ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมเป็นเกียรติและสักขีพยาน ในพิธีลงนามความร่วมมือวิชาการด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ระหว่าง ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และนายปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เพื่อส่งเสริม ผลักดัน ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้านนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม เสริมสร้างความตระหนัก ส่งเสริมความรู้ ต่อยอดการสร้างอาชีพ เสริมสร้างความเข้มแข็งในงานวิชาการ มุ่งสู่การเป็นแหล่งอ้างอิงข้อมูลของงานวิชาการทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ณ หอประชุมหลวงราช สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จังหวัดนครราชสีมา
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า การบูรณาการผสานความร่วมมือทางวิชาการและงานวิจัยในครั้งนี้ ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีและพัฒนาประเทศให้เกิดความยั่งยืน และก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายและแนวความคิดในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) รวมทั้งเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาใช้ส่งเสริมและผลักดัน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในด้านนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม โดยการพัฒนาทักษะและขีดความสามารถของบุคลากร การใช้ทรัพยากรเครื่องมือและโครงสร้างพื้นฐานที่มี เพื่อการบริหารจัดการพื้นที่ทั้งในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การส่งเสริมองค์ความรู้ ผ่านรูปแบบของพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ในพื้นที่ ได้แก่ สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช และพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช โดยดำเนินการผ่านเครือข่ายพันธมิตร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคอุดมศึกษา และภาคประชาชน เพื่อเสริมสร้างความตระหนัก ส่งเสริมความรู้ ต่อยอดการสร้างอาชีพ และเสริมสร้างความเข้มแข็งในงานวิชาการ เพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงข้อมูลของงานวิชาการทั้งในระดับชาติและนานาชาติ
นายปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า องค์ความรู้ของ GISTDA สามารถสร้างแนวทางการพัฒนางานวิจัยด้านนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช และพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช ในด้านการใช้ฐานข้อมูลเทคโนโลยีด้านภูมิสารสนเทศและอวกาศเพื่อประโยชน์ในงานบริการวิชาการและงานวิจัย การใช้เทคโนโลยีด้านภูมิสารสนเทศและอวกาศในการจัดทำฐานข้อมูลด้านภูมิสารสนเทศ การจัดทำฐานข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพและการกระจายของสิ่งมีชีวิตที่หายาก ใกล้สูญพันธุ์ หรือพบเฉพาะในพื้นที่ การใช้เทคโนโลยีด้านอวกาศในการติดตามและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ การจัดทำแนวเขตการจัดการพื้นที่ รวมทั้งการสร้างแนวทางการเรียนรู้แบบใหม่เพื่อส่งเสริมความรู้ พัฒนาทักษะ เสริมสร้างขีดความสามารถในการพัฒนากำลังคน และต่อยอดการสร้างอาชีพ
สำหรับขอบเขตความร่วมมือ ภายใต้การลงนามทางวิชาการของ วว. และ GISTDA มีหลายระดับ ดังนี้