เทคโนโลยีส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ป้องกันเนื้อร้ายขยายเป็นมะเร็ง
ทำไม? อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ควรตรวจลำไส้ใหญ่
หลายคนคงสงสัย ทำไม?? ต้องตรวจลำไส้ใหญ่ด้วย ในเมื่อไม่ได้มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด เหตุผลเพราะปัจจุบันในบ้านเราพบผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และทันทีที่ตรวจพบ พบว่าเกินกว่าครึ่งหนึ่งมีการลุกลามเข้าไปในต่อมน้ำเหลืองหรือกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ซึ่งเป็นระยะลุกลามแล้วนั่นเอง
ที่เป็นอย่างนั้นเพราะลำไส้ใหญ่อยู่ภายในร่างกาย เราไม่ได้เห็นลำไส้ใหญ่ของเราตลอดเวลา ก้อนเนื้อร้ายหรือมะเร็งจึงสามารถค่อยๆ โตอยู่ได้ภายในลำไส้ใหญ่ของเราโดยที่เราไม่มีโอกาสรู้เลย กว่าจะมีอาการก็ต่อเมื่อมะเร็งมีขนาดใหญ่พอสมควรแล้ว จึงทำให้ถ่ายอุจจาระลำบาก หรือมีเลือดออกทางทวารหนัก ซึ่งในขณะนั้นมะเร็งอาจจะมีการแพร่กระจายออกไปนอกลำไส้ใหญ่แล้ว ซึ่งแน่นอนว่าการรักษาก็ต้องยากขึ้นไปด้วย
ปัจจุบันจึงมีคำแนะนำให้ตรวจลำไส้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไปโดยที่ไม่ต้องรอให้มีอาการผิดปกติ เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่ตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้บ่อยขึ้นตามสถิติ แต่ถ้ามีสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือมีอาการผิดปกติ เช่น ขับถ่ายอุจจาระผิดปกติ ท้องผูกสลับท้องเสีย มีเลือดออกทางทวารหนัก น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ก็อาจจะต้องทำการตรวจก่อนหน้านั้นโดยที่ไม่ต้องรอจนอายุ 50 ปี
เมื่อไหร่ควรตรวจลำไส้ใหญ่?
- อายุ 50 ปีขึ้นไป โดยที่ไม่ต้องรอให้มีอาการผิดปกติ
- มีสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ให้เริ่มทำการตรวจที่อายุ 40 ปี หรือก่อนคนที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ อย่างน้อย 10 ปี เช่น มีญาติเป็นมะเร็งลำไส้ตอนอายุ 45 ปี เราก็ต้องทำการตรวจตอนอายุ 35 ปี
- มีอาการผิดปกติที่สงสัยมะเร็งลำไส้ใหญ่ เช่น มีท้องผูกสลับท้องเสีย ท้องเสียเฉียบพลันในผู้สูงอายุ เลือดออกทางทวารหนัก น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ โลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กโดยที่ไม่มีสาเหตุอื่นอธิบาย
การตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่ ด้วยวิธีการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ดีอย่างไร?
สำหรับการตรวจวินิจฉัยหา ?โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่? ที่เป็นมาตรฐานในปัจจุบันคือ การใช้เทคโนโลยีส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ซึ่งมีข้อดีคือแพทย์สามารถเข้าไปตรวจดูภายในลำไส้ใหญ่ได้โดยที่ไม่ต้องทำการผ่าตัด แค่เพียงสอดกล้องที่มีขนาดเล็กเท่านิ้วก้อยเข้าไปในลำไส้ใหญ่ผ่านทางทวารหนัก ก็จะสามารถพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
และในกรณีที่ตรวจพบความผิดปกติ แพทย์สามารถใช้เครื่องมือทำการตัดเนื้องอกหรือมะเร็งระยะเริ่มต้นผ่านทางกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ได้เลย ทั้งนี้การตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่เป็นการตรวจโดยใช้กล้องพิเศษที่มีลักษณะเป็นท่อยาวเล็กๆ สอดผ่านทวารหนักเพื่อผ่านเข้าไปในลำไส้ใหญ่ซึ่งกล้องจะส่งสัญญาณภาพออกมาปรากฏที่หน้าจอด้วยขนาดที่ขยายใหญ่กว่าภาพปกติเพื่อให้แพทย์ผู้ตรวจสามารถเห็นรายละเอียดต่างๆตลอดทั้งลำไส้ใหญ่และลำไส้เล็กส่วนปลายได้
ส่วนผู้ที่จะเข้ารับการตรวจก็ไม่ต้องเตรียมตัวอะไรมากก่อนเข้ารับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ เพราะเพียงแค่มาพบแพทย์และแจ้งความประสงค์ในการเข้ารับการตรวจด้วยการส่องกล้องแพทย์ก็จะให้เตรียมลำไส้ให้สะอาดเพื่อการตรวจที่ชัดเจน โดยก่อนวันตรวจ 1 วันแพทย์จะให้ทานอาหารอ่อนงดอาหารประเภทผัก ผลไม้ งดยาบำรุงเลือดและยาแก้ท้องเสีย ในบางรายแพทย์อาจต้องให้ยาระบายในคืนก่อนวันเข้ารับการตรวจส่องกล้อง หรืออาจให้ทานยาล้างลำไส้ตอนเช้า ซึ่งในระหว่างการส่องกล้องจะมีวิสัญญีแพทย์ช่วยดูแล เมื่อคนไข้ขึ้นเตียงตรวจ คุณหมอมาตรวจเช็คความเรียบร้อยก็ช่วยให้เราหลับขณะทำการตรวจ เมื่อคนไข้ตื่นมาก็ตรวจเสร็จเรียบร้อยแล้ว ไม่น่ากลัว และปลอดภัย เมื่อตรวจพบติ่งเนื้อ สามารถใช้เครื่องมือส่องกล้องตัดออกมาตรวจผลทางพยาธิวิทยาได้ ถ้าผลพยาธิวิทยาแสดงว่ายังไม่เป็นมะเร็ง ก็จะแนะนำให้ตรวจซ้ำอีกทุก 5 ปี เพียงเท่านี้ก็เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการตรวจวินิจฉัยหาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือโรคอื่นๆ ที่อาจแฝงตัวหลบซ่อนอยู่ในลำไส้ใหญ่แล้ว
การตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยการส่องกล้องใช้เวลาเพียง 15-30 นาที และใช้เวลานอนพักฟื้นประมาณ 2 ชั่วโมง เพื่อรอให้ผู้เข้ารับการตรวจฟื้นตัวจากยาระงับความรู้สึก และสามารถทราบผลการตรวจได้เลย ภายหลังการตรวจอาจมีภาวะลมแน่นท้องเล็กน้อยจากการที่แพทย์ใส่ลมไปในลำไส้ระหว่างการตรวจ ซึ่งจะระบายออกหมดเองในเวลาไม่กี่นาที ก็สามารถทานอาหารและปฏิบัติกิจวัตรได้ตามปกติ
?การเตรียมตัวก่อนการตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่? https://youtu.be/JqLxPr0sW8o
แผนกโรคระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลรามคำแหง สายด่วนสุขภาพโทร 0 2743 9999 ต่อ 2999