นายประพาส เหลืองศิรินภา รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. กล่าวตามที่สื่อสังคมออนไลน์ตั้งข้อสังเกตถึงสีที่ กทม. ใช้ทาตีเส้นทางข้ามหลายพื้นที่ มีคุณภาพเพียงพอหรือไม่ เนื่องจากใช้งานได้ไม่ถึงเดือนก็ดำและไม่สะท้อนแสงแตกต่างจากถนนของกรมทางหลวง ว่า การจัดทำเครื่องหมายจราจรบนพื้นทางในเขตกรุงเทพฯ และการปรับปรุงตีเส้นจราจร กทม. ดำเนินการตามมาตรฐาน มอก 542-2549 ซึ่งใช้วัสดุสีเทอร์โมพลาสติกเช่นเดียวกับกรมทางหลวง แต่ด้วยสภาพการจราจรที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่มีผลต่อสภาพของสีบนผิวจราจร โดยพื้นที่กรุงเทพฯ มีปริมาณการจราจรหนาแน่นตลอดเวลา ส่งผลให้รถเคลื่อนตัวช้า ทำให้เกิดแรงเสียดทานต่อผิวจราจรมาก ก่อให้เกิดรอยดำของยางรถยนต์ รวมถึงมลภาวะต่าง ๆ เช่น ฝุ่น ควันไอเสีย ไอน้ำมันจากรถยนต์ โดยเฉพาะบริเวณตลาด ทางแยกที่มีการจราจรขัดติด มีรถจอดเป็นเวลานาน มีรถขนถ่ายสินค้าอาหาร น้ำขยะเปียกชื้นเมื่อผสมกับคราบน้ำมันจากเครื่องยนต์จึงทำให้สีเครื่องหมายจราจรและเส้นจราจรหมองคล้ำ
ซึ่งถนนของกรมทางหลวงที่อยู่ในเขตเมือง เช่น ถนนรามอินทรา ถนนงามวงศ์วาน ก็มีสภาพสีที่ผ่านการใช้งานเช่นเดียวกับ กทม. ส่วนความหนานูนของสี ซึ่งใช้สีเทอร์โมพลาสติกที่ต้องใช้ความร้อนในการหลอมละลาย ก่อนทาลากสีลงบนผิวถนนและรอให้แห้งแต่ในประเทศไทยเป็นเมืองร้อน ในช่วงเวลากลางวันบนผิวถนนจะมีอุณหภูมิสูงมาก ซึ่งมีผลต่อสี ประกอบกับเมื่อมีสิ่งสกปรก คราบน้ำมัน มลภาวะไปยึดเกาะตัวสี และการกดทับของล้อรถยนต์ในสภาพการจราจรติดขัดจะส่งผลให้สียุบเรียบลง อย่างไรก็ตาม สำนักการจราจรและขนส่งได้ประสานสำนักงานเขต ล้างทำความสะอาดเส้นจราจรและเครื่องหมายจราจรบนทางอย่างต่อเนื่อง เพื่อความสะอาดและความคมชัดของเครื่องหมายจราจร ทั้งยังช่วยป้องกันการลื่นไถลบนผิวทาง ทางข้าม และขจัดฝุ่นละอองมลภาวะในเขตเมืองด้วย