พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ครั้งที่ 3/2563 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติกรอบการหารือสำหรับการประชุมคณะมนตรีคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 27 ร่วมกับประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว ไทย และเวียดนาม ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ในวันที่ 26 พฤศจิกายนนี้ อาทิ 1) แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาลุ่มน้ำโขงระยะ 10 ปี (ปี 2564 - 2573) และแผนกลยุทธ์คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ระยะ 5 ปี ( ปี 2564 - 2568) ซึ่งเป็นการกำหนดทิศทางและแนวทางการจัดการทรัพยากรน้ำในช่วง 10 ปีข้างหน้า มีการเชื่อมโยงกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง และการแปลงยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติผ่านแผนกลยุทธ์คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง 2) ยุทธศาสตร์การจัดการสินทรัพย์ด้านสิ่งแวดล้อมของลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อพัฒนากลยุทธ์เสริมสร้างการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยประเทศไทยได้เลือกพื้นที่ศึกษา 3 แห่งได้แก่ 1. แม่น้ำสงครามตอนล่าง จ.นครพนม 2. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย เวียงหนองหล่ม และบริเวณแม่น้ำโขงสายประธาน จ.เชียงราย และ 3. อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และอุทยานแห่งชาติทับลาน จ.สระบุรี นครราชสีมา ปราจีนบุรี และนครนายก โดยมอบหมายให้ กองอาสารักษาดินแดน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และอุทยานแห่งชาติทับลาน ในการขับเคลื่อนการคุ้มครองสินทรัพย์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย 3) แผนแม่บทการคมนาคมขนส่งทางน้ำ เพื่อเป็นกรอบโครงการพัฒนา ปรับปรุงฟื้นฟูการขนส่งทางน้ำให้เกิดความปลอดภัยในการเดินเรือ สนับสนุนการพัฒนาจังหวัดริมน้ำโขง และเสริมสร้างร่วมมือในการขนส่งทางน้ำระหว่างประเทศสมาชิก เป็นต้น ทั้งนี้ จะมีการสรุปผลการหารือ ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการฯ เสนอต่อคณะผู้แทนไทยเพื่อใช้เป็นกรอบท่าทีในการเจรจาในการประชุมร่วมกับประเทศสมาชิกต่อไป
ขณะเดียวกัน ยังได้ประชุมติดตามสถานการณ์น้ำโขงที่เข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง ซึ่งคาดว่าระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะมีค่าอยู่ระหว่างค่าระดับน้ำเฉลี่ยของทุกสถานี รวมถึงข้อห่วงกังวลเรื่องความผันผวนของระดับน้ำที่ไม่แน่นอน ที่ประชุมจึงมีมติให้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) วิเคราะห์ ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงอย่างใกล้ชิด รวมถึงแจ้งข้อมูลให้หน่วยงาน และจังหวัดริมน้ำโขงที่อาจได้รับผลกระทบ ทราบล่วงหน้าเพื่อการเตรียมการรับมือสถานการณ์ ตามที่ทางการจีนได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลน้ำโขงตลอดทั้งปีของเขื่อนจิ่นหงและหม่านอัน ตั้งแต่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา
ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังได้ร่วมกันติดตามสถานะและพิจารณาการดำเนินการตาม PNPCA โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม สปป.ลาว ซึ่งเริ่มต้นเมื่อ 30 ก.ค. 63 ที่ผ่านมา โดยฝ่ายไทยมีข้อห่วงกังวลเรื่องที่ตั้งของโครงการซึ่งอยู่ใกล้ประเทศไทยมาก โดยล่าสุด สทนช. ได้ส่งข้อมูลให้ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย พิจารณาให้ความเห็นเรื่องเขตแดน รวมถึง สทนช. ได้รับมอบหมายให้รวบรวมความเห็นทางวิศวกรรมจากผู้เชี่ยวชาญ เกี่ยวกับประเด็นที่มีนัยสำคัญที่ส่งผลกระทบกับประเทศไทยและเส้นเขตแดน เพื่อแจ้งผู้พัฒนาโครงการผ่าน MRCS และเห็นชอบให้ผู้พัฒนาโครงการจัดทำข้อมูลเพิ่มเติม พร้อมเสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบให้มีความชัดเจน ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังได้มอบหมายให้ สทนช. ติดตามข้อมูลโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนภูงอย ของ สปป.ลาว อย่างใกล้ชิด และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมให้ความเห็น พร้อมกันนี้ ได้มีมติเห็นว่าควรเสนอในกรอบเวทีการเจรจาประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงต่อท่าทีประเทศไทยให้มีการดำเนินกระบวนการการแจ้ง การปรึกษา หารือล่วงหน้า และข้อตกลง (PNPCA) โครงการนี้ ภายหลังสิ้นสุดกระบวนการ PNPCA โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคามแล้ว
"โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนภูงอย ตั้งอยู่ที่แขวงจำปาศักดิ์ ห่างจากเมืองปากเซ 18 กม. ห่างจากปากแม่น้ำมูล 57.3 กม. กำลังการผลิตรวม 728 เมกะวัตต์ เป็นโครงการล่าสุดที่ สปป.ลาว ได้เสนอโครงการดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการ PNPCA ที่สำคัญโดยโครงการตั้งอยู่ห่างจาก อ.โขงเจียม ไปทางด้านท้ายน้ำอาจจะมีผลกระทบที่จากน้ำเท้อ การอพยพของปลา ตะกอน และลักษณะการไหลของน้ำได้ ที่ประชุมจึงเน้นย้ำ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามข้อมูลผลกระทบอย่างใกล้ชิด เพื่อเข้าสู่กระบวนการเวทีเจรจาให้เกิดผลชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมถึงมาตรการในการป้องกันผลกระทบก่อนเข้าสู่กระบวนการ PAPCA ต่อไป"ดร.สมเกียรติ กล่าว