บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Foreign-currency Issuer Default Rating หรือ IDR) ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM) ที่ 'BBB+? และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ 'AAA(tha)? แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
สำหรับรายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดแสดงไว้ในส่วนท้าย
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
การประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารสะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ที่เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลไทยจะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารในกรณีที่มีความจำเป็นอย่างทันท่วงที อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ EXIM อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลของรัฐบาลไทย (BBB+/แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวก/F1) ในขณะที่อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ EXIM ที่ 'AAA(tha)? เป็นอันดับเครดิตที่สูงที่สุดสำหรับอันดับเครดิตภายในประเทศ ทั้งนี้อันดับเครดิตของ EXIM มีปัจจัยสนับสนุนมาจากบทบาทที่สำคัญเชิงนโยบายของธนาคารในด้านการสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศและการลงทุน นอกจากนี้ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างธนาคารกับรัฐบาลเป็นผลมาจากสถานะทางกฎหมายของธนาคารในฐานะที่เป็นธนาคารรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะและเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institution) อีกทั้งธนาคารมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดและมีอำนาจควบคุมการดำเนินงาน
ผลประกอบการของ EXIMที่ปรับตัวอ่อนลง สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวแย่ลงอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาและแรงกดดันด้านรายได้และคุณภาพสินทรัพย์ที่คาดว่าจะยังคงมีต่อเนื่องจนถึงปีหน้า อย่างไรก็ตามฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งของธนาคารน่าจะเป็นปัจจัยรองรับความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ความเสี่ยงยังได้รับการลดทอนลงจากการสนับสนุนทางการเงินอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาล เช่นการชดเชยรายได้และการชดเชยผลขาดทุนซึ่งฟิทช์เชื่อว่าจะยังมีอยู่ต่อไป
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตของประเทศไทย จะส่งผลในทางเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ EXIM อย่างไรก็ตามการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของประเทศไทยไม่น่าจะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารเนื่องจากอันดับเครดิตภายในประเทศของ EXIM อยู่ในระดับคะแนนสูงสุดแล้ว
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
การปรับลดอันดับเครดิตของประเทศไทยอาจบ่งชี้ถึงความสามารถที่ลดลงของรัฐบาลในการให้การสนับสนุนแก่ธนาคารรัฐ ซึ่งรวมถึง EXIM และจะส่งผลกระทบในทิศทางเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ และอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ EXIM
ฟิทช์อาจทำการปรับลดอันดับเครดิตของ EXIM หากฟิทช์มีความเห็นว่าโอกาสที่รัฐบาลจะให้การช่วยเหลือสนับสนุนแก่ธนาคารปรับตัวลดลง ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจเกิดขึ้นหากรัฐบาลลดสัดส่วนการถือหุ้นในธนาคารลงอย่างมีนัยสำคัญและถาวรหรือธนาคารมีบทบาทในเชิงนโยบายที่ด้อยลง รวมทั้งหากมีการเปลี่ยนแปลงสถานะทางกฎหมายของธนาคารและสถานะการเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจ อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะปานกลาง
ทั้งนี้การปรับลดอันดับอันดับเครดิตภายในประเทศของ EXIM จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาเปรียบเทียบความแข็งแกร่งของโครงสร้างเครดิตของ EXIM กับธนาคารหรือบริษัทอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศเช่นกัน
อันดับเครดิตที่มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตอื่น
อันดับเครดิตของ EXIM มีความเชื่อมโยงกับโครงสร้างอันดับเครดิตของประเทศไทย
การพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)
ระดับคะแนนความสัมพันธ์ของ ESG ต่ออันดับเครดิต สำหรับโครงสร้างการกำกับดูแลกิจการ (Governance) ของ EXIM ได้รับการปรับเป็น '3' จากเดิม '4' เป็นการสะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ว่าการที่รัฐบาลมีอิทธิพลต่อโครงสร้างการกำกับดูแลของ EXIM โดยผ่านการถือหุ้น 100% ในธนาคารและตัวแทนอยู่ในคณะกรรมการเป็นลักษณะโครงสร้างตามปกติของธนาคาร ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาล แต่โดยภาพรวมไม่ส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของ EXIM
หากไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนนี้ แสดงว่าธนาคารมีระดับคะแนนความสัมพันธ์ของ ESG ต่ออันดับเครดิต ไม่เกินระดับ 3 ซึ่งหมายความว่าปัจจัยด้าน ESG จะไม่ส่งผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบในระดับที่น้อยมากต่ออันดับเครดิตของธนาคาร ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยจากลักษณะของธุรกิจหรือจากการบริหารจัดการของธนาคารก็ตาม