บริษัท เอสที เฟอร์ทิลิตี้ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์เคมีมายาวนานกว่า 15 ปี ปรับธุรกิจสู้โควิด-19 เปิดตัวโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมี พร้อมหนุนให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างรายได้เสริมจากการจำหน่ายปุ๋ย ทั้งปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยอินทรีย์เคมี ตามความต้องการของพืชและสภาพของดินเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ดีของผู้บริโภคผลผลิตจากพืชผักต่างๆ
ดร.สมบัติ สุขมะณี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอสที เฟอร์ทิลิตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ในอดีตดินมีความอุดมสมบูรณ์ มีอินทรีย์วัตถุสูง มีแร่ธาตุอาหาร มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์มากมาย เพราะอดีตเคยเป็นป่าไม้ที่เติมอินทรีย์วัตถุจากซากพืชซากสัตว์มาหลายพันปี ดินจึงเป็นแหล่งอาหารของพืช เป็นภูมิคุ้มกันให้พืชและส่งต่อเป็นอาหารที่ดีให้มนุษย์มายาวนาน กว่า 100 ปีที่มนุษย์ถางป่ามาเพาะปลูกพืชทำเกษตรกรรมและใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิตพืชและละเลยการปรับปรุงดินแถมเผาทำลายต่อซังซากพืช ดินจึงเริ่มเสื่อมลง จุลินทรีย์ลดลง พืชจึงเริ่มอ่อนแอขาดภูมิคุ้มกัน ถูกโจมตีโดยโรคและแมลงง่าย มนุษย์จึงต้องผลิตเคมีภัณฑ์มาใช้ป้องกันรักษา ซึ่งกลายเป็นปัญหาเพิ่มภาระทุนและปนเปื้อนเป็นพิษกับมนุษย์ เมื่อเห็นปัญหาเช่นนี้แล้วทุกคนที่ทำอาชีพเกษตรกรรมจึงต้องดูแลรักษาดินให้ดีอยู่เสมอ
จึงเป็นที่มาพันธกิจสำคัญของบริษัท เอสที เฟอร์ทิลิตี้ จำกัด ที่เราต้องรักษาฟื้นฟูดินด้วยการพัฒนาปุ๋ยที่มีอินทรีย์วัตถุ เช่น ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยอินทรีย์เคมี และส่งเสริมการใช้เพื่อรักษาฟื้นฟูดิน เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ดินให้จุลินทรีย์กลับคืนมา สร้างภูมิคุ้มกันให้ดิน เมื่อดินดีจะส่งต่อภูมิคุ้มกันให้พืชดีด้วย เพื่อป้องกันโรคพืช จึงไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีซึ่งจะดีต่อสุขภาพของเกษตรกรและส่งต่อภูมิคุ้มกันเป็นอาหารที่ดีให้ผู้บริโภคด้วย นี่จึงจะเป็นการสร้างความยั่งยืนต่อการทำเกษตรกรรมในอนาคต ที่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน รวมทั้งเกษตรกรที่ถือเป็นผู้ผลิตอาหารที่สำคัญเลี้ยงคนไทยทั้งประเทศ โดยที่ผ่านมาเกษตรกรมีการใช้ปุ๋ยในระบบการผลิตพืชอยู่มากมายหลากหลายชนิดและสูตร บริษัทฯ ในฐานะเป็นโรงงานผู้ผลิตปุ๋ยทุกชนิด และมีสูตรปุ๋ยอยู่กว่า 150 ชนิด จึงเล็งเห็นโอกาที่จะสนับสนุนให้เกษตรกรซึ่งเป็นผู้ที่ต้องการใช้ปุ๋ยที่มีประสิทธิภาพและมีสูตรเฉพาะเหมาะกับการใช้งานพืชในแต่ละชนิดของพืชและพื้นที่
"จากประสบการณ์กว่า 15 ปี ในด้านเทคโนโลยีและการบริหารต้นทุน และความรู้ด้านปุ๋ย ธาตุอาหารพืช และวัสดุปรับปรุงดิน ทำให้บริษัทฯ มีความพร้อมที่จะแนะนำสูตรปุ๋ยต่างๆ ให้กับเกษตรกร ประกอบกับบริษัทฯ สามารถเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูง จึงทำให้มีความมั่นใจว่าจะสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ปุ๋ยเพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานในรูปแบบที่แตกต่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราจึงเป็นผู้นำในการพัฒนาสูตรปุ๋ย และเป็นปุ๋ยคุณภาพที่สามารถบอกได้ว่า เอสที เฟอร์ทิลิตี้ ผลิตปุ๋ยที่ "รู้ใจพืช" อย่างแท้จริง
นางวชิรภรณ์ สุขมะณี รองประธาน บริษัท เอสที เฟอร์ทิลิตี้ จำกัด กล่าวเสริมว่า "ปัจจุบันความต้องการใช้ปุ๋ยในภาคการเกษตรยังคงมีปริมาณสูง เนื่องมาจากปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมและความต้องการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ระบบการผลิตพืชเกษตรนั้น จำเป็นที่จะต้องมีการใช้ปุ๋ยเพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพและปริมาณผลผลิตให้เพียงพอที่จะตอบสนองต่อความต้องการของตลาด โดยปุ๋ยที่เกษตรกรใช้นั้นก็มีหลากหลายทั้งปุ๋ยอินทรีย์ และอินทรีย์เคมี รวมทั้งสูตรปุ๋ยที่จะใช้ในพืชแต่ละชนิด แต่ละช่วงการเจริญเติบโต และแต่ละสภาพพื้นที่ก็มีความแตกต่างกัน ซึ่งนอกจากปุ๋ยสูตรเสมอที่เป็นสูตรพื้นฐานแล้ว บริษัทฯ ยังสามารถออกแบบสูตรปุ๋ยให้ตรงกับความต้องการในการใช้งาน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และยังประหยัดต้นทุนในการใช้ปุ๋ยได้อีกด้วย ปัจจุบัน เรามีแบรนด์ปุ๋ยกว่า 25 แบรนด์ อีกทั้ง เรายังมีศูนย์เรียนรู้ในพื้นที่โรงงานของเรา ซึ่งเกษตรกรสามารถเข้ามาเรียนรู้ ทดลองปลูกพืชต่างๆ โดยใช้ปุ๋ยที่เราพัฒนาสูตรมาสำหรับพืชได้
"บริษัทฯ มองว่าเมื่อเกษตรกรมีการใช้งานปุ๋ยอยู่แล้ว หากปุ๋ยสูตรใดหรือแบรนด์ใดใช้แล้วได้ผลดี ก็มักจะมีการบอกต่อไปสู่เพื่อนบ้านหรือชุมชน ดังนั้น หากเกษตรกรสร้างแบรนด์ปุ๋ยของตัวเอง ก็จะสามารถเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้เพิ่มอีกทางหนึ่ง จากการจำหน่ายปุ๋ยในสูตรที่ตัวเองก็ต้องใช้งานอยู่แล้ว ซึ่งโรงงานของเรามีความพร้อมในการตอบสนองความต้องการในจุดนี้ได้เป็นอย่างดี รวมถึงการให้คำแนะนำปรึกษาด้านต่างๆ ด้วย และในด้านการผลิตนั้น เราก็มีมาตรฐานการผลิตสูง และได้รับการรับรองอย่างถูกต้องในทุกขั้นตอน"
นายนิธิวิทย์ งามเกษม ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด กล่าวถึงสถานการณ์ของตลาดปุ๋ยในปัจจุบัน โดยอ้างอิงข้อมูลจากศูนย์วิจัยกรุงศรีที่ระบุว่า ความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีในช่วงปี 2561-2563 ที่ผ่านมานั้นมีการขยายตัวอยู่ในช่วง 5-7% ต่อปี โดยมีปัจจัยหนุนมาจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการขยายการเพาะปลูก และเกษตรกรมีกำลังซื้อกระเตื้องขึ้นตามราคาสินค้าเกษตร รวมถึงแนวโน้มการขยายพื้นที่เพาะปลูกอ้อยและปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นพืชที่มีอัตราการใช้ปุ๋ยเคมีต่อไร่สูง อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ส่งกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค เนื่องจากมีหลายธุรกิจที่ปิดตัว จึงส่งผลต่อรายได้ของประชาชน ประกอบกับเศรษฐกิจทั่วโลกก็ตกต่ำ จึงทำให้ประเทศไทยต้องหันมาพึ่งพาตัวเองมากขึ้น โดยในส่วนของเกษตรกรนั้น ได้มีการหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยอินทรีย์เคมีเพิ่มขึ้น รวมถึงการส่งเสริมจากภาครัฐให้เกษตรกรผลิตปุ๋ยใช้เอง ซึ่งทางบริษัทฯ เล็งเห็นว่า การพัฒนาแอพขายปุ๋ย นับเป็นรายแรกในแวดวงปุ๋ยที่บริษัทฯ ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นขายปุ๋ยขึ้นเพื่อให้เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการให้ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยของบริษัทฯ แก่เกษตรกร ในการให้ความรู้การใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องและเป็นอีกหนึ่งโอกาสสร้างธุรกิจเสริมสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอีกด้วย