ซาบีน่าเผยผลประกอบการไตรมาส 3 (กรกฎาคมถึงกันยายน) ปี 2563 รายได้รวมอยู่ที่ 815.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ปี 2563 คิดเป็น 23.9% ผลจากการคลายล็อคดาวน์ 100% แต่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.8% เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ฉุดกำลังซื้อยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ ด้านกำไรสุทธิไตรมาส 3 ปีนี้อยู่ที่ 85.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 คิดเป็น 70.1% โดยอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) อยู่ที่ 47.1% เทียบไตรมาสต่อไตรมาส (QoQ) สูงกว่าไตรมาส 2 ของปีนี้ซึ่งอยู่ที่ 38.8% ชี้ผลประกอบการได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้ว เดินหน้าปั๊มยอดขายไตรมาส 4 ผ่านมาตรการช้อปดีมีคืน และเทศกาลช้อปปิ้ง 11.11 พร้อมรับอานิสงส์บาทแข็งค่า ส่งผลต้นทุนนำเข้าสินค้าจ้างผลิตจากต่างประเทศลดลง
นายบุญชัย ปัณฑุรอัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซาบีน่า จำกัด (มหาชน) หรือ SABINA ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายชุดชั้นในภายในแบรนด์ "ซาบีน่า" เปิดเผยว่า ปัจจัยที่ทำให้รายได้ในไตรมาสที่ 3 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ มาจากรายได้จากการขายในช่องทางหลักอย่างช่องทางรีเทล (Retail) ทั้งในซาบีน่าช้อปและเคาน์เตอร์ซาบีน่าในห้างสรรพสินค้า หลังจากเปิดให้บริการเต็มรูปแบบหลังการคลายล็อคดาวน์ 100% ทำให้รายได้ในช่องทางนี้เติบโตเมื่อเทียบแบบไตรมาสต่อไตรมาส (QoQ) สูงถึง 42.6% แต่ก็ยังลดลง 12.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งปัจจัยหลักมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่การขายในช่องทางออนไลน์หรือ NSR (Non Store Retailing) เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 คิดเป็นลดลงประมาณ 21% เนื่องจากไตรมาส 2 ที่ผ่านมาเป็นช่วงล็อคดาวน์ที่การขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เป็นไปอย่างคึกคัก แต่เมื่อเทียบแบบปีต่อปี (YoY) จากไตรมาส 3 ปีนี้เทียบกับปีที่แล้วพบว่า เติบโตเพิ่มขึ้นถึง 74.6% ซึ่งแนวโน้มการเติบโตในช่องทางออนไลน์ยังถือว่าน่าพอใจเป็นอย่างมาก
สำหรับรายได้จากช่องทางการส่งออก (Export) ในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เพิ่มขึ้น 33.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ และลดลง 68.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากประเทศในกลุ่ม CLMV ยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่วนรายได้จากการรับจ้างผลิต (OEM) ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ เพิ่มขึ้น 23.6% จากไตรมาสที่ 2 และเพิ่มขึ้น 6.7% จากงวดเดียวกันของปีก่อน จากคำสั่งผลิตที่ทยอยมีเข้ามา โดยฐานลูกค้า OEM ของซาบีน่าอยู่ในยุโรปและสหราชอาณาจักร ดังนั้น ซาบีน่าจึงไม่ได้รับผลกระทบจากการถูกสหรัฐฯ ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) แต่อย่างใด
"จากผลประกอบการเปรียบเทียบแบบไตรมาสต่อไตรมาส (QoQ) ทำให้เราเชื่อว่า ผลการดำเนินงานของซาบีน่าได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาสที่ 2 และดีขึ้นกว่าที่คาดในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ โดยรายได้รวมเติบโตขึ้นเกือบ 24% และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 70.1% อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบผลการดำเนินงานแบบปีต่อปี ต้องยอมรับว่า รายได้รวมและกำไรสุทธิในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ลดลง 3.8% และ 26.4% ตามลำดับเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปีที่แล้ว (YoY) ซึ่งเป็นเรื่องที่คาดการณ์ไว้อยู่แล้ว เพราะผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้กำลังซื้อลดลงอย่างชัดเจน แม้ว่าจะอยู่ในช่วงคลายล็อคดาวน์ แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาด้านรายได้ บริษัทฯ จึงเดินหน้าบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพ ทำให้อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) เพิ่มขึ้นจาก 38.8% ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ขึ้นมาอยู่ที่ 47.1% ในไตรมาสที่ 3 ขณะที่การปรับสัดส่วนการผลิตด้วยการลดการผลิตหน้ากากผ้า ซึ่งเป็นสินค้าที่มีมาร์จินต่ำ และเพิ่มการผลิตชุดชั้นใน ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นด้วย" นายบุญชัยกล่าว
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซาบีน่า กล่าวด้วยว่า ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ซาบีน่ายังเดินหน้าทำแคมเปญกระตุ้นกำลังซื้ออย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบรับกับมาตรการช้อปดีมีคืนของรัฐบาลที่ให้สิทธิประโยชน์นำรายจ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการ ระหว่างวันที่ 23 ตุลาคมถึง 31 ธันวาคม 2563 ในวงเงินไม่เกิน 30,000 บาทไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และในไตรมาสที่ 4 ยังมีแคมเปญ 11.11 ที่ซาบีน่าร่วมกับแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ชั้นนำอย่างลาซาด้า ในการจัดโปรโมชั่นกระตุ้นการขาย ซึ่งผลิตภัณฑ์ซาบีน่ายังคงเป็นสินค้าที่มียอดขายสูงสุดในกลุ่มแฟชั่น นอกจากนี้ การที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จากความคาดหวังเกี่ยวกับการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่นายโจ ไบเดน เป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้ง ยังส่งผลดีต่อการนำเข้าสินค้าจ้างผลิตจากต่างประเทศของซาบีน่า ทำให้ต้นทุนต่ำลง ซึ่งถือเป็นปัจจัยสนับสนุนผลประกอบการในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้อีกทางหนึ่งด้วย