หลายคนอาจยังเข้าใจผิดอยู่ ว่าการทานข้าวไม่เป็นเวลา หรืออดอาหารบ่อยๆ อาจทำให้เป็นโรคกระเพาะ แต่ความจริงแล้วสาเหตุที่ทำให้เราเป็นโรคกระเพาะอาหารเกิดจากแบคทีเรียตัวหนึ่งที่ชื่อว่า H.pylori (Helicobacter pylori) หรือ เอชไพโลไรต่างหาก
ปกติแล้วเชื้อเอชไพโลไรสามารถติดต่อกันได้ง่ายๆ ผ่านการทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ฉะนั้นคนทั่วไปร้อยละ 50 จึงมักตรวจเจอเชื้อแบคทีเรียนี้ในร่างกายได้ และนอกจากนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังจัดให้เชื้อ H.pylori เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของมะเร็งเช่นเดียวกับบุหรี่และไวรัสตับอักเสบบี
ดังนั้นการแก้ปัญหาปวดท้องจากโรคกระเพาะ แพทย์จึงต้องกำจัดเชื้อแบคทีเรียตัวนี้ให้หมดไปจากร่างกายก่อนเป็นอันดับแรกนั่นเอง
โดยเมื่อเชื้อเอชไพโลไรเข้าสู่ร่างกายจะส่งผลทำให้กระเพาะอาหารมีการหลั่งกรดมากกว่าปกติ และกรดที่รุนแรงเกินไปนี้จะทำลายผนังเยื่อบุกระเพาะอาหารและสำไส้ จนเกิดแผลขึ้นที่บนเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น เมื่อเป็นแผลภายในร่างกายเรื้อรังและบ่อยๆ เข้า เนื้อเยื่อบริเวณที่เป็นแผลก็อาจกลายพันธุ์เป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้ในที่สุด
ผู้ที่ติดเชื้อเอชไพโลไรส่วนใหญ่จะมาพบแพทย์ด้วยอาการของโรคกระเพาะอักเสบเรื้อรังหรือโรคกระเพาะอาหาร เช่น ปวดท้อง แสบท้อง แน่นเฟ้อ ทานอาหารแล้วจุกแน่น และ 80% ของผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการเป็นๆ หายๆ
ดังนั้นหากผู้ป่วยกินยาลดกรดแล้วกลับมาเป็นซ้ำใหม่ประมาณ 70-80 % ในระยะ 2 ปี ควรเข้ารับการตรวจหาเชื้อเอชไพโลไรเป็นระยะด้วย
ปัจจุบันมีวิธีการตรวจวินิจฉัยหาเชื้อเอชไพโลไรที่เรียกว่า Urea breat test C-14 หรือการตรวจโดยผ่านลมหายใจ ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวก รวดเร็ว มีความแม่นยำปลอดภัยสูง คนไข้ไม่ต้องเจ็บตัว ซึ่งขั้นตอนการตรวจด้วยวิธีนี้ไม่ยุ่งยาก เพียงแค่ให้คนไข้ทานเม็ดสารยูเรียซึ่งจะแตกตัวเมื่อมีเชื้อในกระเพาะอาหาร แล้วตรวจค่าความผิดปกติผ่านทางลมหายใจออก โดยใช้เวลาตรวจวิเคราะห์ผลเพียง 20 นาที ก็ทราบผลแล้ว
ใครที่เคยมีปัญหาปวดท้อง หรือเป็นโรคกระเพาะเรื้อรัง ก็ควรจะมาตรวจหาเชื้อ เอชไพโลไร เพื่อรักษาได้อย่างตรงอาการกันนะครับ กินข้าวตรงเวลาก็ช่วยได้แค่ลดการหลั่งกรดในกระเพาะเท่านั้น แต่เชื้อโรคไม่ได้หายไปอย่างใดนะ
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/105