ปัจจุบันการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม เข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติมากยิ่งขึ้น โดยในวันนี้ (5 พฤศจิกายน 2563) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับ สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ร่วมลงนามความร่วมมือโครงการการลาดตระเวนเชิงคุณภาพทางทะเล หรือ SMART Marine Patrol ณ ห้องประชุมลำแพน ชั้น 9 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้วางนโยบายต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลยีและระบบปฏิบัติการใหม่ ๆ เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพ และสามารถติดตามการดำเนินงาน เป็นปัจจุบันและถูกต้องแม่นยำมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่านวัตกรรมสามารถช่วยให้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติยั่งยืนยิ่งขึ้นได้อย่างแน่นอน
วันนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การพัฒนางานด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึง ระบบ AI (Artificial intelligence) เพื่อการพัฒนาบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีให้เห็นกันหลากหลายในยุคปัจจุบัน ตนก็มีความสนใจและศึกษาเรื่องนี้มาโดยตลอด ซึ่งตนคิดว่าระบบต่าง ๆ รวมถึง เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถนำมาช่วยในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติได้ ที่ผ่าน มาทส.ได้พยายามสนับสนุนการใช้อากาศยานไร้คนขับ (UAV) ในการตรวจสถานการณ์ป่าไม้ ซึ่งตนคิดว่าการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ มาช่วย ทำให้เราสามารถทราบถึงสถานการณ์ได้อย่าง Real Time และมีความเป็นปัจจุบันยิ่งขึ้น โดยตนได้ให้แนวทางกับหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัด ทส. ในการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ มาช่วยในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ภายใต้ข้อจำกัดบางประการที่หน่วยงานไม่สามารถทำได้ ก็ควรที่จะหาพันธมิตรที่มีความพร้อมและประสบการณ์มาร่วมดำเนินงาน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีหลาย ๆ โครงการที่ทาง ทส. สามารถดึงพันธมิตรที่มีความรู้ ความสามารถ และมีอุดมการณ์ในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้ามาทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น SCG, ปตท. สผ. เป็นต้น ล่าสุดทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ลงนามความร่วมมือกับสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ในการพัฒนางานด้านลาดตระเวนเชิงคุณภาพทางทะเล หรือ SMART Marine Patrol ซึ่งเป็นโครงการที่ดีและช่วยต่อยอดการพัฒนาได้มาก อย่างไรก็ตาม ตนได้มอบหมายให้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำกับและหาแนวทางต่อยอดโครงการไปสู่การบริหารจัดการด้านอื่น ๆ ให้มีประสิทธิภาพ เป็นปัจจุบัน และถูกต้อง แม่นยำยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เชื่อว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมจะช่วยสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืนยิ่งขึ้นได้อย่างแน่นอน
ด้านนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวภายหลังการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาโครงการลาดตระเวนเชิงคุณภาพทางทะเลว่า ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ หรือ SMART PATROL SYSTEM คือ ระบบการลาดตระเวนพื้นที่ที่มีการจัดการฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ มีการจัดเก็บ สืบค้น วิเคราะห์ และรายงานผลการลาดตระเวนงานด้านการป้องกันและปราบปราม และการลักลอบกระทำผิดต่อทรัพยากรผ่านโปรแกรม SMART ซึ่งการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ กรมฯ ได้จับมือกับสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ซึ่งมีความรู้ ประสบการณ์ ในด้านการสำรวจและฝึกอบรมด้านการลาดตระเวนและบริหารจัดการสัตว์ป่าและสัตว์ทะเล ซึ่งการลงนามความร่วมมือ นอกจากจะได้เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหน่วยงานแล้ว ยัง เป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่เจ้าหน้าที่ และเป็นการยกระดับการอนุรักษ์ทรัพยากรในพื้นที่คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่งที่สำคัญให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งตนได้มอบหมายให้นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รอง อทช.เป็นผู้กำกับในเรื่องนี้ นอกจากนี้ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังได้วางแนวทางการพัฒนางานด้านเทคโนโลยีไว้ตั้งแต่ครั้งยังดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ไม่ว่าจะเป็น SCG-DMCR Smart litter trap หรือหุ่นยนต์อัจฉริยะในการดักขยะปากแม่น้ำ เป็นต้น อีกทั้ง ยังได้วางแนวทางการในการพัฒนาต่อยอดการสำรวจและติดตามพะยูน ภายใต้แผนพะยูนแห่งชาติ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 - 2565) อีกด้วย
ด้าน ดร. อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย กล่าวว่า ทางสมาคมฯ พร้อมสนับสนุนในการเสริมสร้างสมรรถนะและทักษะให้กับเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในช่องทางต่าง ๆ เช่น การฝึกอบรม การสัมมนา การประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบรามให้กับเจ้าหน้าที่ของกรมฯ นอกจากนี้ ทางสมาคมฯ จะช่วยให้คำแนะนำเกี่ยวกับการวางแผนการจัดการสำหรับพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเล ภายใต้การดูแลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้ง สนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์ด้านการป้องกันและปราบปรามสำหรับเจ้าหน้าที่ในการลาดตระเวน เพื่อให้การปฏิบัติงานในการลาดตระเวนเชิงคุณภาพทางทะเลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ต่อไป ดร. อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ กล่าวทิ้งท้าย