ห่วงโซ่อุปทานหรือ Supply Chain ถือเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญที่มีความซับซ้อนอย่างมากสำหรับธุรกิจค้าปลีก ไม่ว่าจะดำเนินงานด้วยการบริหารจัดการเองภายในบริษัท หรือจ้างบริษัทภายนอกก็ตาม โจทย์ที่ท้าทายเสมอมาคือ การควบคุมต้นทุนและความเสี่ยงภายใต้สภาพแวดล้อมที่ไม่แน่นอน และการปรับตัวให้เท่าทันพฤติกรรมผู้บริโภคยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในปีนี้ การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยิ่งกระตุ้นให้ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกต้องกลับมาทบทวนกลยุทธ์เดิมให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
จากความท้าทายเหล่านี้ Kevin Flynn และ Khaarthigha Subramanian ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีในส่วนธุรกิจค้าปลีกของ ThoughtWorks บริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีระดับโลก ได้ทำการวิเคราะห์ 5 ปัจจัยสำคัญที่ธุรกิจต้องคำนึงถึงในการพัฒนา Supply Chain ให้มีความยืดหยุ่น เพื่อเป็นแนวทางการปรับตัวไว้ดังนี้
1. การบริหารและทำงานเชิงกลยุทธ์ร่วมกับผู้ผลิต (Supplier)
แม้ธุรกิจค้าปลีกส่วนใหญ่จะมีความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งกับผู้ผลิตและคู่ค้าด้านการขนส่ง แต่หากต้องการพัฒนาให้ Supply Chain มีความยืดหยุ่นมากขึ้นนั้น ก็จำเป็นที่จะต้องดำเนินงานและประเมินความสัมพันธ์กับแต่ละผู้ผลิตให้เป็นรูปธรรมและมีความโปร่งใสมากขึ้น ทบทวนกลยุทธ์การจัดสรรสินค้าแบบเดิมที่ไร้ความยืดหยุ่น กระจายความเสี่ยงและจัดลำดับความสำคัญให้ชัดเจน จากเดิมที่แต่ละฝ่ายอาจลังเลกับการเผยเป้าหมายและข้อมูลของตัวเอง แต่ในช่วงเวลานี้ ธุรกิจต้องหันมาพูดคุย แบ่งปันแผนสำหรับกรณีฉุกเฉิน และร่วมมือกันในทุกระดับอย่างครบวงจร เพื่อโอกาสในการขยายหมวดหมู่สินค้าที่จำหน่าย เพิ่มประสิทธิภาพในการกระจายสินค้า และพัฒนากระบวนการขายสินค้าไปสู่ความสำเร็จร่วมกัน
2. การประเมินความเสี่ยง
ธุรกิจค้าปลีกโดยทั่วไปอาจประเมินความเสี่ยงปีละครั้งหรือสองครั้ง แต่ COVID-19 เผยให้เห็นความเสี่ยงภายใน Supply Chain ที่ต้องให้ความสนใจโดยละเอียดมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก แต่รวมถึงความเสี่ยงภายในซึ่งมีผลต่อเป้าหมายทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการ ข้อกำหนด เทคโนโลยี และแรงงาน ที่สามารถบริหารจัดการและบรรเทาความเสี่ยงล่วงหน้า
วิธีการประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นใน Supply Chain มีหลายวิธีการ เช่นการพิจารณาแต่ละระดับและฟังก์ชัน ตั้งแต่ผู้ผลิต ไปจนถึงแผนการจัดการคลังสินค้า การกระจายและการขนส่ง อีกวิธีคือการใช้ข้อมูลเพื่อหาปัจจัยความเสี่ยง โดยการตั้งสมมติฐานผ่านคำถามที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดแผนรับมือความเสี่ยงอย่าง "ถ้าเกิดสถานการณ์นี้ขึ้นจะเป็นอย่างไร" (What if?) เช่น "ถ้าความต้องการสินค้าพุ่งสูงขึ้น X% เรามีสินค้าในคลังและพนักงานเพียงพอหรือไม่" หรือ "ถ้ายอดสั่งซื้อออนไลน์เพิ่มขึ้น Y% ในอีกห้าวันข้างหน้า เราจัดเตรียมสินค้าได้เพียงพอและมีความพร้อมในการขนส่งหรือไม่"
3. การประเมินต้นทุนใน Supply Chain ใหม่
ธุรกิจค้าปลีกจำนวนมากประสบปัญหาในการทำความเข้าใจต้นทุนที่แท้จริงของการขนส่งสินค้าในแต่ละขั้นตอน ซึ่งทำให้ไม่สามารถตัดสินใจเชิงพาณิชย์ได้อย่างเฉียบขาด ในหลายๆ ครั้ง แต่ละฟังก์ชันพยายามลดต้นทุนในส่วนของตัวเอง แต่สร้างผลข้างเคียงให้แก่ฟังก์ชันอื่นโดยไม่รู้ตัว เช่นทีมสั่งซื้อสินค้าในปริมาณที่จำกัดเพื่อลดจำนวนรอบของการเคลื่อนย้ายสินค้าในแต่ละวัน แต่ทำให้จำนวนสินค้าที่ขายในร้านไม่เพียงพอ และตามมาด้วยค่าใช้จ่ายในการกระจายสินค้าเฉพาะหน้า ดังนั้น ธุรกิจค้าปลีกควรจะมองปัญหาและโอกาสอย่างรอบด้านเพื่อพัฒนาทางออกที่ตอบโจทย์ในภาพรวม
ต้นทุนสำคัญอย่างหนึ่งของธุรกิจค้าปลีกคือการขนส่งจากร้านค้าถึงผู้บริโภค ซึ่งหลายองค์กรเริ่มพัฒนาศักยภาพทางด้านนี้ เช่นคลังและศูนย์จัดส่งสินค้าย่อย และอาจพัฒนากลยุทธ์การลดต้นทุนใหม่ๆ ต่อไปได้อีก ส่วนอีกหนึ่งต้นทุนที่ควรคำนึงถึงคือค่าขนส่งและบรรจุสินค้าจากคลัง ซึ่งธุรกิจค้าปลีกสามารถพิจารณากลยุทธ์การสรรหาสินค้าใหม่ๆ เช่นเปลี่ยนมารับสินค้าจากผู้ผลิตท้องถิ่นที่สามารถส่งสินค้าตรงถึงร้านหรือผู้บริโภค หรือการรวมสินค้าประเภทต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อการขนส่ง ที่ไม่เพียงแต่ลดต้นทุนเท่านั้น แต่ยังช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้อีกด้วย
4. การปรับเปลี่ยนโดยใช้ Data เป็นแนวทาง (Data-led transformation)
ธุรกิจค้าปลีกที่สามารถปรับเปลี่ยนสู่การดำเนินงานแบบดิจิทัลได้ทั้งองค์กรจะได้เปรียบกว่าธุรกิจที่ทำได้เพียงบางส่วน และไม่สามารถสื่อสารข้อมูลให้ลูกค้าและผู้ผลิตได้อย่างรวดเร็ว เพราะจะเห็นข้อมูลตามเวลาจริง และตัดสินใจก้าวเดินต่อไปได้อย่างชาญฉลาด ทำให้เกิดผลลัพธ์ เช่น
- แต่ละฝ่ายในกระบวนการเห็นภาพบริบทของตลาดในปัจจุบัน ความต้องการในแต่ละช่องทาง และพฤติกรรมการซื้อขายที่เกี่ยวข้อง มากกว่าแค่จำนวนยอดขาย
- แต่ละฝ่ายมีความยืดหยุ่นมากขึ้น สามารถคาดการณ์ต้นทุนและความต้องการที่เหมาะสมกับแต่ละร้านค้าเปรียบเทียบกัน และปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว
- ธุรกิจตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่างๆ ได้รวดเร็วขึ้นจากระบบอัตโนมัติ
อย่างไรก็ตาม ยังมีธุรกิจจำนวนมากที่ยังไม่พร้อมต่อการใช้ข้อมูลให้เกิดประสิทธิภาพ ถือเป็นโจทย์ที่ต้องพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง โดยเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Machine Learning สามารถเข้ามามีบทบาทในระบบและกระบวนการเพื่อให้องค์กรใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างเต็มที่ จากผลสำรวจเดียวกันของ Ericsson ความสนใจของผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์กว่า 60% ให้ความสนใจกับเรื่องการใช้ข้อมูลและ AI ในการขนส่งล่วงหน้า
5. การสร้างระบบที่เข้าถึงข้อมูลได้อย่างครบวงจรในทุกระดับ
นอกจากต้องอาศัยข้อมูลในการลดต้นทุนและคาดการณ์ความต้องการแล้ว ธุรกิจยังต้องทำให้ข้อมูลนั้นสามารถเข้าถึงได้อย่างครบวงจรในทุกระดับด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย โดยผลการสำรวจของ Frost & Sullivan ผู้นำด้าน Supply Chain กว่า 84% ระบุว่าการขาดความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลเป็นความท้าทายใหญ่ที่สุดในการทำงาน เพราะใน Supply Chain มีหลายฝ่ายทำงานร่วมกัน ทำให้เกิดปัจจัยเช่น ความยากลำบากในการบูรณาการข้อมูลจากระบบที่แตกต่างกัน และความกังวลว่าจะขัดแย้งทางธุรกิจ ทั้งที่จริงแล้ว การเข้าถึงข้อมูลได้ของทุกฝ่ายจะช่วยให้เห็นสถานการณ์ตามเวลาจริง แก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดและบรรเทาความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับระดับอื่นๆ
สรุปประเด็นสำคัญ
การปิดเมืองจาก COVID-19 ที่ผ่านมา กระตุ้นให้ผู้นำธุรกิจค้าปลีกต้องดำเนินการเรื่องต่อไปนี้อย่างชัดเจน:
- บริหารกระบวนการทาง Supply Chain ให้ตรงกับกลยุทธ์ขององค์กรในภาพรวม
- ผสมผสานการทำงานฝ่าย Supply Chain เข้ากับฟังก์ชันของลูกค้า และสร้างการวัดผลงานร่วมกัน ซึ่งเน้นที่การตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า
- จัดโครงสร้าง Supply Chain เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการระดับท้องถิ่นและสากล และปรับตามกฎระเบียบ
- ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล เพื่อการเข้าถึงและการร่วมมือกันระหว่างแต่ละฝ่ายในเครือข่ายอย่างครบวงจร
- ปลูกฝังวัฒนธรรมของการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และวงจรการแสดงความคิดเห็น
แม้จะยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาอันซับซ้อนนี้ได้อย่างรวดเร็ว แต่การพัฒนาให้ระบบ Supply Chain เป็นดิจิทัลถือเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยให้ธุรกิจค้าปลีกบรรลุเป้าหมายการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และป้องกันตัวเองจากวิกฤตต่าง ๆ ในอนาคต