ฟอร์ด ประเทศไทย ร่วมกับสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน และทีวีบูรพา จัดประกวดสุดยอดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ประจำปี 2020 ในหัวข้อ 'เทคโนโลยี ROAD SAFETY เพื่อทุกชีวิตปลอดภัยบนท้องถนน' มอบทุนการศึกษารวม 40 ทุน มูลค่า 840,000 บาท ในโครงการทุนการศึกษา Go Further Innovator Scholarship ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 โดยการนำเสนอผลงานในรอบชิงชนะเลิศจัดขึ้น ณ TTA Space ห้อง Twin Hall ชั้น 6 ศูนย์การค้า MBK Center
ทีมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คว้ารางวัลชนะเลิศในระดับอุดมศึกษา จากผลงาน 'ระบบลดอัตราการหดตัวของรูม่านตาอย่างฉับพลัน เมื่อผู้ขับขี่ยานพาหนะออกจากอุโมงค์'ได้รับทุนการศึกษารวม 150,000 บาท ขณะที่ทีมจากวิทยาลัยเทคนิคบ้านค่าย จังหวัดระยอง คว้ารางวัลชนะเลิศในระดับอาชีวศึกษา จากผลงาน 'ขาตั้งนิรภัยปลอดภัยไว้ก่อน' ได้รับทุนการศึกษารวม 150,000 บาท นอกจากนี้ ฟอร์ดยังมอบรางวัลรองชนะเลิศให้แก่ผู้เข้าร่วมการแข่งขันในรอบสุดท้ายทั้งในระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษารวม 18 ทีม ทีมละ 30,000 บาท เป็นทุนการศึกษาทั้งสิ้น 40 ทุน รวม 840,000 บาท
การประกวดเฟ้นหาสุดยอดโครงงานสุดยอดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์หัวข้อ "เทคโนโลยี ROAD SAFETY เพื่อทุกชีวิตปลอดภัยบนท้องถนน" ของโครงการทุนการศึกษา Go Further Innovator Scholarship ในปี 2020 ได้รับเกียรติจาก ดร. ชิต เหล่าวัฒนา ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษาสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นายสนิท สุวรรณศร ประธานมูลนิธิร่วมพัฒนาชนบทไทย-อาเซียน และผู้บริหารสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน และนายชวน อวิโรธนานนท์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์วิศวกรรม โรงงานฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ประเทศไทย ให้เกียรติร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน
ผลงานชนะเลิศโครงงานสิ่งประดิษฐ์ในระดับอุดมศึกษา ได้แก่ ผลงาน 'ระบบลดอัตราการหดตัวของรูม่านตาอย่างฉับพลัน เมื่อผู้ขับขี่ยานพาหนะออกจากอุโมงค์' จากทีมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งมีสมาชิกประกอบด้วย นายปภังกร สุขเพ็ญ นายวชิรวิทย์ รางแดง และ นายพชร ยินดี โดยมี ดร.ชาญชัย เตชะวัชราภัยกุล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา โดยระบบดังกล่าวจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุที่ปลายอุโมงค์ ซึ่งจะเกิดแสงวาบขึ้นเมื่อรถเคลื่อนตัวถึงปลายอุโมงค์เนื่องจากระดับแสงภายในและภายนอกอุโมงค์มีความเข้มที่ต่างกันมากจึงทำให้รูม่านตาของผู้ขับขี่ปรับตัวไม่ทันส่งผลต่อวิสัยทัศน์ของผู้ขับขี่และทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ระบบที่นักศึกษาพัฒนาขึ้นจะเริ่มควบคุมแสงภายในรถเมื่อตั้งแต่อยู่กลางอุโมงค์ โดยจะใช้ข้อมูลความเข้มของ UV จากเซ็นเซอร์ที่ติดอยู่ด้านหน้ารถหรือคำนวนระยะทางจาก GPS โดยเซ็นเซอร์วัดแสงภายนอกและภายใน ระบบจะเริ่มทำการปรับสายตาโดยการใช้ไฟ LED ในการเพิ่มหรือลดความสว่างภายในรถให้เหมาะสมทำให้ลดการเกิดแสงวาบช่วงปลายอุโมงค์
สำหรับผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในระดับอาชีวศึกษา ได้แก่ ผลงาน 'ขาตั้งนิรภัยปลอดภัยไว้ก่อน' จากทีมจากวิทยาลัยเทคนิคบ้านค่าย จังหวัดระยอง มีสมาชิกประกอบด้วย นางสาวสุภาพร ทองคำ นายชลสิทธิ์ จันทร์วิเศษ และ นายจาฏุพัจน์ แพบขุนทด โดยมีนายศรายุทธ ทบเนตร เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา สิ่งประดิษฐ์นี้จะช่วยลดอุบัติเหตุเกิดที่ขึ้นเนื่องจากผู้ขับขี่ลืมนำขาตั้งรถจักรยานยนต์ขึ้นเมื่อขับขี่ สิ่งประดิษฐ์นี้จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน เพราะผู้ขับขี่จะไม่สามารถเข้าเกียร์และสตาร์ทรถได้หาไม่นำขาตั้งขึ้น โดยมีการติดตั้งสวิชท์ตัดไฟจากวงจรจุดระเบิดของรถจักรยานยนต์บริเวณขาตั้ง
การให้การสนับสนุนและพัฒนาการศึกษาในประเทศไทยเป็นสิ่งที่ฟอร์ดให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง การประกวดโครงงานนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ในโครงการ Go Further Innovator Scholarship เป็นเวทีที่ให้โอกาสเยาวชนไทยได้แสดงศักยภาพคิดค้นนวัตกรรมที่สร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ฟอร์ดเชื่อว่าสิ่งใหม่ๆ ที่ได้รับการถ่ายทอดออกและพัฒนามาจากนักเรียนนักศึกษาไทยจะเป็นแนวทางและแรงผลักดันในการยกระดับและพัฒนาสิ่งดีๆ ให้กับประเทศไทยต่อไปในอนาคต