บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ แนะ เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทยควรให้ความสำคัญกับการผลิตอาหารปลอดภัยตลอดห่วงโซ่การผลิต เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปหลังการแพร่ระบาดของ Covid-19 เน้น "การบริโภคเพื่อสุขภาพ" ที่ สด สะอาด ถูกหลักอนามัย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการปนเปื้อน รวมถึงรูปแบบการบริโภคที่เปลี่ยนสู่วิถี "Cooking at Home"
ก่อนไวรัสโควิด19 ระบาดทั่วโลก การบริโภคกุ้งส่วนใหญ่คือการรับประทานในร้านอาหาร ที่ซื้อกุ้งสด กุ้งแช่แข็ง จำนวนมากไว้เป็นวัตถุดิบ แต่การ Lockdown อยู่บ้านช่วงโรคระบาดทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกหันมาซื้อกุ้งจากร้านค้าปลีก เพื่อนำกลับไปทำอาหารที่บ้านเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแทนการรับประทานในร้าน จึงเป็นโอกาสดีสำหรับกุ้งไทยรวมถึงประเทศผู้ส่งออกอื่นๆ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ที่แปรรูปสินค้าได้ดี
น.สพ.สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจสัตว์น้ำซีพีเอฟ กล่าวว่า ผู้บริโภคในปัจจุบัน นอกจากจะต้องการสินค้าที่ได้มาตรฐาน รับรองความปลอดภัยและอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่ถูกสุขอนามัยแล้ว ยังต้องการจุดเด่นอื่นๆ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า เช่น กระบวนการผลิตไม่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ ตามแนวทางความยั่งยืน
ซีพีเอฟ ในฐานะผู้ผลิตกุ้งแบบครบวงจร ตั้งแต่การปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์กุ้ง ฟาร์มเพาะฟักและอนุบาลลูกกุ้ง ฟาร์มเลี้ยงกุ้ง อาหารกุ้ง ตลอดจนแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารปลอดภัยตามมาตรฐานสากล โดยให้ความสำคัญทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเลือกสถานที่ตั้งฟาร์มต้องไม่อยู่ในบริเวณป่าชายเลน ตามข้อกำหนดของ Aquaculture Stewardship Council : ASC ขณะที่วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหารกุ้งต้องมาจากแหล่งที่ยั่งยืนได้รับการรับรอง MarinTrust Standard ซึ่งเป็นมาตรฐานการจัดหาวัตถุดิบสัตว์น้ำที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้
นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ยังได้พัฒนาระบบการเลี้ยงกุ้งในโรงเรือนระบบปิดแบบครบวงจร พร้อมกับการพัฒนาบริหารจัดการฟาร์มด้วยระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ Biosecure System เพื่อป้องกันการระบาดของโรคกุ้ง ทำให้เลี้ยงกุ้งได้ตลอดทั้งปี และนำเทคโนโลยีกรองน้ำแบบ Ultra Filtration เพื่อกรองเชื้อโรคที่ปนมากับน้ำ ควบคู่การบำบัดน้ำเลี้ยงด้วยเทคโนโลยี Biofloc ทำให้น้ำในฟาร์มมีคุณภาพที่ดี สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งหมด โดยไม่ปล่อยน้ำเสียออกสู่ภายนอก ซึ่งเป็นการบริหารและใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธภาพและประโยชน์สูงสุด อีกทั้งยังช่วยป้องกันโรคติดต่อได้เป็นอย่างดี กุ้งจึงแข็งแรง ปลอดโรค ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง นอกจากนี้ยังดีต่อสิ่งแวดล้อม เพราะลดการดึงน้ำจากธรรมชาติอีกด้วย
"ธุรกิจสัตว์น้ำของ ซีพีเอฟ ยังตั้งเป้าว่าฟาร์มของบริษัททั้งหมดจะต้องไม่ทิ้งน้ำออกสู่ธรรมชาติ หรือที่เรียกว่า Zero discharge โดยใช้ระบบน้ำหมุนเวียน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกเรื่องความยั่งยืน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ผู้บริโภคในปัจจุบันให้ความสำคัญควบคู่ไปกับความปลอดภัยของอาหาร คุณภาพสินค้า และตรวจสอบย้อนกลับได้" น.สพ.สุจินต์ กล่าว
ซีพีเอฟ ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างความยั่งยืนในห่วงโซ่การผลิตในธุรกิจสัตว์น้ำ เช่น Seafood Business for Ocean Stewardship (SeaBOS), Global Dialogue on Seafood Traceability (GDST), Global Sustainable Seafood Initiative (GSSI) และคณะพัฒนาระบบการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงไทย(Thai Sustainable Fisheries Roundtable) หรือ TSFR ในการสร้างความยั่งยืนทางทะเลตามเป้าหมายการอนุรักษ์ระบบนิเวศสู่การผลิตอาหารทะเลด้วยความรับผิดชอบ ตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งที่มา และมีส่วนร่วมในการปรับปรุงและพัฒนาการประมงเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน
น.สพ.สุจินต์ เสริมว่า นอกจากการผลิตที่ได้คุณภาพ สะอาด ปลอดภัยแล้ว บริษัทยังดำเนินโครงการ ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน มีเป้าหมายในการอนุรักษ์ ปกป้องและฟื้นฟู ความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศป่าชายเลน ซึ่งโครงการในระยะแรกสามารถอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนไปแล้วรวม 2,388 ไร่ ในพื้นที่5 จังหวัด คือ ระยอง สมุทรสาคร สงขลา พังงา และชุมพร และดำเนินการในระยะที่ 2 ต่อเนื่อง ระหว่างปี พ. ศ. 2562 - 2566 ที่ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูป่าโกงกางในพื้นที่อ่าวไทย ตัว ก. จังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 14,000 ไร่ เพื่อช่วยแก้ปัญหาเรื่องการกัดเซาะชายฝั่ง
ทั้งนี้ ความสำเร็จของโครงการระยะที่ 1 ช่วยฟื้นฟูพื้นที่ป่าให้กลับมาสมบูรณ์ มีต้นไม้และสัตว์หลากหลายชนิดได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนโดยรอบ จากการทำประมงชายฝั่ง และการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
ด้าน นายโรบินส์ แมคอินทอช รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจสัตว์น้ำ กล่าวว่า โควิด19 ทำให้ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกหยุดชะงักอย่างไม่เคยมีมาก่อน ทั้งเส้นทางการค้า และช่องทางการขาย นอกจากนี้ แต่ละประเทศจะหันมาให้ความสำคัญกับการผลิตในประเทศมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากพึ่งพาผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะสินค้าจำเป็น เช่น อาหาร จากต่างประเทศเป็นหลัก จึงอาจเกิดนโยบายกีดกันทางการค้าและการปกป้องธุรกิจในแต่ละประเทศมากขึ้นในอนาคต
การลงทุนฟาร์มกุ้ง ระบบปิด Homegrown ของซีพีเอฟ ในรัฐฟลอริด้า สหรัฐอเมริกา จึงเป็นทางเลือกที่ดี ในการลดความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้บริโภคกุ้งรายใหญ่ นอกจากนี้ ซีพีเอฟจะสามารถส่งกุ้งสดคุณภาพดีให้กับลูกค้า ในสหรัฐฯ ได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้สินค้ามีความโดดเด่น และแตกต่างจากผลิตภัณฑ์กุ้งส่วนใหญ่เป็นกุ้งที่แช่แข็งมาจากอเมริกากลาง และเอเชีย
นายโรบินส์ เสริมว่า เทรนด์ในอุตสาหกรรมกุ้งต่างๆ เช่น การทำฟาร์มกุ้งอย่างยั่งยืน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การผลิตที่อาหารที่ใส่ใจความปลอดภัย และการใช้เครื่องจักร เพื่อลดจำนวนแรงงาน ซึ่งเป็นเทรนด์ที่มีมาก่อนการระบาดก็ยังจะดำเนินต่อไป