จากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยที่ปัจจุบันมีทิศทางดีขึ้น ผู้ประกอบการต่างคาดหวังและมองเห็นโอกาสที่ระบบเศรษฐกิจไทยจะสามารถขับเคลื่อนเดินหน้าได้ต่อไป โดย "ทีเอ็มบีและธนชาต" พร้อมเป็นพันธมิตรที่คอยสนับสนุนภาคธุรกิจให้ฟื้นตัวได้โดยเร็วและเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการติดอาวุธความรู้ เสริมแกร่งให้แก่ผู้ประกอบการกลุ่มต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเอสเอ็มอี
LEAN Supply Chain อาวุธที่ไม่เคยล้าหลัง รับมือเศรษฐกิจถดถอย
นายเสนธิป ศรีไพพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เป็นความตั้งใจของทีเอ็มบีและธนชาต ที่อยากติดอาวุธทางความรู้ สร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับลูกค้า เพื่อเติบโตไปด้วยกัน โดยโครงการ LEAN Supply Chain by TMB I Thanachart เป็นการนำความรู้ทางวิชาการ มาทำให้ลูกค้าเรียนรู้ได้ง่ายผ่านการเวิร์คช็อป ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้จริงในธุรกิจ โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านซัพพลายเชน มาร่วมเสริมความรู้ แม้ว่าโครงการนี้จะจัดมาเกือบ 10 ปี และผ่านการอบรมแล้ว 16 รุ่น เมื่อมีสถานการณ์โควิด-19 เกิดขึ้น หลักการเรื่อง LEAN Supply Chain ก็ยังไม่ล้าหลัง โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจถดถอยซึ่งการหารายได้เพิ่มนั้นยาก แต่หากธุรกิจสามารถนำหลักการของ LEAN มาช่วยลดรายจ่าย และลดการสูญเสียในการบริหารจัดการ ก็จะสร้างผลกำไรได้
"แนวคิดเรื่อง LEAN ถือเป็น New Normal ที่ทุกธุรกิจจะต้องเรียนรู้ในการลดต้นทุนและลดการสูญเสีย โดยหลักการเรื่อง LEAN อยู่ในชีวิตประจำวัน อยู่ในการบริหารงานของทุกคน เพียงทุกคนต้องรู้จักปรับตัวก็จะทำให้การบริหารต้นทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งโครงการนี้ทั้งรูปแบบการเรียนผ่านออนไลน์และเวิร์คช็อป ที่ให้ประโยชน์กับลูกค้าได้จริง ๆ และทำให้เติบโตไปกับเราด้วยกัน" นายเสนธิปกล่าว
ติดอาวุธผู้ประกอบการอุตสาหกรรมก่อสร้าง แรงขับเคลื่อนสำคัญเศรษฐกิจไทย
โครงการ LEAN Supply Chain by TMB | Thanachart รุ่นที่ 16 จัดขึ้นให้กับอุตสาหกรรมผู้รับเหมาและวัสดุก่อสร้าง เน้นการตั้งรับเชิงรุกปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจชะลอตัว โดย นางพรรณวลัย อินทราพิเชฐ หัวหน้าบริหารการตลาดลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบี กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมรับเหมาและวัสดุก่อสร้าง เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างมาก โดย GDP ของอุตสาหกรรมนี้อยู่ที่ 7.7% หรือมีมูลค่าราว 1.3 ล้านล้านบาท (ข้อมูลจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB ณ เดือนตุลาคม 2563) มีผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย อาทิ ผู้รับเหมาก่อสร้าง ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง และผู้ค้าวัสดุก่อสร้างทั้งค้าส่งและค้าปลีกจำนวนกว่า 50,000 ราย โดยต้นทุนของอุตสาหกรรมนี้ค่อนข้างสูงราว 80%
"ทุก ๆ 1% ของต้นทุนที่ลดลง จะเป็นเงินราว 10,536 ล้านบาท ทำให้ GDP ของประเทศไทยเพิ่มขึ้น 0.06% เพียงแค่เราลดต้นทุนให้ได้ ก็จะเห็นว่าทำให้รายได้เพิ่มขึ้นอีกมาก โครงการนี้ประกอบด้วย 2 ทฤษฎีคือ LEAN การกำจัดการสูญเปล่า และ SIX SIGMA คือ การลดของเสียระหว่างกระบวนการผลิต เราต้องการลดสิ่งที่ไม่จำเป็นและลดการสูญเสียสิ่งที่ไม่ใช้ในการกระบวนการผลิต ซึ่งหากทำตลอดทั้งซัพพลายเชน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ จะสามารถลดต้นทุนได้มากกว่า ดังนั้นภายในรุ่นอบรมเดียวกันจึงต้องมีลูกค้าทุกขนาดเข้ามาร่วมด้วย ทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่และเอสเอ็มอี" นางพรรณวลัยกล่าว
ตอบโจทย์ธุรกิจ กำจัดจุดอ่อนในกระบวนการบริหารจัดการ
นายศุภศิริ พฤกษานานนท์ จากบริษัท คลีโนลซอล ทราฟฟิค (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ออกแบบผลิตติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยด้านการจราจรทุกชนิด กล่าวว่า โครงการ LEAN Supply Chain by TMB I Thanachart ช่วยเพิ่มองค์ความรู้ที่ตอบโจทย์ธุรกิจขององค์กร ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้ ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยจะนำความรู้ที่ได้ไปช่วยลดสิ่งที่สูญเสีย หรือจุดอ่อนในจุดต่าง ๆ ของกระบวนการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็น การเก็บสต็อกมากเกินไป กระบวนการทำซ้ำที่ทำให้เกิดต้นทุนเพิ่ม ลดการสูญเสียรอบด้าน รวมทั้งเพิ่มศักยภาพหรือเพิ่มประสิทธิผลของทีมงาน
"ขั้นตอนของธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ หากไม่มีการวัดผล หรือการประเมิน จะไม่เห็นจุดอ่อนทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเกิดความสูญเสีย แต่หากมีการประเมินผลตลอดเวลา หรือมองหาปัญหาและนำปัญหาที่เจอมาแก้ไขจะทำให้องค์กรแข็งแรงขึ้น เช่น บางขั้นตอนการผลิต เราสามารถตัดหรือลดบางขั้นตอนลงได้ หากเราจัดการดี ๆ มีการควบคุมการผลิตก็จะลดได้หลายอย่าง โดยการอบรมครั้งนี้ได้ความรู้เยอะมาก มีหลายเรื่องนำไปปรับใช้ได้ เช่น การวางระบบการทำงานใหม่ ลดขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็น การฝึกอบรมพนักงานให้ตรงกับประสิทธิภาพก็จะก่อให้เกิดประสิทธิผลกับลูกค้า สามารถลดต้นทุนได้เลยทันที" นายศุภศิริกล่าว
เปิดมุมมองใหม่ นำ LEAN Supply Chain ไปประยุกต์ใช้ช่วยลดต้นทุน
นางสาวนิลลดา สุวิวัฒน์ชัย จากห้างหุ้นส่วน ต.วิวัฒน์ค้าวัสดุภัณฑ์ (1987) หนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้าง กล่าวว่า สิ่งที่ได้จากการอบรมในครั้งนี้นอกจากความรู้ทางวิชาการแล้ว ยังได้ฟังแนวคิดใหม่ๆ จากเพื่อนที่ร่วมอบรม สามารถนำแนวคิดไปปรับใช้ในองค์กรในส่วนที่เราสามารถลงไปจัดการแก้ไขได้ เช่น การจัดการระบบปฎิบัติงานต่างๆ ระบบบัญชี ระบบการขนส่ง แม้แต่การสื่อสารผิดพลาดระหว่างคนในองค์กร หรือบุคลากรที่ไม่เข้าใจในเนื้องาน สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการเสียหาย ล่าช้า ในการส่งมอบสินค้า ความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ คือสิ่งที่เรามักจะมองข้ามไป แท้จริงแล้ว มันคือการสูญเสียที่ซ่อนอยู่ ถ้ามีการแก้ไขให้ดีขึ้นเราก็สามารถลดต้นทุนทั้งเงินและเวลาลงได้อย่างแน่นอน
โครงการ LEAN Supply Chain by TMB I Thanachart นอกจากจะเป็นการติวเข้มเสริมความรู้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางธุรกิจทั้งซัพพลายเชนแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ยังสามารถนำไปต่อยอดธุรกิจกับผู้ร่วมโครงการในอุตสาหกรรมที่มีเครือข่ายซัพพลายเชนเชื่อมโยงกัน ช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน สนับสนุนธุรกิจเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืนอีกด้วย