PwC ประเทศไทย เดินหน้าสู่องค์กรคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Commitment)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 29, 2020 15:11 —ThaiPR.net

PwC ประเทศไทย ประกาศเดินหน้าสู่การเป็นองค์กรที่มีการปล่อยแก๊สเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Commitment) ขานรับปณิธานของเครือข่าย PwC ทั่วโลก ที่ต้องการลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จากการดำเนินงานและห่วงโซ่อุปทานให้เป็นศูนย์ภายในปี 2573 พร้อมหนุนภาคธุรกิจไทยยกระดับการจัดทำรายงานความยั่งยืนที่เป็นรูปธรรมและสามารถปฏิบัติได้จริง หวังช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

นาย ชาญชัย ชัยประสิทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยว่า PwC ประเทศไทย มีความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก (Greenhouse gas (GHG) emissions) สุทธิเป็นศูนย์ในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยจะลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon dioxide: CO2) จากการดำเนินงานและห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งลดการใช้พลังงานและกระดาษภายในสถานประกอบการ มีการดำเนินนโยบายจัดซื้อจัดหาสินค้าและบริการจากผู้ส่งมอบสีเขียว (Green Supplier) รวมถึงลงทุนนำเครื่องกำจัดเศษอาหารให้เป็นปุ๋ยอินทรีย์เข้ามาใช้ภายในองค์กร เพื่อลดปัญหาขยะและแปรสภาพของเสียก่อนที่จะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เป็นต้น

"วิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศถือเป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนที่โลกกำลังเผชิญ เราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยและสังคมโลกที่สามารถช่วยให้ปัญหานี้เบาบางลงได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมภายในองค์กร สร้างจิตสำนึกรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคมในเรื่องผลกระทบที่เกิดจากการผลิตและการบริโภคก่อนที่จะสายเกินแก้ ซึ่งในเรื่องนี้ PwC ประเทศไทยมีเป้าหมายที่ชัดเจนสอดรับกับปณิธานของเครือข่าย PwC ทั่วโลก ที่ต้องการลดการปล่อยของเสีย สร้างสรรค์กิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้แก่พนักงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ รวมถึงให้คำปรึกษาและคำแนะนำแก่ลูกค้าที่ต้องการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้เราบรรลุเป้าหมายการเป็นองค์กรคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2573" นาย ชาญชัย กล่าว

นอกจากนี้ PwC ประเทศไทย ยังสนับสนุนและส่งเสริมให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ยกระดับมาตรฐานการจัดทำรายงานความยั่งยืนให้มากขึ้น โดยต้องกำหนดเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม มีกรอบแนวคิด และแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบและตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบและคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมภายใต้หลักการของ ESG (Environmental, Social and Governance: ESG)

"ผมเชื่อว่า เมื่อทุกภาคส่วนมีการวางแผนงานภายใต้หลัก ESG ที่ชัดเจนและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ก็จะยิ่งทำให้นักลงทุนและสาธารณชนเห็นว่า ธุรกิจไทยสามารถสร้างคุณค่าที่เป็นมากกว่าผลกำไร ให้เกิดขึ้นกับทั้งองค์กร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ได้ ซึ่งนี่จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนให้ระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของบ้านเราเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว" นาย ชาญชัย กล่าว

เดินหน้าสู่องค์กรคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

ทั้งนี้ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เครือข่าย PwC ได้ประกาศปณิธานในการปล่อยแก๊สเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ทั่วโลกภายในปี 2573 ด้วยการลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จากการดำเนินงานและห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งสนับสนุนให้ลูกค้าและซัพพลายเออร์ร่วมกันลดผลกระทบที่มีต่อสภาพภูมิอากาศเช่นกัน โดย PwC ตั้งเป้าในลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกลง 50% ภายใน 10 ปีข้างหน้า และในปี 2573 จะลดการปล่อยแก๊สส่วนที่เหลือผ่านการลงทุนในโครงการกำจัดคาร์บอนต่าง ๆ

สำหรับแนวทางที่ PwC จะนำมาใช้มีด้วยกัน 3 แนวทาง ประกอบด้วย

  • การลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก (เช่น หันมาใช้พลังงานทดแทน 100% ในสถานที่ทำการของ PwC ทั่วโลก ใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดภายในอาคารสำนักงาน ปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริการลูกค้าเพื่อสร้างสมดุลระหว่างการทำงานทางไกลและการทำงานนอกสถานที่ และ ลดการเดินทางทางอากาศ)
  • ทำงานร่วมกับลูกค้า (เช่น ยกระดับการรายงานข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงิน เช่น รายงานความยั่งยืน และบรรจุความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัจจัยเรื่องของบรรษัทภิบาลเข้ากับงานของลูกค้า)
  • ช่วยขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะผ่านการทำงานร่วมกับภาครัฐและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง
  • ด้าน นาย ไพบูล ตันกูล หุ้นส่วน และหัวหน้าสายงานความรับผิดชอบขององค์กร PwC ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า PwC ประเทศไทย ดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ภายใต้กรอบเดียวกันของเครือข่าย PwC ทั่วโลกซึ่งประกอบไปด้วย การมีส่วนร่วมกับชุมชน (Community engagement) การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม (Environmental stewardship) การดำเนินธุรกิจด้วยสำนึกรับผิดชอบ (Responsible business) และการบริหารความหลากหลายและการมีส่วนร่วม (Diversity and inclusion) ผ่านการส่งเสริมและปลูกฝังให้พนักงานเกิดสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม โดยใช้ทักษะความรู้ ความเชี่ยวชาญ และความเป็นมืออาชีพ มาช่วยกันสร้างสรรค์กิจกรรมจิตอาสาเพื่อคืนประโยชน์สู่สังคม

    สำหรับปีงบ 2564 นอกเหนือจากโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จากการดำเนินงานและห่วงโซ่อุปทานแล้ว นาย ไพบูล กล่าวว่า PwC ประเทศไทย ยังมีแผนจัดกิจกรรมจิตอาสาอื่น ๆ อีกหลายโครงการ เช่น บันทึกความเข้าใจกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ภายใต้โครงการจิตอาสาความร่วมมือทางวิชาการเพื่อให้การช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อจัดหลักสูตรออนไลน์และออฟไลน์อบรมเชิงลึกที่เกี่ยวข้องกับบัญชีหรือเรื่องอื่น ๆ ให้แก่ธุรกิจเอสเอ็มอี รวมไปถึงจัดโครงการแห่งการเรียนรู้ การอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ผืนป่า และสัตว์ป่า โดยจะจัดกิจกรรมจิตอาสาในการอนุรักษ์ผืนป่าและสัตว์ป่า ปีที่ 9 (Support the Rangers, Save the Forest, Year 9) ร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานและชาวบ้าน ณ เขตชุมชนและเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม ถึง 1 พฤศจิกายนนี้


    แท็ก PwC  

    เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ