครอบคลุมหัวเมืองจังหวัดต่างๆ ที่สำคัญ โดยมีแผนจะขยายในปี 2564 จำนวน 1 แห่ง และในปี 2565 จำนวน 2 แห่ง รวมทั้ง การลงทุนในระบบสารสนเทศเพื่อใช้ในการดำเนินงานทุกส่วน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ได้แก่ ระบบ Mobile Application คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2563 ระบบ Credit Scoring คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2563 และระบบการวางแผนทรัพยากรทางธุรกิจขององค์กร (ERP) คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2564 โดยมั่นใจว่า ภายหลังระบบดังกล่าวแล้วเสร็จ จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ขยายสินเชื่อใหม่ได้อย่างก้าวกระโดดในปี 2564 และคาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนในระบบสารสนเทศรวมประมาณ 30-40 ล้านบาท โดยบริษัทฯ จะใช้กระแสเงินสดจากการประกอบธุรกิจในการลงทุนดังกล่าว ประกอบกับการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในครั้งนี้

ด้านผลประกอบการงวด 6 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทฯ มีรายได้รวม 561.89 ล้านบาท เติบโตขึ้น 18.7% จากงวดครึ่งปีแรกของปีก่อนอยู่ที่ 473.49 ล้านบาท แม้ว่าจะมีจำนวนสัญญาใหม่ที่ลดลงก็ตาม โดยเป็นผลมาจากการรับรู้รายได้ต่อเนื่องของสัญญาใหม่ที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 ที่รับรู้ต่อเนื่องมายังช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ และการเพิ่มขึ้นของรายได้อื่น ได้แก่ หนี้สูญรับคืนที่บริษัทสามารถติดตามทวงถามได้เพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากการปรับปรุงกระบวนการติดตามและทวงถามหนี้ที่ดีตั้งแต่ช่วงกลางปี 2562 เป็นต้นมา และสนับสนุนให้บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 70.65 ล้านบาท เติบโตขึ้น 30.3% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 54.21 ล้านบาท โดยคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิในงวด 6 เดือนปี 2563 และงวด 6 เดือนปี 2562 เท่ากับ 12.57% และ 11.45%  ตามลำดับ สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้อื่นๆ และการลดลงของอัตราดอกเบี้ยจ่ายของบริษัท

?ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมรายได้ของบริษัทฯ มีการเติบโตเพิ่มขึ้น แม้ปีนี้ต้องเจอกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้วอลุ่มการปล่อยสินเชื่อใหม่ลดลงเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ดี ด้วยความพร้อมในการบริหารจัดการที่ดี ทำให้บริษัทยังคงความสามารถในการทำกำไรในช่วงครึ่งปีแรก เรามีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นกว่า 30% และแนวโน้ม NPL ที่สามารถคุมได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ NPL ของบริษัทในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรม ขณะที่ จุดแข็งในด้านความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าและตัวแทนจำหน่าย ซึ่งยังคงมีความต้องการซื้อรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีราคาต่ำกว่ารถประเภทอื่น รวมถึง ความจำเป็นที่ต้องใช้ในการประกอบอาชีพทั้งธุรกิจขนส่งและอาหาร เป็นโอกาสให้บริษัทฯ ขยายสินเชื่อใหม่ได้เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะสัดส่วนพอร์ต Honda ที่คาดจะเพิ่มขึ้นตามความนิยมของตลาด อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ได้พัฒนาเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการทำงาน เพื่อให้บริการได้อย่างรวดเร็ว รวมถึง อบรมบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถ เพื่อสนับสนุนการเติบโตให้ก้าวกระโดดในปี 2564 และมั่นคงในระยะยาว? นายสมชัย กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ