วันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี เป็น "วันรัฐธรรมนูญ" เพื่อรำลึกถึงรัฐธรรมนูญฉบับแรก ปี พ.ศ.2475 ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศไทย โดยเป็นการเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญต่อ "การเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์" บนพื้นฐานของ"ความเสมอภาค" และ "เสรีภาพ" ของปวงชนชาวไทย
อาจารย์ ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล (IHRP) และประธานมูลนิธิการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองไทย (THAI CIVIC EDUCATION FOUNDATION - TCE FOUNDATION) กล่าวว่า ตามหลักการที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี ทุกคนมีสิทธิ และเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงเสรีภาพในการนับถือศาสนา เสรีภาพที่จะมีความปลอดภัยในเนื้อตัวร่างกาย รวมทั้งเสรีภาพในการไม่ถูกกล่าวหา หรือถูกจับกุมคุมขังโดยไม่มีมูลเหตุที่ชัดเจน ตลอดจนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งหลักการเหล่านี้จะต้องได้รับการเคารพ ปกป้อง และส่งเสริมโดยรัฐบาล แต่ขณะเดียวกันประชาธิปไตยจะเบ่งบานแค่ไหน ขึ้นอยู่ว่าคนในสังคมนั้นๆ จะยอมรับในหลักการและคุณค่าเรื่องสิทธิและเสรีภาพมากน้อยแค่ไหนด้วย
ในสังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตยมาก รัฐก็จะมีการจำกัดเสรีภาพน้อย อย่างเรื่องสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นได้ ตราบใดที่ความคิดเห็นนั้นๆ ไม่ทำให้เกิดความเกลียดชังในสังคม และไม่เป็นการส่งเสริมให้มีการทำร้ายผู้ที่เห็นต่าง หรือทำให้เกิดความรุนแรง ก็จะไม่เป็นการแสดงออกที่เกินขอบเขต โดยในสังคมประชาธิปไตยควรจะสร้างให้มี "พื้นที่ปลอดภัย" ในการแสดงความคิดเห็น โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งการ "เคารพสิทธิมนุษยชน" ซึ่งพื้นที่ปลอดภัย ควรหมายรวมถึงทั้งทางร่างกาย และจิตใจ โดยขอบเขตของการยอมรับความเห็นต่างขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะ และการเรียนรู้ร่วมกันของสังคมนั้นๆ
อาจารย์ ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ กล่าวต่อไปว่า เรื่องของประชาธิปไตยพัฒนามาพร้อมกับเรื่องของสิทธิมนุษยชน ดังนั้นการที่จะให้ประชาชนมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการเมืองการปกครองได้อย่างเต็มที่ รัฐก็ต้องเคารพสิทธิของประชาชน และพลเมืองควรมีความรู้ในเรื่องการใช้สิทธิทั้งสิทธิที่ตัวเองควรได้รับ และการเคารพสิทธิของผู้อื่น ซึ่งที่ โครงการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล (IHRP) ได้จัดการเรียนการสอนเรื่องสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา โดยมีเนื้อหาเรื่องแนวคิด ทฤษฎี กลไก และการปฎิบัติเกี่ยวกับ "หลักสิทธิมนุษยชน" รวมทั้งข้อโต้เถียง และข้อท้าทาย หลายคนไม่รู้ว่า สิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์มีทั้งสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เช่นสิทธิในการได้รับการศึกษา สิทธิการบริการทางด้านสาธารณสุข สิทธิทางด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง ในฐานะประชาชนที่มีหน้าที่จ่ายภาษีเพื่อให้รัฐนำไปใช้ในการบริหารจัดการบริการขั้นพื้นฐาน หากเรารู้ว่าเรามีสิทธิอะไรบ้าง ก็จะสามารถตรวจสอบผู้มีอำนาจได้ว่าทำหน้าที่เคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิของเราอย่างไร เพื่อให้ทุกคนสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ นอกจากนั้น ยังมีวิชาที่สอนให้นักศึกษาได้มีทักษะในการจัดการความขัดแย้ง และการสื่อสารอย่างสันติด้วย
อาจารย์ ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ ได้รับทุนจาก The British Academy ภายใต้โครงการ Newton Advanced Fellowship และจาก สกว. เพื่อทำวิจัยเป็นลักษณะ action research ในหัวข้อเรื่อง "Philosophical Enquiry as a Pedagogy for Teaching Critical Thinking and Democratic Citizenship in Higher Education" ร่วมกับ Dr. Joshua Forstenzer อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัย Sheffield ประเทศสหราชอาณาจักร โดยกิจกรรมหนึ่งของโครงการคือการจัดทำเว็บไซต์เพื่อสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ด้านความเป็นพลเมืองและความคิดเชิงวิพากษ์ทาง https://thaicope.wordpress.com เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านบทความออนไลน์ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งสามารถติดตามได้ทาง FB: สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาม.มหิดล