วศ.ทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการทดสอบ Total hardness (as CaCO3)

ข่าวทั่วไป Monday November 30, 2020 11:03 —ThaiPR.net

ศูนย์บริหารจัดการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์บริการจัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ (proficiency testing, PT) ได้จัดส่งตัวอย่างน้ำ ให้แก่ ห้องปฏิบัติการที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 251 ห้องปฏิบัติการ เพื่อให้ห้องปฏิบัติการดำเนินการทดสอบผลการวัดความกระด้างของน้ำ ในรายการ Total hardness (as CaCO3) and Chlorides (as Cl) in water และส่งผลกลับมายังกลุ่มทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ ของกรมวิทยาศาสตร์บริการ ภายในวันที่ 14 ธันวาคม 2563 เพื่อประเมินผลทางสถิติเปรียบเทียบผลการวัดระหว่างห้องปฏิบัติการต่อไป

การหาความกระด้างของน้ำ หาจากปริมาณของแคลเซียมคาร์บอเนต ซึ่งมีจำนวนโมลเท่ากับจำนวนโมลของไอออนของโลหะต่างๆ ทั้งหมดที่เป็นสาเหตุของความกระด้างของน้ำ ปกติเราจะรายงานเป็นจำนวนมิลลิกรัมของ แคลเซียมคาร์บอเนตต่อน้ำ 1 ลิตร ค่าที่ได้นี้เป็นค่าที่เรานิยมใช้ในหน่วยของส่วนในล้านส่วน Part Per Million (PPM) คลอไรด์ (Chloride) อยู่ในรูป Cl- เป็นสารอนินทรีย์ที่พบมากอยู่ในรูปของสารประกอบของแคลเซียม แมกนีเซียม หรือโซเดียม โดยเกลือของคลอไรด์จะละลายอยู่ในน้ำ หากคลอไรด์ในน้ำมีความเข้มข้นสูง จะส่งผลให้เกิดการกัดกร่อนท่อส่งน้ำที่ทำจากโลหะ ส่งผลให้ปริมาณเหล็กที่ละลายในน้ำเพิ่มสูงขึ้น

ประโยชน์ของการเข้าร่วมกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ

  • ทำให้มั่นใจในผลการทดสอบว่ามีความแม่นยำ ถูกต้อง
  • ยืนยันสมรรถนะและความสามารถของห้องปฏิบัติการทดสอบ เพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้าของห้องปฏิบัติการและยกระดับคุณภาพสินค้าให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล
  • ชี้บ่งปัญหาภายในห้องปฏิบัติการ นำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาความสามารถของห้องปฏิบัติการ เช่น ปัญหาจากกระบวนการวัดหรือทดสอบ การใช้เครื่องมือ หรือความสามารถของบุคลากร เป็นต้น
  • เป็นประโยชน์ต่อห้องปฏิบัติการในการจัดการความเสี่ยง และเป็นเครื่องมือสำหรับปรับปรุงประสิทธิภาพและบริหารความเสี่ยงของห้องปฏิบัติการ
  • ใช้ประกอบการยื่นขอการรับรองตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ