กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--คาร์ล บายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์
อินเทลค้นพบวิธีเพิ่มความเร็วระหว่างเซิร์ฟเวอร์และแอพพลิเคชั่น ไมโครซอฟท์เตรียมนำเทคโนโลยี Intel I/O Acceleration ไปใช้ใน Windows Server รุ่นต่อไป
วันนี้ อินเทลได้มีการเปิดตัวเทคโนโลยีแพลตฟอร์มซิลิคอนชนิดแรกที่ช่วยเร่งการทำงานระหว่างข้อมูลเครือข่ายและแอพพลิเคชั่นเซิร์ฟเวอร์เร็วขึ้นร้อยละ 30 นอกจากนี้ อินเทลยังเปิดเผยข้อตกลงกับไมโครซอฟท์ในการนำเอาเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้ในระบบปฏิบัติการรุ่นต่อไปของไมโครซอฟท์อีกด้วย
เทคโนโลยีใหม่ที่อินเทลพัฒนาขึ้นและใช้ชื่อว่า Intel I/O Acceleration Technology (Intel I/OA) เป็นเทคโนโลยี “*T” ล่าสุด ซึ่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรมซิลิคอนระดับสูง เทคโนโลยีชนิดนี้ออกมาในช่วงจังหวะที่เหมาะสมเพราะเป็นช่วงที่ความต้องการใช้แอพพลิเคชั่นต่างๆ อาทิ ระบบการค้าผ่านเว็บ ระบบจัดการข่าวสาร ระบบจัดเก็บข้อมูล และระบบคลัสเตอร์เซิร์ฟเวอร์ เริ่มมีปริมาณมากเกินความสามารถของเซิร์ฟเวอร์ที่จะประมวลผลข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายแล้วส่งไปให้แอพพลิเคชั่นต่างๆ อย่างรวดเร็วและมีเสถียรภาพ
แพท เกลซิงเกอร์ รองประธานอาวุโส กลุ่มอินเทลดิจิตอลเอ็นเตอร์ไพรซ์ กล่าวว่าเทคโนโลยี Intel I/OAT แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าต่างๆ ที่สามารถจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในระดับแพลตฟอร์ม ประโยชน์ที่ผู้ใช้ทั่วไปจะได้รับคือสมรรถนะการทำงานที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการใช้งานแอพพลิเคชั่นต่างๆ เช่น ระบบการค้าผ่านเว็บ หรือ อิเล็กทรอนิกแบ็งค์กิ้ง ในขณะที่นักธุรกิจจะได้รับประโยชน์จากค่าใช้จ่ายที่ลดลงและความสามารถที่เพิ่มขึ้นของระบบ
แม้ว่าประสิทธิภาพของซีพียูในเซิร์ฟเวอร์และแบนด์วิธของระบบเครือข่ายได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาแล้วก็ตาม แต่วิธีการหลักที่ใช้โอนถ่ายข้อมูลไปมาไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแต่อย่างใด ในปัจจุบัน ซีพียูซึ่งอยู่ในเซิร์ฟเวอร์เป็นตัวแบกรับภาระของการประมวลผลเอาไว้ทั้งหมด รวมทั้งการเรียกใช้เมมโมรี่และการคำนวณโปรโตคอลในแพ็กเก็ตหรือข้อมูลทุกชุดด้วย ผลก็คือซีพียูต้องทำงานหนักเกินไป ซึ่งส่งผลเสียต่อการตอบสนองของระบบ เสถียรภาพ และประสิทธิภาพในการทำงานของผู้ใช้
เทคโนโลยี Intel I/O Acceleration Technology ทำให้แพลตฟอร์มเข้ามาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ด้วยการแบ่งงานข้อมูลของอุปกรณ์ต่างๆ ของแพลตฟอร์มแยกออกจากกัน โดยที่อุปกรณ์เหล่านี้ ประกอบด้วย โปรเซสเซอร์ ชิปเซ็ต เน็ตเวิร์กคอนโทรลเลอร์ และซอฟต์แวร์ แนวทางของแพลตฟอร์มดังกล่าวช่วยลดภาระงานของโปรเซสเซอร์และช่วยให้การไหลเวียนของข้อมูลทำได้เร็วขึ้น โปรเซสเซอร์มีภาระงานลดลงเมื่อมีการสั่งให้ชิปเซ็ตและเน็ตเวิร์กคอนโทรลเลอร์รับผิดชอบการย้ายข้อมูลเข้าและออกจากหน่วยความจำ นอกจากนี้ อินเทลยังมีการปรับแต่งให้โปรโตคอล TCP/IP ซึ่งเป็น etiquette แบบเปิด ที่ช่วยให้คอมพิวเตอร์ทุกประเภทสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้ด้วยภาษาเดียวกันบนเซิร์ฟเวอร์ที่ใช้เทคโนโลยีอินเทล ส่งผลให้โปรเซสเซอร์มีภาระงานลดลงถึงครึ่งหนึ่ง
ดังนั้น เมื่อมองโดยภาพรวมแล้ว แนวทางแพลตฟอร์มนี้จะช่วยให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างแพลตฟอร์มและแอพพลิเคชั่นเร็วขึ้นถึงร้อยละ 30 และทำให้โปรเซสเซอร์สามารถทำงานอื่นๆ ได้มากขึ้น
แนวทางแพลตฟอร์มดังกล่าวซึ่งเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี Intel I/OAT จะช่วยแก้ปัญหาข้อจำกัดของเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ อาทิเช่น TCP Offload Engines (TOE) ที่ถูกออกแบบมาให้แบ่งเบาภาระสัญญาณข้อมูลของซีพียู เป็นต้น TOE อยู่ในรูปของชิปพิเศษที่ใช้เพื่อแบ่งเบาภาระการประมวลผลโปรโตคอล แต่ไม่ได้แบ่งเบาภาระของระบบหรือการใช้หน่วยความจำแต่อย่างใด ซึ่งปัญหาสองชนิดนี้ถือเป็นภาระหนักที่สุดของซีพียู ผลก็คือ TOE จะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อใช้กับ packets payloads มีขนาดใหญ่ อาทิเช่น แอพพลิเคชั่นดาต้าเบส และ ระบบคลังข้อมูลประสิทธิภาพสูง เป็นต้น
การสนับสนุนจากไมโครซอฟท์
ไมโครซอฟท์จะใส่คุณสมบัติที่รองรับการทำงานของ Intel I/OAT ลงไปในระบบปฏิบัติการ Windows Server รุ่นต่อไปในอนาคต นอกจากนั้นโอเอสรุ่นใหม่ยังจะมีเทคโนโลยีที่ชื่อ Receive Side Scaling เพื่อปรับสมดุลสัญญาณ TCP/IP ของระบบเครือข่ายให้แก่ซีพียูที่มีหลายโครงสร้าง การทำงานร่วมกันระหว่าง Intel I/OAT และซอฟต์แวร์ Windows Server จะทำให้ Receive Side Scaling โอนถ่ายข้อมูลแบบคู่ขนาน ซึ่งจะทำให้การไหลเวียนของข้อมูลมีความสมดุลย์มากขึ้น การส่งสตรีมข้อมูลแบบคู่ขนานจะทำให้การรับและส่งข้อมูลจากแอพพลิเคชั่นของเซิร์ฟเวอร์เร็วขึ้น
Jawad Khaki รองประธานแผนก Networking and Device Technology ของไมโครซอฟท์กล่าวว่า "ลูกค้าของเราบอกว่าต้องการให้อัตราการตอบสนองของแอพพลิเคชั่นที่อยู่ในแพลตฟอร์มเซิร์ฟเวอร์ Windows ดีขึ้นกว่าเดิม เราจึงรู้สึกตื่นเต้นอย่างมากกับการนำเอาโครงสร้าง Intel I/OAT ไปใช้ใน Windows Server จากนั้นแอพพลิเคชั่นบนเซิร์ฟเวอร์จะมีประสิทธิภาพดีขึ้น ซึ่งจะทำให้ Windows สามารถบริหารข้อมูลของระบบเครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและเร็วขึ้น นอกจากนั้นการกระจายข้อมูลไปให้ซีพียูที่มีหลายคอร์จะช่วยทำให้ความสามารถในการขยายระบบของแพลตฟอร์ม Windows Server ดีขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมากสำหรับผู้ใช้จำนวนมาก"
ระบบจัดเก็บข้อมูล
ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อินเทลได้เปิดตัวอุปกรณ์ระบบจัดเก็บข้อมูลของ Intel I/OAT ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเพิ่มความเร็วของระบบจัดเก็บข้อมูลด้วยเทคโนโลยี RAID-6 ที่เร่งความเร็วให้กับระบบจัดเก็บข้อมูล เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบให้สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แม้กระทั่งในช่วงเวลาของการกู้ระบบเมื่อดิสก์ข้อมูลหลายตัวทำงานล่ม เทคโนโลยีการเร่งความเร็วของระบบจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวทำให้เทคโนโลยี Intel I/OAT ทำงานได้เร็วขึ้น และเพิ่มเสถียรภาพให้กับข้อมูลเนื่องจากข้อมูลไหลเข้าและออกจากฮาร์ดไดรฟ์ อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีใหม่ที่ด้านการจัดการข้อมูล TCP/IP ของเทคโนโลยี Intel I/OAT จะยังไม่มีการเปิดตัวจนกว่าจะมีการแนะนำแพลตฟอร์มใหม่ ส่วนเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลได้มีการเปิดตัวไปแล้วพร้อมกับโปรเซสเซอร์ด้านการจัดเก็บข้อมูล Intel IOP333
รายละเอียดเกี่ยวกับงานไอดีเอฟ
อินเทล ดิเวลล็อปเปอร์ ฟอรัม (ไอดีเอฟ) เป็นงานแสดงด้านเทคโนโลยีประจำปีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่งในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ซึ่งจัดขึ้นสำหรับนักพัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์โดยเฉพาะ งานไอดีเอฟ เป็นเวทีที่บริษัทชั้นนำในวงการมารวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับพีซี เซิร์ฟเวอร์ อุปกรณ์ติดต่อสื่อสาร และอุปกรณ์พกพาต่างๆ ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานไอดีเอฟ และเทคโนโลยีต่างๆ ของอินเทลได้ที่ http://developer.intel.com
อินเทลเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นผู้นำในการผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ระบบเครือข่าย และอุปกรณ์สื่อสาร ผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริษัทอินเทล ได้ที่เว็บไซต์ http://www.intel.com/pressroom
* Intel และ Pentium เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของอินเทล คอร์ปอเรชั่น หรือสำนักงานสาขาทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ขอสงวนสิทธิ์ ชื่อและยี่ห้ออื่นอาจถูกอ้างอิงถึงโดยถือเป็นทรัพย์สินของชื่อยี่ห้อนั้นๆ
ติดต่อ:
คุณเพชราภรณ์ เจริญนิพนธ์วานิช คุณกรรภิรมย์ อึ้งภากรณ์
บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท คาร์ล บายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์
โทรศัพท์: (66 2) 654-0654 โทรศัพท์: (66 2) 627-3501
e-Mail: petch.charoennibhonvanich@intel.com e-Mail: kanpirom.ungpakorn@carlbyoir.com.hk--จบ--