ม.มหิดล ร่วมสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จักสานไม้ไผ่ "ลอมชอม" ส่งเสริมคุณภาพชีวิตชุมชนคลองบางประมุง จ.นครสวรรค์

ข่าวทั่วไป Thursday November 5, 2020 14:02 —ThaiPR.net

คลองบางประมุง อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ เป็นเส้นทางที่ใช้สัญจรสู่อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ มีต้นไม้ขึ้นอยู่ริมสองฝั่งคลองอย่างหนาแน่น จึงพากันเรียกว่า "บ้านบางป่ามุง" ซึ่งต่อมาเรียกเป็น"บ้านบางประมุง"

เพื่อร่วมสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี(อพ.สธ.) และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ริเริ่ม "โครงการลอมชอม" ส่งเสริมผลิตภัณฑ์จักสานของชุมชนคลองบางประมุง อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจพบว่ามีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ไผ่สีสุก" ที่พบเป็นจำนวนมากในป่าไผ่ของพื้นที่ จึงนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์จักสานจากไม้ไผ่

อาจารย์ แพทย์หญิงมนทกานติ์ โอประเสริฐสวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่านโยบายของวิทยาเขตฯ สนับสนุนเรื่อง Entrepreneur หรือการเป็นผู้ประกอบการในทุกหลักสูตร ซึ่งโครงการ "ลอมชอม" เป็นหนึ่งในกิจกรรมของหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (การประกอบการเชิงนิเวศวัฒนธรรม) ที่เข้าไปช่วยชุมชนคลองบางประมุง อำเภอโกรกพระจังหวัดนครสวรรค์ ในการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์จักสานจากไม้ไผ่สำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการมีรายได้เพิ่ม แต่ไม่สามารถเดินทางไปทำงานนอกบ้านได้ เนื่องจากมีภาระในการเลี้ยงดูลูกหลาน หรือไม่สามารถทำงานที่ใช้แรงงานมากได้ โดยให้นักศึกษาในหลักสูตรฯ ได้มีส่วนในการช่วยพัฒนาทักษะต่อยอด รวมทั้งในเรื่องการออกแบบ และการตลาด

"ปัจจุบันพบว่าไผ่สีสุกในพื้นที่มีลดน้อยลงมาก ซึ่งการนำไผ่สีสุกมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์จักสาน นอกจากจะเป็นการช่วยอนุรักษ์พันธุ์พืชในท้องถิ่นไม่ให้เกิดการสูญพันธุ์ เพราะได้มีการนำมาใช้ประโยชน์และปลูกเพิ่มทดแทน ยังเป็นการช่วยอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นจากการนำมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์จักสาน และเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชนซึ่งจะเป็นการอนุรักษ์ที่ยั่งยืน เนื่องจากเป็นการอนุรักษ์ที่มีคุณค่า และได้ประโยชน์" อาจารย์แพทย์หญิงมนทกานติ์ โอประเสริฐสวัสดิ์ กล่าว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิตติคุณ หมู่พยัคฆ์ อาจารย์โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการฯกล่าวเสริมว่า คำว่า "ลอมชอม" มาจากคำว่า "ออมชอม" ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของคนในชุมชนที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน รวมกับคำว่า"ชะลอม" ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ตั้งต้นของโครงการฯ และต่อมาได้เพิ่มรูปแบบของสินค้าให้มีความหลากหลาย อาทิ กระด้ง กระจาด พัดสานเป็นต้น โดยมีผู้สูงอายุเข้าร่วมโครงการฯ ประมาณ 60 - 80 คน ซึ่งจากการดำเนินโครงการฯ โดยให้นักศึกษาของหลักสูตรฯ ได้มีส่วนร่วมออกแบบ 1 คน ต่อ 1 ผลิตภัณฑ์ และร่วมวางแผนทางการตลาด ทำให้ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการฯ มีรายได้เพิ่มขึ้นเดือนละประมาณ 1,500 บาทต่อราย และมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นผู้ประกอบการได้ด้วยตัวเองต่อไปตามเป้าหมายของโครงการฯ ซึ่งในการพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์จำเป็นต้องดูความต้องการของตลาด โดยทางโครงการฯ ได้มีการจัดอบรมผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้ได้เรียนรู้ทักษะการตลาดออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันสินค้าภายใต้โครงการฯ ได้รับการเผยแพร่อยู่ในสื่อออนไลน์ Facebook ชื่อว่า "ลอมชอม"

นางสาวโชติมา กระต่ายเทศ หรือ "กิ๊กฮวย" นักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (การประกอบการเชิงนิเวศวัฒนธรรม) โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ทำหน้าที่ผู้จัดการโครงการ "ลอมชอม" กล่าวว่า ตนได้ใช้ความรู้ที่ได้จากการเรียนหลักสูตรในการพัฒนาแผนธุรกิจอย่างครบวงจรสำหรับชุมชน ซึ่งตนได้เสนอความคิดในการออกแบบผลิตภัณฑ์จักสานที่สามารถใช้ตกแต่งประดับบ้านได้ ด้วยรูปแบบที่น่าซื้อน่าใช้ ซึ่งการได้ร่วมลงพื้นที่นำองค์ความรู้ไปช่วยพัฒนาชุมชนทำให้ได้ประสบการณ์ที่มากกว่าจากการเรียนแต่เพียงในห้องเรียน โดยทำให้สามารถจัดการกับความเสี่ยงที่เกิดจากการประกอบการได้ด้วยความรู้เท่าทัน

นางสาวกชกร พลไชย หรือ "ซีเกมส์" นักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (การประกอบการเชิงนิเวศวัฒนธรรม) โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ทำหน้าที่ฝ่ายการเงินและบัญชีโครงการ "ลอมชอม" ได้กล่าวถึงความตั้งใจที่จะร่วมผลักดันให้มีการขยายผลโครงการฯ สู่การจัดตั้ง "ศูนย์การเรียนรู้ของชุมชนบ้านบางประมุง อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์" ซึ่งตนได้เสนอความคิดในการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีเหมาะกับไลฟ์สไตล์ที่เรียบง่าย เข้าได้กับทุกพื้นที่ และมีประโยชน์ใช้สอย รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนทำให้ชุมชนเกิดการพัฒนาจนเป็นชุมชนที่เข้มแข็งสามารถพึ่งพาตัวเองได้

ติดตามความก้าวหน้าของโครงการ "ลอมชอม" ได้ทาง Facebook "ลอมชอม" หรือ "lomchomna" และข่าวคราวที่น่าสนใจของโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ที่ Facebook "มหิดลนครสวรรค์"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ