ม.มหิดล ได้อันดับ 44 ของเอเชีย จากการจัดอันดับ QS Asia University Rankings 2021

ข่าวทั่วไป Thursday November 26, 2020 11:16 —ThaiPR.net

จากการประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยล่าสุดของ QS Asia University Rankings 2021 เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยมหิดลมีคะแนนที่ดีขึ้นถึง 6 ตัวชี้วัด จากทั้งหมด 11 ตัวชี้วัด อยู่ในอันดับที่ 44 ในภูมิภาคเอเชีย จากเดิมอันดับที่ 48

ซึ่งจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของ QS Asia University Rankings 2021 จากตัวชี้วัด "International Research Network" ที่วิเคราะห์จากการใช้ข้อมูลจากการตีพิมพ์ร่วมกับนักวิจัยชาวต่างประเทศในฐานข้อมูล Scopus ในปีนี้มหาวิทยาลัยมหิดลได้ 91.1 คะแนน เป็นอันดับที่42 ของเอเชีย และมีตัวชี้วัดที่ทำคะแนนในหัวข้อเพิ่มเติมจากปีที่ผ่านมาคือ สัดส่วนของอาจารย์ที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาเอกต่อจำนวนอาจารย์ทั้งหมด (Staff with PhD) โดยมหาวิทยาลัยมหิดลได้ 95.9 คะแนน เป็นอันดับที่ 52 ของเอเชีย

นอกจากนี้ จากการจัดอันดับในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลยังมีคะแนนที่ดีขึ้นจากตัวชี้วัดในด้านการได้รับการยอมรับจากนายจ้าง (Employer Reputation) อัตราส่วนของจำนวนนักศึกษาทุกระดับต่อจำนวนอาจารย์ทั้งหมด (Faculty Students) การได้รับการยอมรับในแวดวงวิชาการ(Academic Reputation) และจำนวนนักศึกษาแลกเปลี่ยน (Inbound Exchange Students)

ซึ่งที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดลมีจำนวนผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารที่จัดอยู่ใน Q1 Quartile ซึ่งเป็นลำดับแรก (top position) ในฐานข้อมูลScopus มากเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย โดยมีผลงานวิจัยโดดเด่นที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อสังคมและเชิงพาณิชย์ อาทิ "การรักษาโรคธาลัสซีเมียให้หายขาดด้วนการบำบัดยีนเป็นครั้งแรกของโลก" โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรเดช หงส์อิง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล "สารชีวโมเลกุลสำหรับกระตุ้นการวางไข่ในแม่พันธุ์กุ้งโดยไม่ตัดตา" และ "แม่กุ้งก้ามกรามแปลงเพศต้นแบบ (M1)" โดย ดร.สุพัตรา ตรีรัตน์ตระกูล สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ฯลฯ

นอกจากนี้ ได้มีการลงนามความร่วมมือทางด้านวิชาการและวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ การแพทย์ และเทคโนโลยี ตลอดจนด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ กับมหาวิทยาลัยชั้นนำในภูมิภาคเอเชียกว่า 200 แห่ง

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การที่มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้นแสดงให้เห็นถึงคุณภาพงานวิจัย และการมีผลกระทบสูงจากการได้รับอ้างอิง(citation) ซึ่งเป็นมิติสำคัญที่ใช้ในการประเมิน สำหรับแนวทางบริหารจัดการมหาวิทยาลัยมหิดลต่อไปในอนาคต คือ "การพยายามทำให้ดีขึ้นกว่าสิ่งที่มีอยู่" โดยเน้นงานวิจัยที่มีคุณค่าและประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้น

ซึ่ง มหาวิทยาลัยมหิดล โดย กองแผนงาน ร่วมกับ กองบริหารงานวิจัยและกองวิเทศสัมพันธ์ ได้ริเริ่มโครงการ Ranking Activities เพื่อจัดตั้งRanking Unit สำหรับการสนับสนุนและผลักดันนโยบายสำคัญที่มีผลต่อการเพิ่ม Ranking ของมหาวิทยาลัย รวมทั้งจัดทำฐานข้อมูล และเครือข่ายที่เกี่ยวกับการจัดอันดับของมหาวิทยาลัย และสร้างEcosystem ของระบบงานด้าน Ranking Unit เพื่อเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับส่วนงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดลต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ