ประเทศไทยมีปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นทุกวัน แต่การจัดการขยะพลาสติกเหล่านั้นยังไม่มีการจัดการอย่างถูกวิธีและอย่างมีประสิทธิภาพ การสร้างคุณค่าสูงสุดให้กับพลาสติกตั้งแต่ต้นทางการผลิต การใช้ และวนกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบใหม่ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy จึงเป็นโจทย์สำคัญที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตระหนัก และมุ่งสร้างผลกระทบเชิงบวกสู่ภาคประชาสังคม โดยมุ่งเน้นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals; SDG ) และพัฒนาสู่การเป็นเมืองต้นแบบอัจฉริยะ พลังงานสะอาด สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก ขยายผลสู่การพัฒนาชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยและจังหวัดเชียงใหม่อย่างยั่งยืน จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่างกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กลุ่มบริษัท ดาว เคมิคอล ประเทศไทย จำกัด บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในโครงการศึกษาพัฒนาการใช้ประโยชน์จากบรรจุภัณฑ์พลาสติกเหลือใช้เพื่อนำมาทำถนนแอสฟัลต์คอนกรีตผสมพลาสติกที่ใช้แล้ว
ในโครงการดังกล่าว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เข้าร่วมศึกษาด้านงานวิชาการที่มีผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อม รวมถึงการนำประสบการณ์และองค์ความรู้จากการวิจัยและพัฒนาการทำถนนพลาสติก รีไซเคิล จากเอสซีจี และกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ที่ได้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ซึ่งผ่านกระบวนการทดสอบตามมาตรฐานในห้องปฏิบัติการ และใช้งานจริงในพื้นที่ของภาคเอกชนต่าง ๆ มาใช้ศึกษาและพัฒนาโครงการนี้ ตลอดจนกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ที่มีความเชี่ยวชาญด้านงานวิจัย งานวิเคราะห์ และการตรวจสอบ ได้สนับสนุนการจัดทำมาตรฐานการนำพลาสติกเหลือใช้มาเป็นส่วนผสมในแอสฟัลต์คอนกรีต ซึ่งหากโครงการฯ สำเร็จ จะสามารถขยายผลไปสู่การทำถนนในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทยได้จริง ช่วยส่งเสริมการบริหารจัดการขยะ โดยเฉพาะพลาสติกได้อย่างยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งนี้ ถนนจากพลาสติกรีไซเคิลความยาว 1 กิโลเมตร ที่มีหน้ากว้างถนน 6 เมตร จะสามารถนำขยะพลาสติกไปใช้ประโยชน์ได้ถึงประมาณ 3 ตัน หรือเท่ากับถุงพลาสติกเกือบ 900,000 ใบ ซึ่งช่วยให้มีความแข็งแรงทนทานมากขึ้นกว่าการใช้ยางมะตอยตามปกติ
นอกจากนี้ ภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังได้ดำเนินการตัวอย่างต้นแบบด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม โดยศูนย์บริหารจัดการชีวมวลครบวงจร มช. ได้ใช้เทคโนโลยีแบบบูรณาการ (Integrated Solid Waste Management) ที่เน้นการนำขยะมูลฝอยกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ในรูปแบบต่างๆ เพื่อเป้าประสงค์ของกระบวนการการจัดการขยะมูลฝอยแบบครบวงจร โดยปราศจากของเสีย (zero waste) ซึ่งสามารถนำไปขยายผลในหน่วยงานและชุมชนต่างๆ รวมทั้งการแปรรูปขยะเป็นพลังงานทดแทน (Waste to Energy) ตลอดจนการริเริ่มโครงการนำขยะพลาสติก ที่เหลือจากโรงคัดแยกขยะต้นแบบมาเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตแอสฟัลต์คอนกรีต เพื่อการก่อสร้างและซ่อมแซมโครงข่ายถนนในมหาวิทยาลัย
ด้วยความตั้งใจของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยที่มุ่งนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ และสนับสนุนในด้านวิชาการและทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อจะส่งเสริมและผลักดันให้เกิดมาตรฐานถนนใหม่ ที่มีส่วนผสมของขยะพลาสติกสำหรับประเทศไทยต่อไป