SPOT IT RIGHT: เจาะลึกโอกาสในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 25, 2020 15:11 —ThaiPR.net

การแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้เร่งให้เกิดวิวัฒนาการของอีคอมเมิร์ซสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ในประเทศไทย โดยที่เปอร์เซ็นต์การเติบโตของการใช้จ่าย FMCG ออนไลน์ของประเทศไทยเพิ่มขึ้นสองเท่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่การเข้าถึง (penetration) ของอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้น 50% (ข้อมูลนับจากต้นปีมาถึงเดือนกรกฎาคม 2020 เทียบกับปี 2019) จากรายงานล่าสุดของบริษัทนีลเส็นซึ่งเป็นด้านการวัดและการวิเคราะห์ข้อมูลระดับโลก

รายงานล่าสุดของนีลเส็นภายใต้หัวข้อ Spot It Right: เจาะลึกโอกาสในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ได้เข้ามาดูการเติบโตในปัจจุบันของการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคบนอีคอมเมิร์ซและเผยข้อมูลว่าการแพร่ระบาดครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการซื้อของออนไลน์ของผู้บริโภคในประเทศไทยอย่างไร ซึ่งพฤติกรรมในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคออนไลน์ของผู้บริโภคในช่วงโควิดในแต่ละพื้นที่นั้นมีความแตกต่างกัน โดนที่นักช้อปในกรุงเทพมหานครมีการเข้าไปซื้อของทางออนไลน์บ่อยขึ้น (+22%) แต่มีการใช้จ่ายต่อเที่ยวน้อยลง(-14%) ในทางตรงกันข้ามนักช้อปออนไลน์ในเขตเมืองจะมีจำนวนครั้งที่เข้าไปจับจ่ายน้อยลง(-22%) แต่มียอดใช้จ่ายต่อเที่ยวสูงขึ้น (+19%)

อาหารและเครื่องดื่มคือกลุ่มสินค้าหลักที่ผลักดันให้เกิดการเติบโตของ FMCG อีคอมเมิร์ซ หนึ่งในปัจจัยที่ชัดเจนที่สุดในการดึงให้เกิดการเติบโตของการซื้อสินค้า FMCG ทางออนไลน์คือการเติบโตของการซื้อกลุ่มสินค้าด้านอาหาร โดยเฉพาะอาหารแห้ง อุปกรณ์ช่วยในการปรุงอาหาร และอาหารสำเร็จรูป ที่มีการเติบโตของมูลค่าทางออนไลน์เพิ่มขึ้น +244%, +87% และ +30% ตามลำดับ (ข้อมูลนับจากต้นปีมาถึงเดือนกรกฎาคม 2020 เทียบกับปี 2019) และในบรรดากลุ่มสินค้าที่มีการเติบโตทางออนไลน์ในเชิงบวกทั้งหมด เราจะเห็นว่ากลุ่มสินค้าที่เป็นอาหารนั้นมีสัดส่วนเป็น 78% เพิ่มขึ้น 2% จากช่วงก่อนโควิด นอกจากนี้เมื่อเจาะลึกลงไปในกลุ่มสินค้า 10 อันดับแรก ที่มีการเติบโตทางออนไลน์เพิ่มขึ้นในขณะที่ออฟไลน์น้อยลง เราพบว่า 8 ใน 10 หมวดหมู่นั้นมาจากหมวดอาหารด้วยกันทั้งสิ้น

ปกติแล้วเราจะเห็นผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล (Personal Care) เป็นผู้นำในมูลค่าการขายและการเติบโตของสินค้าอุปโภคบริโภคออนไลน์มาตลอดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่ครั้งนี้เราได้เห็นถึงอัตราการเติบโตของสินค้าประเภทของชำและอาหารที่พุ่งขึ้นสูงกว่าผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล และแม้ว่ามูลค่าของสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มทางออนไลน์จะยังน้อยกว่าหมวดหมู่ที่ไม่ใช่อาหาร แต่ก็เป็นกลุ่มออนไลน์ที่กำลังเติบโต

"กลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มมีสัดส่วนคิดเป็น 84% ของมูลค่าทั้งหมดในตลาด FMCG ออนไลน์และออฟไลน์ นั่นทำให้กลุ่มสินค้านี้มีโอกาสในการเติบโตสำหรับผู้ค้าปลีกออนไลน์อีกมาก เราเห็นว่าขณะนี้การช้อปปิ้งสินค้าประเภทอาหารออนไลน์นั้นได้รับความนิยมมากขึ้นจากสถานการณ์ทำให้เป็นโอกาสของผู้ค้าปลีกและเจ้าของสินค้าในการรักษาและขยายฐานนักช้อปออนไลน์ของตน" กล่าว ภรวดี พรมิ่งมาศ ผู้อำนวยการ หัวหน้าฝ่ายข้อมูลเชิงลึกผู้บริโภค, บริษัท เดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด "กุญแจสำคัญคือการค้นหาว่าอะไรคือสิ่งที่จำเป็นในการกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคและตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันในภารกิจการจับจ่ายของผู้บริโภคเนื่องจากความคุ้นชิน การเปิดรับ และการมีส่วนร่วมของนักช้อปในการซื้อของชำทางออนไลน์จะเป็นตัวผลักดันกระแสออนไลน์เติบโตอย่างต่อเนื่อง"

ความปลอดภัย ความสะดวกสบาย ความหลากหลาย และการประหยัดเวลา

ข้อมูลเผยให้เห็นสาเหตุหลักที่ดึงดูดผู้บริโภคให้ซื้อสินค้าทางออนไลน์ ได้แก่ การประหยัดเวลา ความสะดวกสบาย ความปลอดภัย และความหลากหลายของสินค้า ในขณะที่เหตุผลหลักที่ทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าแบบออฟไลน์คือความคุ้นเคย ประสบการณ์ ความต้องการที่จะออกไปข้างนอก และเพื่อหลีกเลี่ยงค่าจัดส่งหรือการรอที่เกิดขึ้นจากการจัดส่ง

พฤติกรรมการจับจ่ายและการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยการระบาดของโควิดจะฝังแน่นในกลุ่มผู้บริโภคที่ห่วงเรื่องความปลอดภัยและเลือกหลีกเลี่ยงการเดินทางไปที่ร้านค้า รวมถึงหลีกเลี่ยงโอกาสในการอยู่ท่ามกลางผู้คนเยอะๆ อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้บริโภคที่รู้สึกว่าตนเองได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดและต้องควบคุมรายจ่ายนั้น การซื้อของออนไลน์ทำหน้าที่เป็นมากกว่าแค่กลไกการซื้อและส่งมอบของโดยที่หลีกเลี่ยงการสัมผัส

สำหรับผู้บริโภคกลุ่มนี้ช่องทางออนไลน์ เป็นช่องทางสำคัญในการค้นหาข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบราคา (41%) และค้นหาโปรโมชั่นที่เหมาะสม (40%) ก่อนการตัดสินใจซื้อสินค้าทางออนไลน์

เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยดีขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม เราเห็นได้ว่าความหลากหลายของสินค้ามีความสำคัญมากขึ้นในการผลักดันผู้บริโภคให้ซื้อสินค้าทางออนไลน์ ข้อมูลยังแสดงให้เห็นว่าอุปสรรคหลักๆ ที่ทำให้ผู้คนยึดติดกับการซื้อของออฟไลน์คือเรื่องของการจัดส่งของ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนในการจัดส่งสินค้า การที่สินค้าบนออนไลน์หมดสต็อก หรือระยะเวลาในการจัดส่ง

"เราได้เห็นปัจจัยที่ดึงดูดผู้บริโภคให้ซื้อของทางออนไลน์และเรารู้ว่ายังมีอุปสรรคอีกมากมายที่เจ้าของสินค้าและร้านค้าปลีกต้องก้าวข้ามให้ได้ แต่การที่จะรักษาเทรนด์ของการเติบโตนี้ให้ได้อย่างยั่งยืนนั้น ทั้งผู้ค้าปลีกและเจ้าของสินค้า FMCG ออนไลน์จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการรับมือความต้องการที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคด้วยการสร้างข้อเสนอของสินค้าที่แตกต่างออกไปในแต่ละเส้นทางการช็อปปิ้งทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ไม่ว่าจะเป็นด้านเวลา ความสะดวก ความหลายหลายของสินค้า และความปลอดภัย พวกเขาจะต้องสร้างประสบการณ์โดยรวมและเพื่อสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าของตัวเองอย่างแท้จริง" กล่าวภรวดี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ