"พันธมิตร" หรือ "เครือข่าย" เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรม จากแนวคิดที่ว่า "นวัตกรรมไม่สามารถเกิดขึ้นจากคนเพียงคนเดียว" สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) จึงได้ร่วมกับ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล (MB) มหาวิทยาลัยมหิดล จัดตั้ง MaSHARES Co-working Space@MB เพื่อใช้พื้นที่ร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยได้มีการเปิดตัวไปเมื่อเร็วๆ นี้
ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงความสำคัญของการมีเครือข่ายว่าเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการทำงานใหญ่ "รู้อะไรไม่สู้รู้จักกัน" การที่มหาวิทยาลัยมีเครือข่ายที่รู้จักกันจะทำให้งานใหญ่สำเร็จได้ เหมือนกับการที่มหาวิทยาลัยจะทำงานวิจัยออกสู่ภาคธุรกิจ มหาวิทยาลัยจำเป็นที่จะต้องเข้าใจภาคธุรกิจ และมีพาร์ทเนอร์ที่เป็นภาคธุรกิจเข้ามาช่วย จึงจะสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ผู้ใช้นวัตกรรมมากที่สุด ซึ่ง MaSHARES Co-working Space จัดตั้งขึ้นตามนโยบาย Entrepreneurial University หรือ มหาวิทยาลัยนวัตกรรม เพื่อส่งเสริม Entrepreneurial Mindset โดยเป็นการ "ร่วม คิดทั้งระบบของการเป็นผู้ประกอบการ" เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมสู่จุดเป้าหมาย
สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล (MB) ถือเป็นอันดับ 1 ของมหาวิทยาลัยมหิดลในเรื่องของการอ้างอิงผลงานตีพิมพ์ (citation) ของส่วนงานกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีงานวิจัยซึ่งได้รับการจดสิทธิบัตรและลิขสิทธิ์ เช่น การผลิตลูกกุ้งก้ามกราม โดยมีจุดแข็งทั้งเรื่องวิทยาศาสตร์พื้นฐาน (basic science) และประยุกต์ (applied science) มีงานวิจัยส่วนใหญ่ที่เป็น Deep Tech ซึ่งพร้อมต่อการพัฒนาประเทศในระดับอุตสาหกรรมภายใต้การนำของ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์นรัตถพล เจริญพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล (MB) ผู้มีวิสัยทัศน์และบทบาทสำคัญในส่งเสริมบุคลากรของสถาบันฯ ให้ทำงานวิจัยที่สามารถต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่มี impact ต่อมวลมนุษยชาติ และเศรษฐกิจมากมาย ซึ่งที่ผ่านมา สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล (MB) มีผลงานนวัตกรรมสร้างชื่อในการพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก และไข้สมองอักเสบเจอี และวิจัยใช้สารชีวโมเลกุลเพื่อเพิ่มผลผลิตกุ้งโดยไม่ต้องทรมานสัตว์และปลอดภัยต่อผู้บริโภค ฯลฯ
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์นรัตถพล เจริญพันธุ์ กล่าวว่า MaSHARES Co-working Space@MB ตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะสมต่อการสร้างสรรค์ต่อยอดนวัตกรรม ล้อมรอบด้วยพันธมิตรที่ครบวงจร ตั้งแต่ผู้สร้างองค์ความรู้ เช่น สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล (MB) โรงงานผลิตยา หน่วยบริการเครื่องมือกลาง (Mahidol University?Frontier Research Facility หรือ MU?FRF) และผู้เชื่อมต่อภาคธุรกิจอันเป็นบทบาทสำคัญของ MaSHARES Co-working Space@MB ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) และ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล (MB) มหาวิทยาลัยมหิดล ท่ามกลางระบบนิเวศและบรรยากาศที่ส่งเสริมให้เกิดการร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภัทรชัย กีรติสิน ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล (iNT) กล่าวว่า MaSHARES Co-working Space ถือเป็นหนึ่งในกลไกเชิงโครงสร้างที่สำคัญของมหาวิทยาลัยมหิดลในการส่งเสริมนวัตกรรมให้เกิดเป็นรูปธรรม และเป็นการสร้างโอกาสแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน ร่วมคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมจากการรวมตัวกันของผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา โดยเปิดกว้างเพื่อให้บุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีโอกาสได้ใช้จินตนาการ ได้ฝึกทักษะต่างๆ ทั้งมิติทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคม และธุรกิจ นำไปสู่การร่วมมือกับภาคธุรกิจเอกชน เพื่อต่อยอดให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมได้จริง ซึ่ง MaSHARES Co-working Space@MB ไม่ได้เป็นแค่ "Co-working Space" แต่เป็น "Co-maker Space" ที่พร้อมสรรพด้วยเครื่องที่มีส่วนสำคัญในการสร้างนวัตกรรม อาทิ เครื่อง 3D Printer และเครื่อง CNC Laser Cutting เพื่อใช้สำหรับการทำต้นแบบนวัตกรรม ฯลฯ ซึ่ง MaSHARES Co-working Space@MB ถือเป็นสาขาหลัก (headquarter) ที่มีพื้นที่กว้างขวาง ประกอบด้วยพื้นที่กิจกรรมรวม และห้องประชุมย่อยที่มีหลากหลายขนาด ซึ่งต่อไปทาง มหาวิทยาลัยมหิดล โดย สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) จะขยายโครงการไปร่วมจัดสร้าง MaSHARES Co-working Space ตามวิทยาเขตอื่นๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล อาทิ กาญจนบุรี และนครสวรรค์ ด้วยความมุ่งหวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยผลักดันนวัตกรรมไทยให้สามารถก้าวสู่เวทีโลกได้อย่างภาคภูมิต่อไป
ติดตามข่าวสารด้านนวัตกรรมที่น่าสนใจของมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ FB: iNT.mahidol.ac.th