ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ตรวจเยี่ยมสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรีและสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (MARA) มอบนโยบายแนวทางการขับเคลื่อนแผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และการพัฒนาแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พร้อมเยี่ยมชมการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน สาขาช่างเชื่อม และการฝึกอบรมการขับรถโฟล์คลิฟท์ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดชลบุรีให้การต้อนรับ ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี
ศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาแรงงาน และเน้นย้ำให้พัฒนาทักษะกำลังแรงงานของประเทศให้ตอบสนองตามความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อให้มีงานทำ มีรายได้ ลดอัตราการว่างงาน ซึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) มีแนวทางการดำเนินงานเพื่อยกระดับแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพ โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรมในการทำงาน เพื่อเพิ่มผลิตภาพและสร้างโอกาสในการแข่งขันให้สูงขึ้น โดยมุ่งเน้นการป้อนแรงงานเข้าสู่ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ในเขต EEC เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน ผ่านการบูรณาการระหว่างภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระทรวงแรงงาน ได้จัดตั้งศูนย์บริหารแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ณ สพร. 3 ชลบุรี เพื่อทำภารกิจเพิ่มศักยภาพให้แก่กำลังแรงงานในเขตพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา โดยพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดศูนย์ดังกล่าวเมื่อมกราคม 2562
รมช. แรงงาน กล่าวต่อว่า การเยี่ยมชมการฝึกของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี (สพร.3 ชลบุรี) และสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (MARA) เนื่องจากมีการฝึกอบรมที่น่าสนใจ สามารถตอบสนองความต้องการของสถานประกอบกิจการในพื้นที่ได้ มีหลักสูตรการฝึกที่ทันสมัยและทันต่อเทคโนโลยี โดยเฉพาะการฝึกด้านอัตโนมัติและหุ่นยนต์ จากการรายงานข้อมูล พบว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี มีเป้าหมายพัฒนาฝีมือแรงงานในพื้นที่จำนวน 3,620 คน และส่งเสริมสถานประกอบกิจการดำเนินการอีก 308,000 คน ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 ในด้านการฝึกอบรม มีทั้งการยกระดับผีมือแรงงาน การพัฒนาศักยภาพแรงงานเพื่อรองรับการจ่ายค่าจ้างมาตรฐานฝีมือ และการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ การฝึกอบรมมีทั้งการฝึกประเภท hard skill และ soft skill เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การบินและโลจิสติกส์ ดิจิทัล
นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินงานของสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ หรือ MARA ที่ทำหน้าที่หน่วยฝึกอบรมที่เน้นเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติ มีแผนการฝึกอบรมอีก 1,100 คน หลักสูตรที่ดำเนินการฝึกจะเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอัตโนมัติ หุ่นยนต์ โปรแกรมการผลิต และเครื่องจักรกลเพื่อการผลิต ซึ่งจะนำไปสู่แผนการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน อีกทั้ง มีเป้าหมายบูรณาการความร่วมมือกับภาคเอชนในแผนการฝึก EEC Model Type B อีก 100 คน เช่น การควบคุมหุ่นยนต์อุตสาหกรรม การวายริ่งตู้ควบคุมไฟฟ้าสำหรับระบบอัตโนมัติ เป็นต้น
"การพัฒนาทักษะให้กับกำลังแรงงานไม่สามารถดำเนินการเพียงลำพัง ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายช่วยสนับสนุน ต้องแสวงหาความร่วมมือให้มากขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก อีอีซี เป็นหนึ่งในกลไกในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และนโยบายประเทศไทย 4.0 มุ่งเน้นการพัฒนา 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงอุตสาหกรรมและบริการ ที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในพื้นที่ EEC จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายของรัฐบาล วันนี้จึงต้องการเน้นย้ำและให้ความสำคัญของการพัฒนากำลังแรงงานอย่างเข้มข้น เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป" รมช.แรงงาน กล่าวในท้ายสุด