ม.มหิดล เปิดตัวหนังสือ "สำนวนไทย ที่ไปที่มา" ส่งเสริมวัฒนธรรมการใช้ภาษาไทย

ข่าวทั่วไป Monday November 2, 2020 14:21 —ThaiPR.net

การใช้สำนวนภาษาเกิดขึ้นจากสังคมและวัฒนธรรมของผู้คน เพราะภาษามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเป็นการบอกเล่าถึง "ความเชื่อและทัศนคติ" ของคนในแต่ละยุคสมัย

 นายวีระพงศ์ มีสถาน นักปฏิบัติการวิจัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้ภาษาไทยประจำกลุ่มวิชาภาษา วัฒนธรรม การสื่อสารฯ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงคำว่า "วิจัย" (research) หมายถึง การศึกษาโดยรอบด้าน ที่ต้องทั้ง "re" และ "search"  หรือ "ค้นแล้วค้นอีก" ซึ่งการใช้สำนวนมีประโยชน์ทั้งต่อผู้ใช้และสังคม แต่ปัญหาที่มักพบในปัจจุบัน คือ เด็กไทยส่วนใหญ่ แม้จะอ่านออกเขียนได้ แต่ก็ยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้สำนวนภาษาไทย เนื่องจากไม่รู้ที่มา จึงไม่รู้ความหมาย และใช้ไม่ถูก

ในฐานะนักปฏิบัติการวิจัยผู้คร่ำหวอดด้านการใช้ภาษาไทยมาอย่างยาวนาน นายวีระพงศ์ มีสถาน อธิบายว่า "สำนวน" คือ กลุ่มคำสำเร็จรูปที่มีความหมายโดยนัย โดยต้องมีอย่างน้อย 1 คนขึ้นไปยอมรับและนำไปใช้ต่อ แต่ถ้าไม่มีใครไปใช้ต่อก็จะเป็นแค่ "วาทะ" ซึ่งเป็น "สำนวนส่วนบุคคล" แต่ถ้าร่วมใช้กันมาก ถือเป็น "สมบัติของสังคม" เมื่อมีการใช้ซ้ำๆ บ่อยๆ ก็เกิดการรับรู้ หรือเป็นการ "ยอมรับโดยปริยาย" ของคนในสังคมนั้นๆ ซึ่งการใช้สำนวนนี้ หากไม่เคยศึกษามาก่อนจะสื่อสารไม่ได้ ความสำคัญจึงอยู่ที่การใช้ให้ถูกที่ ถูกบริบท และถูกกับสถานการณ์

ตัวอย่างสำนวนไทยน่ารู้ เช่น "หมาเห่าใบตองแห้ง" ซึ่งหมายถึง กล้าหาญอย่างไร้สาระ มาจากสุนัขเห่าใบกล้วยแห้งคาต้นก็คิดว่าโจรเข้าบ้าน "หนูตกถังข้าวสาร" หมายถึงชายผู้ยากจนได้ภรรยาที่มีฐานะร่ำรวยมาก เป็นสำนวนที่ใช้กับผู้ชายเท่านั้น หรือสำนวนว่า "เอามือซุกหีบ" มีที่มาจากการเอามือไปสอดซุกเข้าเครื่อง "หีบอ้อย" หรือ "เครื่องคั้นน้ำอ้อย" ไม่ใช่ "หีบเหล็ก" ที่เอาไว้เก็บของแต่ประการใด เป็นต้น

หน้าที่ของ "นักภาษา" คือ ผู้ค้นคว้าเรื่องการสื่อความหมาย ศึกษาและเผยแพร่ถึงที่ไปที่มาในลักษณะของ "ผู้บอกข้อมูล" หรือ informant โดย นายวีระพงศ์ มีสถาน ได้จัดทำหนังสือ "สำนวนไทย ที่ไปที่มา" ซึ่งรวบรวม 200 สำนวนไทยที่คนไทยยังใช้สื่อสารกันอยู่ในปัจจุบัน พร้อมคำนิยาม และเชิงอรรถไว้ท้ายเล่ม รวม 484 หน้า ทั้งเพื่อวางจำหน่ายและให้เป็นวิทยาทาน

ซึ่งก้าวต่อไปจะพัฒนาเผยแพร่ในรูปแบบของ VDO CLIP ผ่านYouTube ด้วยความรักในภาษาไทย นายวีระพงศ์ มีสถาน กล่าวทิ้งท้ายว่า คำว่า "รักภาษาไทย" ไม่ได้หมายถึง "หอบหวงวิชา" แต่ "ยิ่งรัก ยิ่งเผยแพร่" ซึ่งหนังสือ "สำนวนไทย ที่ไปที่มา" เป็นเพียงส่วนหนึ่งของทั้งหมดกว่า 3,000 สำนวนไทยที่รวบรวมจากการทำงานศึกษาวิจัยด้านการใช้ภาษาไทยตลอดเวลาที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะนำมาทยอยเผยแพร่เพื่อประโยชน์สำหรับประชาชนทั่วไปในโอกาสที่เหมาะสมต่อไป

งานเปิดตัวหนังสือ "สำนวนไทย ที่ไปที่มา" โดย นายวีระพงศ์ มีสถาน จะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน 2563 เวลา 09.30 - 11.00 น. ณ ห้อง Co-working Space ชั้น 1 อาคารภาษาและวัฒนธรรมสยามบรมราชกุมารี สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ซึ่งเป็นห้องที่ทางสถาบันฯ จัดสร้างขึ้นใหม่เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อการเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรมสำหรับนักศึกษา บุคลากร ตลอดจนประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ ยังสามารถติดตามงานเปิดตัวหนังสือ "สำนวนไทย ที่ไปที่มา" พร้อมร่วมเล่นเกมจับรางวัลลุ้นรับของที่ระลึกได้ทาง FB Live : RILCA, Mahidol University

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ