โรคเบาหวาน เกิดจากความผิดปกติของการควบคุมน้ำตาลในเลือด ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งในช่วงแรก ๆ น้ำตาลในเลือดสูงนั้นจะไม่มีอาการอะไร แต่เมื่อสูงขึ้นมาระดับหนึ่งแล้วอาจมีอาการหิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย เนื่องจากน้ำตาลในเลือดสูง นอกจากนี้พบว่า ผู้ป่วยที่ระดับน้ำตาลสูงอยู่เป็นระยะเวลานาน ยังส่งผลเสียต่อระบบหลอดเลือดของร่างกายด้วย โดยทำให้เกิดการอักเสบของผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็งและตีบ โดยหลอดเลือดเล็ก ๆ มักจะได้รับผลกระทบก่อน เช่น หลอดเลือดที่จอประสาทตา ไต เป็นต้น ทำให้เกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม ไตวาย เส้นประสาทส่วนปลายเสื่อม เป็นต้น
โรคเบาหวานนั้นจัดเป็นสาเหตุหลักของภาวะไตวายเรื้อรังในประเทศไทย คิดเป็นสัดส่วนใกล้เคียงกับภาวะความดันโลหิตสูงกลไกการเกิดมีหลายด้านร่วมกัน ทั้งในแง่ความเปลี่ยนแปลงของเลือดที่ไปเลี้ยงไต การเกิดการอักเสบและอนุมูลอิสระ 30% ของผู้ป่วยเบาหวานจะมีความผิดปกติของไต หากผู้ป่วยเบาหวานไม่สามารถควบคุมภาวะน้ำตาลให้เหมาะสม หรือไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมจะมีความเสี่ยงต่อการที่ไตทำงานลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากปล่อยไว้นานจะเกิดความเสื่อมอย่างถาวร
อาการที่บอกว่าผู้เป็นเบาหวานมีภาวะเสี่ยงโรคไต
ในระยะเริ่มต้นนั้นผู้ป่วยจะยังไม่มีอาการแสดงอะไรเป็นพิเศษ แต่หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม ไตก็จะเสื่อมลงเรื่อย ๆ เมื่อไตเสื่อมมากขึ้นอาจจะมีอาการเช่นเดียวกับโรคไตเรื้อรังอื่น ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง บวม ปัสสาวะเป็นฟอง
การตรวจวินิจฉัยการทำงานของไต ?
ในปัจจุบันมีวิธีการตรวจหลัก ๆ 2 อย่าง คือตรวจ creatinine ในเลือด และตรวจหาโปรตีน albumin ในปัสสาวะ
หากมีภาวะแทรกซ้อนทางไตแล้วควรรักษาอย่างไร?
พบความผิดปกติของไตแล้ว สิ่งแรกที่ต้องจัดการคือการรักษาต้นเหตุคือภาวะน้ำตาลสูงให้ดี ซึ่งต้องอาศัยทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ร่วมกับการใช้ยารักษาเบาหวาน ในส่วนของไตเองนั้น ก็จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเช่นกัน โดยเฉพาะในเรื่องอาหารและความดัน และพิจารณาใช้ยากลุ่ม ACEi/ARB และ SGLT-2 inhibitor
ป้องกันเบาหวานลงไต ปฏิบัติตัวอย่างไร?
หลักการที่สำคัญคือการควบคุมระดับน้ำตาลให้เหมาะสม โดยทั้งวิธีการควบคุมอาหารร่วมกับการใช้ยารักษา ออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงการกินยาชุดหรือยาสมุนไพรที่ไม่ทราบส่วนประกอบที่ชัดเจนเพราะอาจมีสารปนเปื้อนที่เป็นพิษต่อไตได้