หลังจากการเปิดตัวโครงการอาเซียนรวมใจเพื่อช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยมี 3เอ็ม ประเทศไทย ร่วมกับ องค์กรยูไนเต็ดเวย์ (United Way Worldwide) มูลนิธิอาเซียน (ASEAN Foundation) ล่าสุด 3เอ็ม ได้ร่วมกับองค์กรอาสาสมัครเพื่อสังคม ได้แก่ สมาคมสาธารณสุขร่วมใจ จ.ปทุมธานี สมาคมอาสาสมัครสาธารณสุข จ.ปทุมธานี และสมาคมกู้ชีพบัวเพชร จ.นนทบุรี จัดมอบถุงยังชีพกว่า 5,000 ถุง เพื่อให้เข้าถึงอาหารและสุขอนามัยพื้นฐานในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีและปทุมธานี
นางวิยะดา ศรีนาคนันทน์ ประธานบริหาร บริษัท 3เอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า " ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นับว่าเป็นความท้าทายครั้งใหม่ของมวลมนุษยชาติ ทั้งทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งต้องได้รับการแก้ไข ด้วยค่านิยมหลักของ 3เอ็ม ในการนำวิทยาศาสตร์มาช่วยให้ชีวิตทุกคนดีขึ้น เราจึงมุ่งมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้น ดิฉันรู้สึกซาบซึ้งใจเป็นอย่างยิ่งที่พันธมิตรของเราตลอดจนอาสาสมัครได้สละเวลาอันมีค่าของพวกเขามาร่วมแรงร่วมใจในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยโควิด-19 ในกิจกรรมที่เกิดขึ้นครั้งนี้"
"สำหรับการช่วยเหลือครั้งนี้ เราได้จัดเตรียมถุงยังชีพซึ่งได้บรรจุสิ่งของจำเป็น อาทิ ข้าวสาร อาหารแห้ง ชุดอุปกรณ์เพื่อสุขอนามัย และเครื่องใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน จำนวนกว่า 5,000 ถุง เพื่อส่งมอบให้แก่สมาคมและอาสาสมัครจำนวน 3 สมาคม สมาคมละ 1,700 ถุง ซึ่งเรามุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความช่วยเหลือดังกล่าวจะมีส่วนทำให้ผู้ประสบภัยสามารถเข้าถึงอาหารและสุขอนามัยพื้นฐานได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น" นางสาวบุญณพร ไฮดอน ผู้ประสานงานโครงการมูลนิธิอาเซียนในประเทศไทยกล่าวเพิ่มเติม
โครงการอาเซียนรวมใจเพื่อช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นส่วนหนึ่งในทุนจำนวน USD 20 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่บริษัท 3เอ็ม สำนักงานใหญ่ ได้บริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยโควิด-19 ทั่วโลก โดย 3เอ็ม ประเทศไทยได้รับเงินสนับสนุนจำนวน 2.6 ล้านบาท ซึ่งได้นำมาใช้ในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าวให้สามารถฟื้นตัวและกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติอย่างรวดเร็วที่สุด ตลอดจนสร้างการตระหนักรู้และให้ข้อมูลองค์ความรู้เกี่ยวกับการดูแลตนเองและป้องกันการการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อีกด้วย โครงการดังกล่าวเป็นโครงการนำร่องในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้เข้าถึงอาหารและสุขอนามัยพื้นฐานต่าง ๆ สำหรับกลุ่มคนที่มีความเสี่ยง เช่น ครอบครัวที่มีเด็ก คนพิการ ผู้หญิงที่เป็นหัวหน้าครอบครัว ผู้สูงอายุ กลุ่มผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย สตรีตั้งครรภ์และให้นมบุตร ในประเทศมาเลเซีย ประเทศเมียนมาร์ และประเทศไทย
โครงการอาเซียนรวมใจบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยโควิด-19 เป็นผลสืบเนื่องมาจากการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสามสมัยพิเศษว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2563 ที่ให้ความสำคัญของความร่วมมือกันระหว่างกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในอาเซียนเพื่อต่อสู้กับการระบาดของโรคชนิดใหม่ที่กระจายเป็นวงกว้างทั่วโลก
ภายในงานยังมีการให้ความรู้ด้านสุขอนามัยเบื้องต้น ทั้งสาธิตการล้างมือ วิธีการใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกวิธี และให้ความรู้เกี่ยวกับอาการของโรคโควิด-19 การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมถึงสาธิตวิธีการทิ้งขยะติดเชื้อและผ้าอนามัยแก่คนในชุมชนที่มาเข้าร่วมกิจกรรม
"ในช่วงเวลาที่ท้าทายของการระบาดของโควิด-19 เช่นนี้ 3เอ็ม ไม่เคยหยุดให้ความช่วยเหลือพันธมิตรชุมชนของเราทั่วโลก เริ่มจากกลุ่มที่เปราะบางที่สุดผ่านโครงการบรรเทาทุกข์ระดับโลกต่าง ๆ เช่น ASEAN CARES ทั้งนี้ 3เอ็ม ยังมุ่งมั่นให้การสนับสนุนชุมชนและองค์กรพันธมิตรทั่วโลกอย่างต่อเนื่องในการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติใหม่ (New Normal) โดยยึดแนวทางการดำเนินงานที่จะนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาพัฒนาชีวิตคนในชุมชนให้ดีขึ้น เพื่อให้สังคมไทยก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน" นางวิยะดา ศรีนาคนันทน์ ประธานบริหาร บริษัท 3เอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวเสริม
เกี่ยวกับ 3เอ็ม
ที่ 3เอ็ม เราใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการทำงานร่วมกันเพื่อปรับปรุงชีวิตประจำวัน ด้วยยอดขาย 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และพนักงาน 96,000 คน เพื่อเชื่อมต่อกับลูกค้าทั่วโลก
เกี่ยวกับองค์กรยูไนเต็ดเวย์ (The United Way)
องค์กร United Way ต่อสู้เพื่อสุขภาพ การศึกษา และความมั่นคงทางการเงินของทุกคนในทุกชุมชน องค์กร United Wayได้รับการสนับสนุนจากอาสาสมัครจำนวน 2.9 ล้านคน มีผู้บริจาคจากทั่วโลกอีกจำนวน 8.1 ล้านคน และระดมทุนได้ 4.8 พันล้านดอลลาร์ องค์กร United Way เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ได้รับการสนับสนุนจากเอกชนรายใหญ่ที่สุดในโลก องค์กร United Wayมีส่วนร่วมในชุมชนเกือบ 1,800 แห่ง ที่ตั้งอยู่ในมากกว่า 40 ประเทศและดินแดนทั่วโลกเพื่อสร้างแนวทางการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนต่อความท้าทายที่ชุมชนของเราต้องเผชิญ. พันธมิตรของ United Way ประกอบด้วยธุรกิจระดับโลก ธุรกิจระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร รัฐบาล องค์กรพลเมืองและสถาบันศาสนา ตลอดจนนักวิชาการศึกษา ผู้นำแรงงาน ผู้ให้บริการด้านสุขภาพ ผู้สูงอายุ นักเรียนและอื่นๆ
เกี่ยวกับมูลนิธิอาเซียน (The ASEAN Foundation)
กว่าสามทศวรรษหลังจากที่อาเซียนก่อตั้งขึ้น ผู้นำของอาเซียนยอมรับว่า ความเจริญรุ่งเรืองของประเทศในอาเซียน และการติดต่อกันระหว่างประชาชนในอาเซียนนั้นยังมีความไม่เท่าเทียม และไม่ทั่วถึงกันอยู่ มันจึงเป็นความกังวล ผู้นำอาเซียนจึงได้จัดตั้งมูลนิธิอาเซียนขึ้นในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครบรอบ 30 ปี ที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2540
มูลนิธิอาเซียนเป็นองค์กรเพื่อประชาชนในอาเซียน มูลนิธิสามารถดำรงอยู่ได้ตามวิสัยทัศน์เดียว คือ เพื่อสร้างประชาคมอาเซียนที่มั่นคงและมั่งคั่ง ในฐานะหน่วยงานของอาเซียน มูลนิธิได้รับมอบหมายให้สนับสนุนอาเซียนเป็นหลักในการส่งเสริมการรับรู้อัตลักษณ์ ปฏิสัมพันธ์ และการพัฒนาประชาชนในอาเซียน การสร้างจิตสำนึกของความเป็นอาเซียนในหมู่ประชาชน และเพื่อให้การสนับสนุนกิจกรรม/โครงการเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของสมาชิกอาเซียนอย่างเท่าเทียมกัน