สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย เปิดหลักสูตร "ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ภาคปฏิบัติ" สำหรับภาคธุรกิจ หวังสร้างความตระหนักรู้การดำเนินธุรกิจควบคู่หลักสิทธิมนุษยชน แก่บุคลากรในภาคธุรกิจของไทย พร้อมสร้างเครือข่ายและส่งเสริมความร่วมมือจากผู้บริหารในทุกภาคส่วน ในการยกระดับหลักสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจของไทย ผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมอบรมด้านสิทธิมนุษยชนได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน นี้
นางสาวธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "ปัจจุบัน การดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน (Business and Human Rights - BHR) เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อภาคธุรกิจต่างมีความคาดหวังที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในการผลักดันให้องค์กรธุรกิจเคารพและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ไม่เพียงแค่ตามที่กฎหมายกำหนด แต่ให้มากที่สุดเท่าที่อยู่ในวิสัยที่ธุรกิจนั้น ๆ ทำได้ สมาคมฯ ในฐานะที่เป็นเครือข่ายในไทยของ United Nations Global Compact หรือ UNGC เครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในโลก จึงมุ่งสนับสนุนให้ภาคธุรกิจของไทยดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ โดยยึดหลักสากล 10 ประการของ UNGC ซึ่งครอบคลุมเรื่องสิทธิมนุยชน แรงงาน สิ่งแวดล้อม และการต่อต้านทุจริต เป็นสำคัญ จึงได้จัดหลักสูตร 'สิทธิมนุษยชน ภาคปฎิบัติ' สำหรับภาคธุรกิจ เพื่อหวังต่อยอดให้ภาคธุรกิจนำแนวคิดและมาตรการด้านสิทธิมนุษยชนไปปฏิบัติได้จริง ซึ่งองค์กรที่ปฏิบัติตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากลโดยส่วนใหญ่จะได้รับการยอมรับจากหน่วยงานกำกับดูแล หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการเงินและนักลงทุน ผู้บริโภค นักวิชาการ ภาคประชาสังคม เนื่องจากสามารถสร้างคุณค่าร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้เป็นอย่างดี และดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจอย่างสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนและเป้าหมายสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน (UN SDGs) 17 ประการ"
ทั้งนี้ หลักสูตร "ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ภาคปฏิบัติ" เป็นหลักสูตร 3 วัน และดูงาน 1 วัน โดยมีเนื้อหาครอบคลุมภาพรวมและความเชื่อมโยงระหว่าง BHR กับการพัฒนาที่ยั่งยืน แผนปฏิบัติการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย การจัดทำนโยบาย และบูรณาการ BHR ในการดำเนินธุรกิจ (Policy and Embedment) และความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเครื่องมือบริหารจัดการประเด็นธุรกิจและสิทธิมนุษยชน เช่น กระบวนการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Risk Assessment: HRRA) กระบวนการตรวจสอบรอบด้านด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Due Diligence : HRDD) พร้อมการแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ในการบริหารจัดการประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนจากองค์กรต้นแบบในภาคธุรกิจด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในองค์กรธุรกิจในประเทศไทย และพัฒนาศักยภาพในการนำหลักการและแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนที่ดีไปดำเนินการให้เกิดผลได้จริง ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฎิบัติ จากผู้ทรงคุณวุฒิในหลายภาคส่วน
ผู้สนใจด้านหลักสิทธิมนุษยชนเพื่อการพัฒนาองค์กรที่ยั่งยืน สามารถสมัครได้เลยวันนี้ ที่ https://forms.gle/NYQtr8WjPNuXsx5v9 หรือ โทร. 089-030-2411 mike@globalcompact-th.com