บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ("MINT") ประกาศผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 3 ปี 2563 ซึ่งมีการฟื้นตัวจากผลขาดทุนสุทธิที่มากที่สุดในประวัติการณ์จำนวน 8.4 พันล้านบาทในไตรมาส 2 ปี 2563 ท่ามกลางการระบาดของโรค COVID-19 โดย MINT มีผลขาดทุนสุทธิที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญอยู่ที่จำนวน 5.6 พันล้านบาทในไตรมาส 3 ปี 2563 ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานบนพื้นฐานการรายงานเดียวกัน (จากการดำเนินงานและไม่นับรวมผลกระทบจากการบังคับใช้มาตรฐานการบัญชี TFRS16) บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 4.4 พันล้านบาทในไตรมาส 3 ปี 2563 เมื่อเทียบกับผลขาดทุนสุทธิจำนวน 6.7 พันล้านบาทในไตรมาส 2 ปี 2563 ส่วนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 MINT มีผลขาดทุนจากการดำเนินงานก่อนผลกระทบจากการบังคับใช้มาตรฐานการบัญชี TFRS16 จำนวน 1.41 หมื่นล้านบาท ซึ่งผลการดำเนินงานในช่วงเวลาดังกล่าวไม่สามารถที่จะเปรียบเทียบกับช่วงเวลาอื่นได้อย่างเหมาะสมเนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของโรค COVID-19 ทั้งนี้ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ท้าทายนี้ MINT ยังคงมุ่งดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยหาโอกาสในการเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวด ซึ่งรวมถึงการลดค่าเช่าของเอ็นเอช โฮเทล กรุ๊ป ลดการใช้จ่ายในการลงทุน และติดตามฐานะทางการเงินและกระแสเงินสดอย่างใกล้ชิด
นายดิลลิป ราชากาเรีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มของ MINT กล่าวว่า "ผลประกอบการในไตรมาสที่ 3 ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า MINT มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่าการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบที่ร้ายแรงต่อมนุษยธรรมด้านสุขภาพเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอีกด้วย ในขณะที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกเริ่มผ่อนคลายมาตรการการปิดประเทศตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และธุรกิจต่างๆ เริ่มกลับมาเปิดให้บริการในไตรมาสที่ 3 เราจึงได้เริ่มเห็นการฟื้นตัวในแต่ละธุรกิจและภูมิภาคในอัตราที่ช้าเร็วต่างกันไป โดยทุกกลุ่มธุรกิจร้านอาหารของไมเนอร์ ฟู้ดมีผลการดำเนินงานที่พลิกฟื้น และสามารถสร้างผลกำไรในระดับกำไรสุทธิในไตรมาส 3 ปี 2563 โดยกลุ่มธุรกิจร้านอาหารในประเทศจีนมีผลกำไรที่สูงที่สุด ส่วนไมเนอร์ โฮเทลส์มีการฟื้นตัวที่ดีในธุรกิจโรงแรมในประเทศออสเตรเลียและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโรงแรม ซึ่งทั้งสองธุรกิจดังกล่าวมี EBITDA ที่เป็นบวก (ไม่นับรวมผลกระทบจากการบังคับใช้มาตรฐานการบัญชี TFRS16) ในไตรมาส 3 ปี 2563 ส่วนในทวีปยุโรป แม้ว่าการฟื้นตัวจะช้ากว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ จากจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่เพิ่มขึ้น แต่เอ็นเอช โฮเทล กรุ๊ปสามารถสร้างผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งกว่าคู่แข่งที่ใกล้เคียงที่สุด ทั้งการฟื้นตัวของรายได้ EBITDA และกำไรสุทธิ ทั้งนี้ แม้ว่าจะต้องใช้เวลาในการที่ผลการดำเนินงานจะกลับมาสู่ระดับปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับอุตสาหกรรมการโรงแรม แต่เราได้เห็นถึงสัญญาณเชิงบวกหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความน่าจะเป็นไปได้ในการค้นพบวัคซีน นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของธุรกิจร้านอาหารสามารถช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานโดยรวมของบริษัทได้อย่างมีนัยสำคัญ"
ผลการดำเนินงานของไมเนอร์ ฟู้ดพลิกฟื้นกลับมามีกำไรสุทธิจำนวน 208 ล้านบาทในไตรมาส 3 ปี 2563 จากผลขาดทุนสุทธิใน 2 ไตรมาสแรกของปี 2563 ซึ่งกำไรสุทธิในไตรมาสดังกล่าวกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนการระบาดของโรค COVID-19 เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิจำนวน 207 ล้านบาทในไตรมาส 3 ปี 2562 โดยการฟื้นตัวส่วนใหญ่เป็นผลมาจากผลการดำเนินงานที่โดดเด่นของกลุ่มธุรกิจร้านอาหารในประเทศจีน ซึ่งมียอดขายต่อร้านเดิมกลับมาเติบโตเป็นบวกในอัตราร้อยละ 3 และยอดขายโดยรวมทุกสาขาเติบโตร้อยละ 8.1 นอกจากนี้ ธุรกิจบริการจัดส่งอาหารและซื้อกลับบ้านที่แข็งแกร่งในประเทศไทย การรวมการดำเนินงานของแบรนด์บอนชอน รวมถึงมาตรการการควบคุมค่าใช้จ่ายเชิงรุกในทุกภูมิภาค ซึ่งบริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2562 ส่งผลให้ไมเนอร์ ฟู้ดมีความสามารถในการทำกำไรที่สูงขึ้นในไตรมาส 3 ปี 2563 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ด้วยการเริ่มทะยอยกลับมาเปิดให้บริการโรงแรมในช่วงไตรมาส 3 ปี 2563 ไมเนอร์ โฮเทลส์ได้เปิดให้บริการโรงแรมแล้วกว่าร้อยละ 80 ของโรงแรมทั้งหมด ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2563 ส่งผลให้มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยของของโรงแรมทั้งหมดเพิ่มขึ้นจากเพียงร้อยละ 9 ในไตรมาส 2 ปี 2563 เป็นร้อยละ 32 ในไตรมาส 3 ปี 2563 ในขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนฟื้นตัว โดยติดลบลดลงจากร้อยละ 91 ในไตรมาส 2 ปี 2563 เป็นร้อยละ 63 ในไตรมาส 3 ปี 2563 ทั้งนี้ โรงแรมในประเทศออสเตรเลียมีการฟื้นตัวที่เร็วที่สุด ด้วยรายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนที่ลดลงเพียงร้อยละ 32 ส่งผลให้ผลการดำเนินงานผ่านจุดคุ้มทุนแล้ว และมี EBITDA ที่เป็นบวกในช่วงไตรมาสดังกล่าว ส่วนโรงแรมในประเทศมัลดีฟส์มีสัญญาณการฟื้นตัวตั้งแต่เปิดให้บริการโรงแรมอีกครั้งเมื่อปลายเดือนกันยายน โดยโรงแรมอนันตรา คิฮาวาห์ มัลดีฟส์ วิลล่าส์ ซึ่งเป็นโรงแรมต้นแบบของบริษัท มีอัตราการเข้าพักถึงเกือบร้อยละ 70 ในเดือนพฤศจิกายน เมื่อเริ่มก้าวเข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยว อีกทั้ง เอ็นเอช โฮเทล กรุ๊ปมีผลการดำเนินงานที่ฟื้นตัวขึ้น โดยกลับมามีกำไรขั้นต้นจากการดำเนินงานเป็นบวกในไตรมาส 3 ปี 2563 เทียบกับกำไรขั้นต้นที่ติดลบในไตรมาส 2 ปี 2563 อีกทั้ง การเจรจาต่อรองของเอ็นเอช โฮเทล กรุ๊ปกับผู้ให้เช่าช่วยให้สามารถลดค่าเช่าและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องได้ถึง 90 ล้านยูโรสำหรับทั้งปี 2563 นอกจากนี้ ไมเนอร์ โฮเทลส์ยังคงขยายเครือโรงแรมอย่างระมัดระวัง ด้วยการเปิดตัวโรงแรมใหม่ 12 แห่งในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึง Anantara Maia Seychelles สุดหรู และโรงแรมระดับบน 7 แห่งในทวีปยุโรป ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นที่รู้จักในนามกลุ่มโรงแรม Boscolo อันทรงเกียรติ อีกทั้ง ไมเนอร์ โฮเทลส์มีแผนจะเปิดตัว "รักษ" ซึ่งเป็นศูนย์บูรณาการสุขภาพและการแพทย์แบบองค์รวมแห่งแรกในกรุงเทพฯ ในไตรมาส 4 ปี 2563 นอกจากนี้ ยอดขายโครงการที่อยู่อาศัย และการฟื้นตัวของอนันตรา เวเคชั่น คลับ ส่งผลให้ธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโรงแรมมี EBITDA ที่เป็นบวกในช่วงไตรมาสดังกล่าว และเป็นส่วนช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานของไมเนอร์ โฮเทลส์ โดยผลการดำเนินงานที่ดีของธุรกิจดังกล่าวช่วยลดทอนผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ต่อธุรกิจอื่นๆ ของบริษัท ซึ่งได้แก่ โรงแรมในทวีปยุโรป อเมริกา และเอเชีย ทั้งนี้ ด้วยมาตรการการลดค่าใช้จ่ายเชิงรุก ควบคู่กับการลดค่าเช่า ซึ่งไมเนอร์ โฮเทลส์สามารถลดค่าใช้จ่ายรวมลงร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2562 ส่งผลให้ไมเนอร์ โฮเทลส์มีผลขาดทุนจากการดำเนินงาน (ไม่นับรวมผลกระทบจากการบังคับใช้มาตรฐานการบัญชี TFRS16) ลดลงจาก 6.4 พันล้านบาท ในไตรมาส 2 ปี 2563 เป็น 4.5 พันล้านบาท ในไตรมาส 3 ปี 2563
โดยภาพรวม ผลการดำเนินงานของ MINT ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละเดือน จากผลขาดทุนสูงสุดที่จำนวน 2.7 พันล้านบาทในเดือนเมษายน เป็น 1.4 ล้านบาทในเดือนกันยายน และด้วยการดำเนินมาตรการการควบคุมค่าใช้จ่ายที่เข้มงวดอย่างต่อเนื่อง อัตราการใช้เงินสดของ MINT ในแต่ละเดือน ซึ่งคำนวณจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน เงินชำระคืนหนี้สินตามสัญญาเช่า และเงินจ่ายสำหรับการลงทุน ลดลงเกือบครึ่งหนึ่งจากเฉลี่ย 2.9 พันล้านบาทต่อเดือนในไตรมาส 2 ปี 2563 เป็น 1.5 พันล้านบาทต่อเดือน ในไตรมาส 3 ปี 2563
ตลอดช่วงเวลาที่ท้าทายนี้ MINT ยังคงให้ความสำคัญกับการรักษาสภาพคล่องและการจัดการฐานะทางการเงิน ณ สิ้นเดือนตุลาคม MINT มีเงินสดในมือประมาณ 3 หมื่นล้านบาทและวงเงินสินเชื่อจำนวน 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพียงพอต่อการดำเนินงานในอนาคต นอกจากนี้ แผนการระดมทุนแบบเบ็ดเสร็จของ MINT ซึ่งประกอบไปด้วยการออกหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุนในสกุลเงินเหรียญสหรัฐ การออกหุ้นเพิ่มทุน และการออกใบสำคัญแสดงสิทธิ ประสบความสำเร็จด้วยความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้ถือหุ้นเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ฐานส่วนของผู้ถือหุ้นของ MINT เพิ่มขึ้นเกือบ 2 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2563 นอกจากนี้ MINT มีแนวโน้มที่จะได้รับเงินทุนเพิ่มอีกจำนวน 5 พันล้านบาทจากการที่ผู้ถือสิทธิใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยแผนการดังกล่าวนี้ช่วยลดผลกระทบจากสภาวะตลาดที่ท้าทายอย่างต่อเนื่องในไตรมาสนี้ ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของ MINT เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจาก 1.63 เท่า ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2563 เป็น 1.67 เท่า ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2563
เมื่อก้าวเข้าสู่ไตรมาส 4 ปี 2563 MINT ได้มองไปถึงปี 2564 และเริ่มวางแผนรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของ โรค COVID-19 โดยสภาพแวดล้อมทางธุรกิจมีความผันผวนแตกต่างกันไปตามมาตรการการปิดประเทศหรือข้อจำกัดของแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตาม MINT คาดว่าแนวโน้มทางธุรกิจโดยรวมจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ได้พยายามลดและควบคุมการแพร่กระจายของไวรัส และด้วยโอกาสความเป็นไปได้ในการค้นพบวัคซีน แต่อย่างไรก็ตามสถานการณ์ยังคงมีความไม่แน่นอนและผันผวนมาก ด้วยเหตุนี้ MINT จึงยังคงดำเนินการตามแผนที่ได้วางไว้อย่างระมัดระวัง โดย MINT จะยังคงเพิ่มและแสวงหาโอกาสในการสร้างรายได้ใหม่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การเป็นหนึ่งในผู้ดำเนินธุรกิจโรงแรมรายแรกๆ ที่เข้าร่วมเป็นโรงแรมสำหรับกักตัวทางเลือกในประเทศไทย ไปจนถึงการขยายตลาดภายในประเทศ ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น และการเพิ่มขีดความสามารถทางด้านดิจิทัลและบริการจัดส่งอาหารของไมเนอร์ ฟู้ด ทั้งนี้ MINT ยังคงดำเนินมาตรการการควบคุมค่าใช้จ่ายและลดการลงทุนอย่างเข้มงวดในทั้งสามธุรกิจและทุกภูมิภาค นอกจากนี้ MINT ยังคงติดตามฐานะทางการเงินและกระแสเงินสดอย่างใกล้ชิด โดย MINT คาดว่าจะมีกระแสเงินสดรับและผลกำไรที่เป็นบวกในปี 2564 ด้วยความเป็นไปได้ของวัคซีนและแผนกลยุทธ์การหมุนเวียนสินทรัพย์ของบริษัท
นายราชากาเรีย กล่าวเพิ่มเติมว่า "บริษัทอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งสิ่งสำคัญคือการบริการจัดการผลกำไรและขาดทุน กระแสเงินสด และฐานะทางการเงินของเรา และด้วยธุรกิจของเราที่กระจายอยู่ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค COVID-19 เราจึงยังคงต้องปรับตัว แต่ยังคงมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนธุรกิจของเราไปข้างหน้า การลดกระแสเงินสดจ่ายและการรักษาสภาพคล่องให้ได้มากที่สุดยังคงเป็นสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก และเรายังคงติดตามดูแลฐานะทางการเงินของเราอย่างใกล้ชิด พร้อมกับการลดความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยพื้นฐานแล้ว ธุรกิจต่างๆ ของเราอยู่ในสถานะที่แข็งแกร่งในอุตสาหกรรม ด้วยสินทรัพย์หลักในทำเลที่ดี ซึ่งส่งผลให้เกิดค่าความนิยมของลูกค้า ความสัมพันธ์ที่ดีกับคู่ค้า ชื่อเสียง ทรัพย์สินทางปัญญาและคุณค่าของแบรนด์ที่เป็นเลิศ บริษัทมีเครือโรงแรมที่มีคุณภาพ ซึ่งยังคงเป็นที่ต้องการอย่างสูง แม้ในสภาพแวดล้อมที่ท้าทายนี้ ดังนั้น MINT จะสามารถดำเนินการตามกลยุทธ์การหมุนเวียนสินทรัพย์เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของฐานะทางการเงินของเราต่อไปได้โดยง่าย และเช่นเคย ผมขอขอบคุณผู้มีส่วนได้เสียและพนักงานของเราทุกคนที่ให้การสนับสนุนบริษัทเป็นอย่างดีในช่วงเวลาที่ท้าทายนี้ เราจะมุ่งมั่นทำงานอย่างหนักเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเราทุกคนจะก้าวข้ามผ่านสถานการณ์นี้และกลายเป็นบริษัทที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นไปได้ด้วยกัน"
ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท: บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (MINT) เป็นผู้นำในการดำเนินธุรกิจระดับสากล โดยประกอบ 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์ MINT ดำเนินธุรกิจโรงแรมทั้งในรูปแบบเป็นเจ้าของเอง บริหารจัดการ และร่วมลงทุน โดยมีโรงแรมและเซอร์วิส สวีท มากกว่า 530 แห่ง ภายใต้แบรนด์ อนันตรา, อวานี, โอ๊คส์, ทิโวลี, เอ็นเอช คอลเลคชั่น, เอ็นเอช โฮเทลส์, นาว, เอเลวาน่า, แมริออท, โฟร์ซีซั่นส์, เซ็นต์ รีจิส, เรดิสัน บลู และโรงแรมในกลุ่มไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ใน 55 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง แอฟริกา คาบสมุทรอินเดีย ยุโรป อเมริกาใต้ และอเมริกาเหนือ
นอกจากนี้ MINT เป็นผู้นำในธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย โดยมีร้านอาหารกว่า 2,300 สาขา ใน 26 ประเทศ ภายใต้แบรนด์ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, เดอะ คอฟฟี่ คลับ, ริเวอร์ไซด์, เบนิฮานา, ไทย เอ็กซ์เพรส, บอนชอน, สเวนเซ่นส์, ซิซซ์เลอร์, แดรี่ ควีน และเบอร์เกอร์ คิง อีกทั้งยังเป็นผู้นำด้านการจัดจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์และรับจ้างผลิต ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ภายใต้แบรนด์ อเนลโล่, โบเดิ้ม, บอสสินี่, ชาร์ล แอนด์ คีธ, เอสปรี, เอแตม, โจเซฟ โจเซฟ, โอวีเอส, แรทลีย์, สโกมาดิ, สวิลลิ่ง เจ. เอ. เฮ็งเคิลส์ และไมเนอร์ สมาร์ท คิดส์ สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมเยี่ยมชมได้ที่เว็บไซต์ www.minor.com