ต้องยอมรับว่าปัจจุบันการแก้ปัญหาคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนต้องใช้พลังขับเคลื่อนสูง ใช้องค์ความรู้และเครือข่ายความร่วมมือจำนวนมาก?จะดีแค่ไหน หากนวัตกร นักวิจัย สตาร์ทอัพในประเทศไทยไม่ต้องลุยเดี่ยวพัฒนานวัตกรรมหรือแก้ปัญหาเพียงลำพัง แต่สามารถได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกับคนเก่ง ผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีประสบการณ์ด้านต่างๆในหลายประเทศมาแนะนำช่วยเหลือ หรือร่วมมือให้โครงการของคุณสู่ความสำเร็จได้เร็ว
ครั้งแรกในประเทศไทย?คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) โดยนางอาร์มิดา ซัลเซียะฮ์ อาลิสจะฮ์บานา (Mrs. Armida Salsiah Alisjahbana) เลขาธิการบริหาร พร้อมด้วยนาย อัดนัน เอช.อาเลียนี (Mr. Adnan H. Aliani) ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารจัดการยุทธศาสตร์และแผน ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOA) กับ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี พร้อมด้วย รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อร่วมกันพัฒนา ศูนย์ปฏิบัติการ SDG Solutions Lab ซึ่งออกแบบมาเพื่อรองรับการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาของการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ให้สำเร็จเป็นจริง ณ สำนักงานสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนินนอก
ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงที่มาของความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยมหิดล และ ESCAP สหประชาชาติ ครั้งนี้ว่า เนื่องจากสหประชาชาติเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพและประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ดีเป็นอันดับต้นๆของโลก มีความตื่นตัวด้านสาธารณสุข การศึกษาและวิจัยนวัตกรรมเพื่อสังคมไทยและโลก จึงมีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของประเทศไทยและนานาประเทศ กลุ่มเป้าหมายการมีส่วนร่วม ได้แก่ นักศึกษา นวัตกรรุ่นใหม่และสตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการ ทั้งนี้ในปีแรกจะเน้นรูปแบบของ Hackathon ด้านคุณภาพชีวิต สุขภาพและการแพทย์ ซึ่งกำลังมีความสำคัญต่อประชาชนและชุมชนท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก
นางอาร์มิดา ซัลเซียะฮ์ อาลิสจะฮ์บานา เลขาธิการบริหาร คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) กล่าวว่า เป้าหมายของศูนย์ปฏิบัติการ SDG Solutions Lab จะทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มและระบบนิเวศสำหรับสตาร์ทอัพ ในการร่วมมือกันและพัฒนานวัตกรรมหรือแก้ปัญหาระหว่างเครือข่ายสหประชาชาติ ภาคเอกชน ภาคการศึกษาวิชาการและสังคม ศูนย์ปฏิบัติการจะเชื่อมโยงนวัตกรและเม็นเทอร์ผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์และแหล่งความรู้กันได้ทั่วโลก สร้างเสริมพลังความร่วมมือให้แข็งแกร่งขึ้นและเกิดประสิทธิผลยิ่งขึ้น
รศ.ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในข้อตกลงความร่วมมือนี้ มีระยะเวลา 3 ปี โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะวางแผน จัดเตรียมและจัดทำกิจกรรมและความร่วมมือการมีส่วนร่วมกับคนรุ่นใหม่และนักแก้ปัญหา เพื่อประสิทธิผลของโครงการ ที่เน้นในการพัฒนาที่ยั่งยืน สาระสำคัญของความร่วมมือทั้ง 2 ฝ่าย คือ ร่วมกันพัฒนายุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการของ SDG Solutions Lab, สร้างเสริมเครือข่ายผู้มีส่วนร่วม, บริหารจัดการด้านทุนสนับสนุนศูนย์ปฏิบัติการในระยะยาว, บริหารจัดการเครือข่ายในการมีส่วนร่วมกับโครงการทดลองและกิจกรรมของศูนย์ปฏิบัติการ, ร่วมสร้างสรรค์และทดสอบกิจกรรมโครงการของศูนย์ปฏิบัติการ, สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงสถานที่สำหรับใช้ประโยชน์หรือกิจกรรมของศูนย์ปฏิบัติการ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการไทยคิดจะสร้างอุปกรณ์เรือเก็บขยะในทะเลไทย เราสามารถเชื่อมโยงความรู้ทางเทคโนโลยีกับสตาร์ทอัพหรือผู้เชี่ยวชาญที่ประสบความสำเร็จจากประเทศอื่นมาช่วยเหลือแนะนำก็จะทำสำเร็จได้เร็วขึ้น, หรือมีกลุ่มต้องการสร้างนวัตกรรมแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งมีสาเหตุจากการทำลายป่า การเกษตรและคมนาคมขนส่ง ก็อาจแลกเปลี่ยนความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยี ตลอดจนผนึกความร่วมมือแก้ไขปัญหาร่วมกัน เป็นต้น
ทั้งนี้ จะเป็นผลดีต่อการพัฒนานวัตกรรมและสตาร์ทอัพ และรัฐบาลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ลดอุปสรรคและขีดจำกัดของทรัพยากร บุคคลากรและเงินทุน ช่วยให้เกิดการประสานร่วมมือของคนในประเทศและระหว่างประเทศในการต่อยอดองค์ความรู้เป็นนวัตกรรมในการรับมือกับวิกฤติใดๆที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความยั่งยืนและความมั่นคงทางสุขภาพตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก ตลอดจนพัฒนาการแพทย์และสุขภาพ ซึ่งมีบทบาทสำคัญท่ามกลางการแพร่ระบาดโควิด-19 และวิถีโลกที่เปลี่ยนไป