นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.3) ลงพื้นที่รับฟังปัญหา อุปสรรค มอบนโยบายในการดำเนินงานโครงการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด จังหวัดบึงกาฬ โดยเน้นความต้องการและการมีส่วนร่วมของประชาชน แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมและรวดเร็วทันเหตุการณ์ พร้อมเดินหน้า "โครงการพัฒนาพื้นที่ชุมชนชายแดนบุ่งคล้า อำเภอบุ่งคล้า จังหวัดบึงกาฬ" "โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำโขง บ้านบึงกาฬใต้" และ "โครงการพัฒนาตามผังเมืองรวมเมืองบึงกาฬ อำเภอบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ (แลนด์มาร์ค)" ของกรมโยธาธิการและผังเมือง ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของพื้นที่ และยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในจังหวัดบึงกาฬ
นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า หลังจากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันและมอบหมายให้รับผิดชอบติดตามการดำเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด จังหวัดสกลนคร นครพนม และบึงกาฬซึ่งวันนี้เป็นการประชุมคณะกรรมการฯ จังหวัดบึงกาฬ เพื่อติดตาม รับฟังปัญหา ความต้องการและบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจังหวัดบึงกาฬ ทั้งนี้จังหวัดบึงกาฬ เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยพื้นที่ชุมชนชายแดนบุ่งคล้า สามารถพัฒนาระบบโลจิสติกส์ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขง อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปการค้า การบริการและการท่องเที่ยวกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งนโยบายในการเชื่อมโยงเมืองชายแดนของประชาคมอาเซียน
ดังนั้น จึงกำชับให้กรมโยธาธิการและผังเมือง เร่งดำเนิน "โครงการพัฒนาพื้นที่ชุมชนชายแดนบุ่งคล้า อำเภอบุ่งคล้า จังหวัดบึงกาฬ" เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ให้สามารถสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเชิงพื้นที่ และเป็นการเชื่อมโยงกับเมืองท่าพระบาท สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พร้อมยกระดับชุมชนชายแดนบุ่งคล้าให้มีมาตรฐานรองรับการเชื่อมโยงในระดับสากล นอกจากนี้ยังมี "โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำโขง บ้านบึงกาฬใต้" และ การก่อสร้าง "แลนด์มาร์ค" ของจังหวัดบึงกาฬภายใต้ "โครงการพัฒนาตามผังเมืองรวมเมืองบึงกาฬ อำเภอบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ" บนพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ บริเวณริมถนนข้าวเม่า อำเภอเมือง ซึ่งจะทำให้จังหวัดบึงกาฬ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศและเป็นแหล่งการค้าการลงทุนที่เชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคอินโดจีน
ด้าน นายสุวพงษ์ ภูนาคพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนและพัฒนาตามผังเมืองกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า กรมฯ ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ชุมชนชายแดนบุ่งคล้า อำเภอบุ่งคล้า จังหวัดบึงกาฬ ด้วยการปรับปรุงพื้นที่ริมแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นการต่อยอดจากโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำโขง (เดิม) ประกอบด้วยงานปรับปรุงถนนและระบบระบายน้ำ งานระบบไฟฟ้า เพื่อรองรับปริมาณการจราจรและสอดคล้องกับกิจกรรมของพื้นที่ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งบริเวณปากห้วยสหาย พร้อมทางเดินเท้าและราวกันตก งานปรับปรุงทางเดินและภูมิทัศน์ริมแม่น้ำโขง ทางจักรยาน ลานกิจกรรม ศาลาพักผ่อนชมทัศนียภาพริมโขงตลอดแนวเส้นทาง จุดชมวิวพร้อมอาคารอเนกประสงค์ สะพานข้ามปากห้วยสหาย ทั้งนี้เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเป็นชุมชนเมืองการค้าชายแดนที่ได้มาตรฐานในระดับสากล สนับสนุนบทบาทการท่องเที่ยวจังหวัดบึงกาฬให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ซึ่งจะนำไปสู่การกระจายรายได้สร้างฐานรากเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชนให้ดีขึ้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดตั้งงบประมาณ ปี 2564 นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดการบูรณาการการพัฒนาพื้นที่อย่างเป็นระบบและยั่งยืนในบริเวณพื้นที่ก่อสร้างแลนด์มาร์ค อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงมีนโยบายให้กรมฯ ดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำโขง บริเวณบ้านบึงกาฬใต้ ความยาว 2,985 เมตร โดยแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ปีงบประมาณ ในปีงบประมาณ 2563 ความยาว 1,235 เมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างเริ่มดำเนินการก่อสร้าง และได้รับงบประมาณก่อสร้างต่อเนื่องปี 2564 ในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จบรรจบเข้ากับเขื่อนเดิม
นายวิษณุ อยู่ดี ผู้อำนวยการสำนักสถาปัตยกรรม กรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เล็งเห็นศักยภาพของพื้นที่ จึงมีนโยบายให้กรมฯ ดำเนินการพัฒนาพื้นที่หลังเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำโขง บริเวณบ้านบึงกาฬใต้ โดยการออกแบบก่อสร้าง "แลนด์มาร์ค" ของจังหวัดบึงกาฬ ภายใต้ "โครงการพัฒนาตามผังเมืองรวมเมืองบึงกาฬ อำเภอบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ" ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการศึกษาออกแบบโครงการเบื้องต้น โดยมีแนวคิดในการออกแบบและองค์ประกอบ ดังนี้
ปี 2565 หากแล้วเสร็จจะเกิดประโยชน์สูงสุดกับจังหวัดบึงกาฬ ภาคอีสานตอนบน และอาจจะทำให้จังหวัดบึงกาฬเป็นเมืองต้นแบบให้กับจังหวัดอื่นๆ ในการพัฒนาให้เป็นเมืองน่าอยู่อาศัยอย่างยั่งยืนตลอดไป