เด็กอาชีวะโชว์ฝีมือตัดเย็บผ้าไหมไทย ในงาน มหกรรมผ้าไหมไทยสู่เส้นทางโลก

ข่าวทั่วไป Friday November 27, 2020 10:16 —ThaiPR.net

ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงานมหกรรมผ้าไหม 2563 "ไหมไทยสู่เส้นทางโลก ปีที่ 10" โดย ดร.วิษณุ กล่าวว่า สืบเนื่องจากช่วงต้นเดือนธันวาคมของทุกปีถือเป็นช่วงเวลาสำคัญของคนไทย คือ วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เป็นวันพ่อแห่งชาติ และเป็นวันชาติไทย ปีนี้รัฐบาลมีความคิดว่าควรมีการจัดงานเฉลิมฉลองและรำลึกถึงโอกาสสำคัญนั้น จึงมีมติครม.กำหนดให้วันที่ 1-6 ธันวาคม 2563 จัดเทศกาลเฉลิมฉลอง 6 วัน 6 คืน โดยสถานที่หลักคือ บริเวณสนามไชย ขนานไปกับพระบรมมหาราชวัง ไปถึงสวนสราญรมย์ มิวเซียมสยาม โดยแบ่งพื้นที่เป็นโซน 5 โซน ได้แก่ โซนการแสดง โซนพระราชทาน โซนที่แสดงถึงพระราชกรณียกิจ พระมหากรุณาธิคุณ โซนอาหาร และ โซนการแสดงของวัยรุ่น วัยใส

ดร.วิษณุ กล่าวต่อไปว่า สำหรับ "งานมหกรรมผ้าไหม 2563 ไหมไทยสู่เส้นทางโลก ปีที่ 10" จะเป็นไฮไลท์หนึ่งของเทศกาลเฉลิมฉลอง แต่แยกไปจัดที่หอประชุมกองทัพเรือ ในวันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม 2563 เวลาตั้งแต่ 18.00 น. จะเป็นงานที่นำผ้าไหมไทยจากโครงการศิลปาชีพ ที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชีนีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวบ้านผลิตไปออกแบบตัดเย็บ โดยมีคณะทูตานุทูต กงสุลใหญ่ และกงสุลกิตติมศักดิ์จากประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ในประเทศไทย ร่วมเดินแบบเป็นนายแบบนางแบบกิตติมศักดิ์ ซึ่งขณะนี้ได้รับคำตอบแล้วว่า ปีนี้จะมีนายแบบนางแบบกิตติมศักดิ์มาร่วมเดินแบบมากถึง 100 ประเทศ

"การจัดงานมหกรรมผ้าไหม 9 ครั้งที่ผ่านมา เราจะใช้นักออกแบบหรือดีไซน์เนอร์ชื่อดังจากต่างประเทศเป็นผู้ออกแบบ เพื่อช่วยโปรโมทผ้าไหมของไทย แต่เนื่องจากปีนี้ทั่วโลกต้องเผชิญกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชี้อไวรัสโคโรน่า หรือ โควิด 19 จึงไม่สามารถเชิญดีไซน์เนอร์จากต่างประเทศมาออกแบบได้ จึงเป็นการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสโดยเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา จากสถาบันการศึกษาในประเทศไทยมาร่วมออกแบบและตัดเย็บชุดเสื้อผ้าให้แก่คณะทูตานุทูต กงสุลใหญ่ และกงสุลกิตติมศักดิ์จากประเทศต่าง ๆ โดยเป็นสถาบันอาชีวศึกษา 55 แห่ง และสถาบันอุดมศึกษา 15 แห่ง ถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเด็กไทยที่จะโชว์ฝีมือในเวทีโลก

ด้านนางคนึงลักขณ์ แสงประเสริฐ ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาธุรกิจและบริการ กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้เป็นการเปิดโอกาส และเวทีระดับชาติที่ให้นักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา สาขาวิชาด้านการออกแบบ และสิ่งทอ ได้นำความรู้ และทักษะวิชาชีพนำเสนอสู่สาธารณชน อีกทั้งเป็นการแลกเปลี่ยน เรียนรู้วัฒนธรรมของแต่ละประเทศ ซึ่งจะช่วยให้นักเรียน นักศึกษาได้รับประสบการณ์เพิ่มขึ้น นอกจากด้านการออกแบบชุดเครื่องแต่งกายผ้าไหมแล้ว สถานศึกษาของอาชีวศึกษากาญจนาภิเษก วิทยาลัยช่างทองหลวง ยังได้รับเลือกให้นำเครื่องประดับจากฝีมือของนักเรียน นักศึกษา ไปใช้ประกอบชุดเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ