PwC เผยรายงานล่าสุด Asia Pacific's Time ชี้เอเชียแปซิฟิกต้องยึด 5 เสาหลักในการแก้ปัญหาความท้าทายที่คุกคามการเติบโตของภูมิภาค รวมทั้งเรียกร้องให้ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคสังคมร่วมกันปฏิบัติตั้งแต่ตอนนี้เพื่อให้มั่นใจได้ว่าทุกประเทศในภูมิภาคจะสามารถมีอนาคตที่มีความก้าวหน้าและยั่งยืนร่วมกัน
นาย เรย์มันด์ ชาว ประธาน PwC ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เปิดเผยถึงรายงาน Asia Pacific's Time ที่ทำการศึกษาถึงภารกิจเร่งด่วนที่ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคสังคมต้องร่วมกันปฏิบัติตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อสานต่อความสำเร็จของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สั่งสมมากว่าสามทศวรรษว่า ในช่วงที่ผ่านมาเอเชียแปซิฟิกเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เผชิญกับปัจจัยต่าง ๆ ที่คุกคามการเติบโตอย่างไม่หยุดหย่อน โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้าย และกลายเป็นตัวกระตุ้นให้ทุกฝ่ายต้องหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยรายงานได้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของการมีผู้นำที่แข็งแกร่งที่มีวิสัยทัศน์ใหม่ ๆ สนับสนุนโดยนโยบายที่เอื้อให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาล องค์กร และ สังคม
"ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกไม่สามารถอาศัยการเติบโตแบบอยู่เฉย ๆ ด้วยความหวังที่ว่าการเติบโตทางด้านปัจจัยพื้นฐาน เช่น การขยายตัวของความเป็นเมือง กำลังคน กระแสการค้า และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นจะยังคงดึงดูดการลงทุนในระดับที่เพียงพอในภาวะที่ท้าทายอย่างในเวลานี้ได้อีกต่อไป ในทางตรงกันข้ามผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องรู้จักที่จะพึ่งพาตัวเองให้มากขึ้น และต้องเสริมวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ของการลงทุนทั่วโลกที่มีเอเชียแปซิฟิกเป็นศูนย์กลางให้มากขึ้น"
"หลักการเติบโตแบบใหม่ที่ว่านี้ต้องอาศัยความยืดหยุ่น การเป็นพันธมิตรและการเป็นเจ้าของร่วมกัน ความโปร่งใส และการมีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ร่วมกันเป็นกุญแจสำคัญ" นาย ชาว กล่าว
ทั้งนี้ รายงานฉบับนี้ถูกจัดทำขึ้นผ่านมุมมองของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและความท้าทายต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็น ภาวะการกีดกันทางการค้า ความตึงเครียดทางภูมิศาสตร์การเมือง ประชากรศาสตร์ที่มีการเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยที่คุกคามการเติบโตของภูมิภาค
อย่างไรก็ดี รายงานได้ระบุถึง 5 เสาหลักสำคัญที่มีความเชื่อมโยงกันซึ่งทั้งผู้นำ ผู้บริหาร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ทุกภาคส่วนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต้องนำไปปฏิบัติเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น ดังนี้
เสาหลักที่ 1 - ก้าวไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล: ธุรกิจต้องตระหนักถึงการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ดิจิทัลและต้องจำลำดับความสำคัญของการประยุกต์ใช้โซลูชันเทคโนโลยีที่เหมาะสมทั่วทั้งห่วงโซ่คุณค่าของตน อย่างไรก็ตาม บริษัทต่าง ๆ จะต้องมีมาตรการป้องกันความเสี่ยงและมีความสามารถในการรับมือกับภัยคุกคามในโลกไซเบอร์ด้วย โดยในส่วนของภาครัฐ ต้องออกกฎระเบียบข้อบังคับที่รัดกุมและมีการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในการต่อต้านอาชญากรรมทางไซเบอร์
เสาหลักที่ 2 - กระตุ้นการเติบโตขององค์กรในระดับภูมิภาค: องค์กรต่าง ๆ ควรพิจารณาการใช้กลยุทธ์ระดับภูมิภาคที่ขับเคลื่อนด้วยขีดความสามารถโดยพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐาน 3 ด้าน ประกอบด้วย ประสิทธิภาพการดำเนินงาน สินค้าและนวัตกรรมด้านกระบวนการ และความเป็นเลิศในการออกสู่ตลาด ควบคู่ไปกับการประยุกต์ใช้ดิจิทัลและการขยายการลงทุนไปสู่ภูมิภาคในภาคบริการ
เสาหลักที่ 3 - ปรับสมดุลห่วงโซ่อุปทานและส่งเสริมการใช้นวัตกรรม: บริษัทต่าง ๆ ควรใช้โอกาสที่มีในการพิจารณาปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานของตนและขยายไปสู่การใช้เครือข่ายในระดับภูมิภาคที่มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น ห่วงโซ่อุปทานในระดับภูมิภาคที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีเหล่านี้ จะช่วยให้องค์กรสามารถบริหารการจัดซื้อจัดจ้าง การผลิต และเครือข่ายการจัดจำหน่ายของตนได้ดีขึ้น และยังช่วยทำให้เกิดความโปร่งใสและสร้างความยืดหยุ่นให้มีมากขึ้น
เสาหลักที่ 4 - ขยายกำลังแรงงานที่มีความพร้อมสำหรับอนาคต: โปรแกรมการยกระดับทักษะที่ตรงกับความต้องการเฉพาะขององค์กรและพนักงานจะช่วยปรับปรุงความสามารถของแรงงานเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จทางเศรษฐกิจได้ ในขณะที่การเป็นพันธมิตรกันระหว่างรัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมจะยิ่งช่วยให้การยกระดับทักษะของบุคลากรมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลควรเป็นผู้นำในการจัดให้ระบบการศึกษาเป็นภารกิจสำคัญสำหรับการเติบโตในอนาคตของประเทศ รวมทั้งมีการสื่อสารที่ชัดเจนถึงบทบาทและหน้าที่สำหรับธุรกิจและสังคมด้วย
เสาหลักที่ 5 - สร้างความยั่งยืนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่ออนาคตของการลดคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์: เอเชียแปซิฟิกต้องสวมบทบาทการเป็นผู้นำในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนกว่า โดยภูมิภาคควรสร้างให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่จะช่วยให้โลกเดินหน้าไปสู่การปล่อยแก๊สเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ผ่านการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและสนับสนุนการร่วมมือกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น หน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม และสังคม
ทั้งนี้ ตามที่ได้มีการลงนามในข้อตกลงหุ้นส่วนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (The Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ซึ่งถือเป็นข้อตกลงหุ้นส่วนความร่วมมือที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยประเทศต่าง ๆ ในเอเชียแปซิฟิกจำนวน 15 ประเทศ รวมถึงไทยได้ลงนามในข้อตกลงหุ้นส่วนความร่วมมือทางเศรษฐกิจนี้ รายงาน Asia Pacific's Time ของ PwC นำเสนอมุมมองการเจริญเติบโตของภูมิภาคผ่าน 5 เสาหลักสำคัญดังกล่าว โดยหวังช่วยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ขับเคลื่อนอนาคตที่มีความยั่งยืนและเข้าใจถึงบทบาทใหม่ที่ตนต้องมี อย่างไรก็ดี รายงานของ PwC ฉบับนี้ ตระหนักดีถึงความแตกต่างหลากหลายของภูมิภาค ซึ่งกลยุทธ์การเติบโตที่นำเสนอสามารถถูกนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ของแต่ละประเทศเพื่อความสำเร็จต่อไป
ด้านนาย นิพันธ์ ศรีสุขุมบวรชัย หัวหน้าสายงาน Clients and Markets และหุ้นส่วนสายงานภาษีและกฎหมาย บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า
"ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก เพราะนอกจากจะเป็นภูมิภาคที่ขนาดโครงสร้างประชากรมีสัดส่วนคิดเป็น 60% ของประชากรโลกแล้ว ยังมีการเปลี่ยนผ่านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจนกลายมาเป็นภูมิภาคชั้นนำของโลกอย่างเช่นทุกวันนี้ อย่างไรก็ดี ความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวขึ้นในปัจจุบันได้ส่งผลให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแต่ละประเทศ ยิ่งต้องหันมาปรับตัวและร่วมมือกันในด้านต่าง ๆ เพื่อนำพาเศรษฐกิจ ธุรกิจ และสังคมไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น โดยไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกที่สำคัญของภูมิภาคนี้
"แม้ว่าเอเชียแปซิฟิกจะประกอบไปด้วยประเทศต่าง ๆ ที่มีความแตกต่างกันในหลายมิติ แต่เราเชื่อว่า หากทุกภาคส่วนนำ 5 เสาหลักการเติบโตนี้ไปปฏิบัติก็จะช่วยให้เราสามารถสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้นได้ สำหรับการลงนามในข้อตกลงหุ้นส่วนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคครั้งนี้ น่าจะช่วยให้ไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ได้รับประโยชน์ในการขยายตลาดการค้าและการลงทุนระหว่างกัน รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสใหม่ ๆ ของผู้ส่งออกสินค้าไทยในการขยายตลาดไปยังต่างประเทศอีกด้วย" นาย นิพันธ์ กล่าว