คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ เปิดเผยสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่ง พ.ศ. 2562 พบว่า พื้นที่ที่ยังประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและยังไม่มีการแก้ไขทั้งสิ้นกว่า 91.69 กิโลเมตร โดยพื้นที่จังหวัดสงขลาและปัตตานี จะพบการกัดเซาะความยาวมากกว่า 10 กิโลเมตร ด้านพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการ เผยว่า คณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง จำนวน 2 ฉบับ ในพื้นที่จังหวัดชุมพร และพังงา ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและคณะกรรมการระดับจังหวัดแล้ว คาดว่าจะช่วยป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้อย่างยั่งยืน
สำหรับสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งทะเล พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาร่างรายงานสถานการณ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทย พ.ศ. 2562 แล้ว พบว่า สถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทยในภาพรวมยังมีพื้นที่ถูกกัดเซาะในหลายพื้นที่ ระยะทางรวมกว่า 91.69 กิโลเมตร โดยจังหวัดที่มีปัญหามาก ได้แก่ จังหวัดสงขลาและปัตตานี ซึ่งสาเหตุการเกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งนอกจากการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติและผลกระทบจากโครงสร้างเดิม ยังมีปัญหาในด้านการขาดการบูรณาการระหว่างงบประมาณและหน่วยงาน ซึ่งจะต้องเร่งผลักดันให้เกิดการบูรณาการอย่างแท้จริง รวมทั้ง ผลักดันให้หน่วยงานดำเนินการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งตามหลักเกณฑ์ประกอบการจัดทำแผนงาน/โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ในวันนี้ (4 พฤศจิกายน 2563) ได้พิจารณาร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับป่าชายเลนอนุรักษ์ตามมาตรา 18 จำนวน 4 ฉบับ และกฎกระทรวงเพื่อการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ร่าง กฎกระทรวงกำหนดเขตพื้นที่ตำบลชุมโค อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร เป็นพื้นที่ใช้มาตรการในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง พ.ศ. ? และร่าง กฎกระทรวงกำหนดเขตพื้นที่ตำบลลำแก่น ตำบลท้ายเหมือง ตำบลนาเตย อำเภอท้ายเหมือง และตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา เป็นพื้นที่ใช้มาตรการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง พ.ศ. ?. โดยร่างประกาศดังกล่าวจะต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมายก่อนประกาศบังคับใช้ ต่อไป
ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวย้ำต่อที่ประชุมในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของทุกภาคส่วนต้องดำเนินการไปด้วยกัน คิดถึงประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ อีกทั้ง ต้องเกิดความยั่งยืน ไม่สร้างผลกระทบภายหลัง นอกจากนี้ จะต้องสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ให้ได้อย่างสมดุล ซึ่งตนจะได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการฯ อย่างเคร่งครัด สำหรับสถานการณ์ที่หน่วยงานได้สรุปรายงานในภาพรวมปี 2562 ตนยังรู้สึกกังวลกับสถานการณ์ของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งบางประเภท เช่น สัตว์ทะเลหายาก และปะการัง เป็นต้น ซึ่งภาพรวมแล้วยังคงต้องการการดูแลและป้องกันอย่างใกล้ชิดและจริงจัง อย่างไรก็ตาม ตนได้เสนอต่อที่ประชุมให้เพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินการให้มากขึ้น รวมถึง การประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักให้กับพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยวให้เห็นความสำคัญและเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ต่อไป
สำหรับแนวทางการบูรณาการความร่วมมือในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตามมติคณะกรรมการฯ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตนให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดนโยบาย การจัดทำและดำเนินโครงการ ทุกอย่างต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ดังเช่นการยกร่างกฎกระทรวงกำหนดเขตพื้นที่ใช้มาตรการในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ทั้ง 2 พื้นที่ ก็ต้องผ่านความเห็นชอบของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ รวมถึง คณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัด ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาชนร่วมพิจารณาด้วย นอกจากนี้ ตนได้เร่งรัดกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้เร่งรัดประกาศพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ตามมาตรา 18 ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 ให้ครอบคลุมพื้นที่ป่าชายเลนที่สมบูรณ์ของประเทศ ซึ่งในครั้งนี้ คณะกรรมการฯ ก็ได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ 4 พื้นที่ ในจังหวัดเพชรบุรี ชลบุรี สุราษฎร์ธานี และปัตตานี อย่างไรก็ตาม ตนได้สั่งการให้นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง คัดเลือกพื้นที่ที่มีความเหมาะสมและจำเป็นเร่งด่วนในการกำหนดมาตรการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง และให้ทำประชาพิจารณ์จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ พร้อมผ่านความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการบูรณาการด้านการจัดการการกัดเซาะชายฝั่งแล้ว อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ต้องเป็นไปตามแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบเมื่อคราวการประชุมวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 ในการแก้ไขปัญหาบนฐานแนวคิดระบบหาด ซึ่งแบ่งออกเป็น 8 ระบบหาดหลัก 318 ระบบหาดย่อย ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อเนื่องได้อย่างยั่งยืน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ กล่าวในที่สุด