กลุ่มมิชลินและบริษัทสัญชาติแคนาดา 'ไพโรเวฟ' (Pyrowave) ผสานพลังเพื่อเร่งขับเคลื่อน
นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีการรีไซเคิลขยะพลาสติกออกสู่ตลาดให้เร็วขึ้น
- ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะผลักดันเทคโนโลยีดังกล่าวเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมอย่างเร่งด่วน
- เทคโนโลยีนี้มุ่งเพิ่มสัดส่วนการใช้วัสดุที่ยั่งยืน ทั้งในการผลิตยางล้อของมิชลินและใน
อุตสาหกรรมอื่นๆ
นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีการรีไซเคิลขยะพลาสติกสู่ภาคอุตสาหกรรม
'ไพโรเวฟ' ผู้บุกเบิกการใช้ไฟฟ้าในกระบวนการทางเคมีและการรีไซเคิลพลาสติก และ 'มิชลิน' ผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีการสัญจรอย่างยั่งยืน ตกลงใจร่วมกันยกระดับนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีการรีไซเคิลขยะพลาสติกสู่ภาคอุตสาหกรรม
ไพโรเวฟ บริษัทสัญชาติแคนาดา ได้ประกาศการทำข้อตกลงร่วมพัฒนากับกลุ่มมิชลิน ทั้งนี้ เทคโนโลยีที่ ไพโรเวฟ พัฒนาขึ้นช่วยให้เกิดความเป็นไปได้ที่จะผลิตสไตรีนรีไซเคิล (Recycled Styrene) จากพลาสติกที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์ แผ่นฉนวนกันความร้อน และ/หรือเครื่องใช้ในครัวเรือนต่างๆ สไตรีนที่ได้จากการรีไซเคิลนี้เป็น'โมโนเมอร์' (Monomer) ที่สำคัญชนิดหนึ่ง ซึ่งใช้ในการผลิตโพลีสไตรีน (Polystyrene) และยางสังเคราะห์สำหรับยางล้อและสินค้าอุปโภคบริโภคจำนวนมาก
ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังเทคโนโลยี ไพโรเวฟ ช่วยให้สามารถรีไซเคิลพลาสติกด้วยการใช้คลื่นไมโครเวฟ เทคโนโลยีนี้แตกต่างจากกระบวนการทางความร้อน (Thermal Process) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะช่วยรีไซเคิลขยะพลาสติกให้กลายเป็นวัตถุดิบคุณภาพสูงด้วยการใช้กระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นรูปแบบพลังงานที่ปัจจุบันมีศักยภาพในการกำจัดคาร์บอนได้สูงสุด นอกจากเทคโนโลยีดังกล่าวจะมีความเที่ยงตรงกว่าเทคโนโลยีทั่วไปแล้ว ยังให้ผลผลิตในปริมาณสูงกว่าซึ่งสามารถนำมาใช้แทนวัตถุดิบตั้งต้นจากน้ำมันหรือก๊าซ
ข้อตกลงร่วมพัฒนาระหว่าง มิชลิน และ ไพโรเวฟ ครั้งนี้จะส่งผลต่อการนำห่วงโซ่คุณค่าใหม่ๆ ไปใช้ในระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนด้านพลาสติก ส่งผลให้เกิดความเป็นไปได้ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่หรือการผลิตสินค้าใหม่ๆ จากพลาสติกรีไซเคิลในภาคยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ หรือยางล้อ
พัฒนาชุดสาธิตทางอุตสาหกรรมภายในปี 2566
มิชลิน และ ไพโรเวฟ จะทำงานร่วมกันตลอดระยะเวลาหลายเดือนข้างหน้าเพื่อผลักดันเทคโนโลยี ไพโรเวฟ เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมอย่างเร่งด่วน โดยมีเป้าหมายที่จะได้รับใบรับรองและเปิดตัวทำตลาดเชิงพาณิชย์ในตลาดต่างๆ ทั่วโลก ข้อตกลงการร่วมพัฒนานี้ซึ่งใช้งบลงทุนทั้งสิ้นมากกว่า 20 ล้านยูโร จะผสานความเชี่ยวชาญของ ไพโรเวฟ เข้ากับทักษะความชำนาญทางอุตสาหกรรมของมิชลิน
เพื่อผลักดันให้การตรวจสอบยืนยันเทคโนโลยีดังกล่าวและการออกใบรับรองผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ทีมงานด้านเทคนิคของมิชลินจะทำงานร่วมกับทีมงานด้านเทคนิคของ ไพโรเวฟ เพื่อพัฒนาชุดสาธิตทางอุตสาหกรรมขึ้นภายในปี 2566 โดยมิชลินจะเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนและดำเนินการทดลองชุดสาธิตดังกล่าว ทั้งนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวจะเป็นไปตามมาตรฐานขั้นสูงสุดที่กลุ่มมิชลินกำหนดในด้านความปลอดภัย การดำเนินงาน และสมรรถนะ
มุ่งเพิ่มสัดส่วนการใช้วัสดุที่ยั่งยืน ทั้งในการผลิตยางล้อของมิชลินและในอุตสาหกรรมอื่นๆ
หลังจากประเมินผลมาเป็นเวลา 1 ปี มิชลินไม่เพียงได้เห็นภาพการทำงานของกระบวนการรีไซเคิลดังกล่าว แต่ยังได้ทดลองนำตัวอย่างสไตรีนที่ได้จากการรีไซเคิลมาใช้เป็นองค์ประกอบของยางมิชลิน กระบวนการผลิตโพลีเมอร์ขึ้นมาใหม่นี้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ของกลุ่มมิชลินและเป้าหมายในการผลิตสินค้าที่ยั่งยืน
โซเนีย อาร์ติเนียน-เฟรดู (Sonia Artinian-Fredou) รองประธานบริหาร ฝ่ายบริการพร้อมโซลูชั่นและวัสดุไฮเทค ของกลุ่มมิชลิน เปิดเผยว่า "การร่วมพันธมิตรครั้งนี้สะท้อนถึงกลยุทธ์ที่ยั่งยืนของกลุ่มมิชลิน ซึ่งมีเป้าหมายที่จะผลิตยางล้อด้วยวัสดุที่มีความยั่งยืนมากขึ้นและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ในช่องทางการรีไซเคิลต่างๆ ทั้งนี้ เราเชื่อในศักยภาพของเทคโนโลยีไพโรเวฟและมีวิสัยทัศน์สอดคล้องกันในการขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อมุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น"
โจเซลีน ดูเซต์ (Jocelyn Doucet) ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร ไพโรเวฟ กล่าวว่า "การร่วมพันธมิตรครั้งนี้เป็นสัญญาณของการเริ่มต้นยกระดับเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยอาศัยความชำนาญและความแข็งแกร่งทางเทคนิคของกลุ่มมิชลิน อีกทั้งพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ครั้งนี้ยังสะท้อนถึงความน่าสนใจและศักยภาพของการใช้ไฟฟ้าในกระบวนการทางเคมี?ทั้งในเชิงสิ่งแวดล้อมและเชิงพาณิชย์?สำหรับผู้ที่ต้องการมีบทบาทด้านห่วงโซ่คุณค่าระดับโลก การร่วมพันธมิตรกับมิชลินส่งผลให้เราอยู่ในจุดที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าเพื่อทำให้เกิดวัสดุแห่งอนาคตอย่างยั่งยืน"
กี่ยวกับไพโรเวฟ
ไพโรเวฟ เป็นผู้บุกเบิกการใช้ไฟฟ้าในกระบวนการทางเคมีด้วยคลื่นไมโครเวฟที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ "คาร์บอนฟุตฟริ้นท์" ต่ำ ทั้งยังเป็นผู้นำในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนด้านพลาสติกและการรีไซเคิลทางเคมีด้วยคลื่นไมโครเวฟ เพื่อให้สามารถนำพลาสติกที่ผ่านการบริโภคและการใช้งานทางอุตสาหกรรมกลับมาทำให้เป็นพลาสติกใหม่ ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าสูงสุด แพลทฟอร์มเทคโนโลยีการแปลงสภาพโพลีเมอร์ให้กลับคืนสู่สภาพดั้งเดิมเชิงเร่งปฏิกิริยาด้วยคลื่นไมโครเวฟพลังสูง (High-Power Microwave Catalytic Depolymerization Technology Platform) ซึ่งเป็นสิทธิบัตรเฉพาะของไพโรเวฟ เป็นความก้าวหน้าขั้นสูงสุดในระดับโลก และปัจจุบันยังเป็นนวัตกรรมแถวหน้าในวงการพลาสติกยุคใหม่ การที่เทคโนโลยีไพโรเวฟสามารถแปรรูปพลาสติกให้กลับคืนอยู่ในรูปโมเลกุลเหมือนกับวัสดุตั้งต้น ทำให้การรีไซเคิลพลาสติกเป็นไปได้อย่างไม่สิ้นสุด ทั้งยังเป็นโซลูชั่นด้านระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ตอบโจทย์ความท้าทายระดับโลกในเรื่องการรีไซเคิลพลาสติกอีกด้วย
เกี่ยวกับมิชลิน
มิชลิน ในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมยางรถยนต์ มุ่งมั่นส่งเสริมการสัญจรของลูกค้าอย่างยั่งยืน ออกแบบและจัดจำหน่ายยางที่เหมาะกับการใช้งานมากที่สุด ตลอดจนให้บริการและโซลูชั่นที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า ซึ่งครอบคลุมการให้บริการทางดิจิทัล การจัดทำคู่มือและแผนที่สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อสัมผัสประสบการณ์ที่แตกต่างไม่เหมือนใคร รวมถึงการพัฒนาวัสดุทางเทคโนโลยีขั้นสูงสำหรับอุตสาหกรรมการสัญจร กลุ่มมิชลินมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองแกลร์มง-แฟร็องประเทศฝรั่งเศส และมีสำนักงานสาขาอยู่ใน 170 ประเทศ โดยมีพนักงาน 127,000 คนทั่วโลก และมีโรงงานผลิตยาง 69 แห่ง ซึ่งผลิตยางรวมกันได้สูงถึง 200 ล้านเส้นในปี 2562
การลงนามร่วมเป็นพันธมิตรระหว่าง มิชลิน และ ไพโรเวฟ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563
(ภาพจากซ้ายไปขวา)
- โซเนีย อาร์ติเนียน-เฟรดู (Sonia Artinian-Fredou) รองประธานบริหาร ฝ่ายบริการพร้อมโซลูชั่น และวัสดุไฮเทค ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการบริหารกลุ่มมิชลิน
- โจเซลีน ดูเซต์ (Jocelyn Doucet) ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร ไพโรเวฟ
- เอริค ฟิลิปป์ ไวเนสส์ (Eric Philippe Vinesse) รองประธานบริหาร ฝ่ายวิจัยและพัฒนา ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการบริหารกลุ่มมิชลิน
อุปกรณ์ไพโรเวฟ