ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) พร้อมด้วย ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว.และคณะ ลงพื้นที่จังหวัดน่าน ตรวจเยี่ยมติดตามการดำเนินงาน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ในการดำเนินโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากด้วย Shared service เพื่อพัฒนาอัตลักษณ์จังหวัดน่าน "คืนกำไรสู่สังคมอย่างยั่งยืน Sustainable Creation of Shared Values" พร้อมทั้งเป็นประธานในพิธีเปิดอาคาร "น่านปันสุข" และ Shared service เครื่องสกัดสารสมุนไพรระดับชุมชน ณ วิสาหกิจชุมชน ตำบลน้ำเกี๋ยน อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน โอกาสนี้ ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานร่วมคณะกรรมการดำเนินงานพื้นที่จังหวัดน่าน ผู้บริหาร วว. และหน่วยงานพันธมิตรในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับ พร้อมนำชมผลสำเร็จการดำเนินงานนำ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เข้าไปเพิ่มมูลค่าเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ผู้ประกอบการ SMEs จังหวัดน่านและพื้นที่ใกล้เคียง
พร้อมนี้ รมว.อว.และคณะได้เยี่ยมชมนิทรรศการแสดงผลงานวิจัย พัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี วว. ในจังหวัดน่าน ได้แก่ นิทรรศการห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain ของใบหมี่) เพื่อเป็นพืชอัตลักษณ์ของจังหวัดน่าน ตั้งแต่ต้นน้ำ (ใบหมี่) ในการพัฒนาวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและขยายพันธุ์ใบหมี่ กลางน้ำ (การสกัดและการวิเคราะห์คุณภาพสารสกัด (COA) ) โดยการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตสารสกัดโดยใช้เทคโนโลยีการสกัดสารของ วว. และปลายน้ำ (ผลิตภัณฑ์) ทำให้คุณภาพผลิตภัณฑ์สูงขึ้นและเพิ่มธุรกิจใหม่ คือ เป็นผู้จำหน่ายสารสกัดที่มีคุณภาพ เป็นไปตามมาตรฐานเพื่อการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม
นิทรรศการ Thai Cosmetopoeia วว. ดำเนินงานภายใต้นโยบายแผนการขับเคลื่อนโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ฯ และภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Biobased economy) ด้วย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) โดยเน้นให้นักวิจัยใช้ วทน. ตอบสนองความสามารถสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างธุรกิจของภาคเอกชนและประชาชนได้จริงอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน (Competitive advantage) และความแตกต่าง (Differentiate) จากเอกลักษณ์ไทย ผสมผสานภูมิปัญญา (Local wisdom) ที่ทรงคุณค่า โดยเน้นการสร้างความเข้มแข็งจากภายในสู่ภายนอก
นิทรรศการผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาจาก วว. ทั้งที่พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์และถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นรูปธรรมแล้ว และ นิทรรศการเมล็ดมะไฟจีน จาก บริษัทไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด จากวัตถุดิบทางการเกษตร สู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ
นอกจากนี้ ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ และคณะยังได้เยี่ยมชมสถานที่ผลิตเครื่องสำอาง ชาสมุนไพร พร้อมชมต้นใบหมี่และแปลงสมุนไพร รวมทั้งสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ โดยมี นายชูศิลป์ สารรัตนะ ประธานวิสาหกิจชุมชนชีววิถี นำชมพร้อมบรรยายการดำเนินงานเกี่ยวข้อง โดยชุมชนชีววิถีแห่งนี้เป็นต้นแบบชุมชนแห่งการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพได้อย่างยั่งยืน จากการเริ่มต้นเมื่อปี 2550 ชาวบ้านในชุมชนได้นำวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชนมาใช้ประโยชน์ และใช้สารเคมีให้น้อยที่สุด ผลิตภัณฑ์ที่ได้นอกจากจะปลอดภัยต่อผู้ใช้ ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือน และสร้างโอกาสให้มีรายได้สู่ชุมชน
โอกาสเดียวกันนี้ ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้เป็นประธานในพิธีเปิด อาคาร "น่านปันสุข" และ Shared service เครื่องสกัดสารสมุนไพรระดับชุมชน ผลงานวิจัยและพัฒนาของ วว. ภายใต้การดำเนินโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากฯ วว. นำเครื่องนี้สกัดสารคุณภาพสูงจากใบหมี่ ซึ่งเป็นพืชอัตลักษณ์ของจังหวัดน่าน นอกจากนี้ยังสามารถนำเครื่องสกัดไปประยุกต์ใช้กับสมุนไพรได้หลากหลายชนิด
เครื่องสกัดสารสมุนไพรระดับชุมชน ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1) ชุดถังสกัดใบหมี่ สามารถสกัดใบหมี่ 25 กิโลกรัม ได้สารสกัด 2.5 กิโลกรัม สามารถสกัดตัวยาออกหมดและตัวยาไม่เสื่อมสลาย 2) ชุดถังระเหยชนิดสุญญากาศ สามารถบรรจุสารสกัดได้ 50 ลิตร/ครั้ง อัตราการระเหย 30 ลิตร/ชั่วโมง (50 ? ซ) สามารถนำสารละลายกลับมาใช้ซ้ำได้ ทั้งนี้วิสาหกิจชุมชนชีววิถีนำสารสกัดคุณภาพสูงจากใบหมี่ที่ผ่านการสกัดด้วยเครื่องสกัดสารสมุนไพรระดับชุมชนไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมขนาด 300 กรัม ได้จำนวน 33,000 ขวด และนำไปจำหน่ายในรูปแบบ "สารสกัดคุณภาพสูง" ผ่านงานวิจัยมีใบรับรองผลิตภัณฑ์ จากการที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนชีววิถี ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีสกัด วว. ส่งผลให้กลุ่มมีการยกระดับองค์ความรู้ เกิดการจ้างงานระดับปริญญาตรี รวมทั้งมีการสร้างพันธมิตรและเครือข่ายทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
การพัฒนาเครื่องสกัดสารสมุนไพรระดับชุมชน มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตการเกษตรและพืชอัตลักษณ์ของจังหวัดน่าน โดยการใช้เทคโนโลยี ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเดิมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนชีววิถีจะสกัดสารจากสมุนไพรด้วยวิธีการหมักด้วยเอทานอลและการตุ๋นด้วยความร้อน สารสกัดที่ได้ยังมีความเข้มข้นไม่คงที่ หลังจากที่ วว. เข้ามาถ่ายทอดเทคโนโลยีการสกัดทำให้ปริมาณสารสกัดที่ได้เข้มข้นขึ้น เป็นการเพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังได้ผลการวิเคราะห์คุณภาพสารสกัดอีกด้วย
"...จากการตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของ วว. ในวันนี้ ทำให้เห็นตัวอย่างที่ดีขององค์กรในการใช้งบประมาณที่มีประสิทธิภาพ สามารถผลิตผลงานได้ดีมาก มีการนำองค์ความรู้ถ่ายทอดไปสู่ขุมชน ทำให้ชุมชน พิ้นที่ และประเทศได้ประโยชน์เป็นรูปธรรมสามารถจับต้องได้ อย่างเข่น การนำ วทน. เข้ามาสกัดสารสำคัญใบหมี่ แต่เดิมชาวบ้านจะขายใบได้กิโลกรัมละ 200 บาท แต่เมื่อสกัดสารสำคัญ จะขายสารสกัดได้ถึงกิโลกรัมละ 30,000 บาท จากการลงพื้นที่จังหวัดน่านครั้งนี้มีข้อสังเกตส่วนตัวเห็นว่าภาคการเกษตรกำลังจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น ซึ่งกระทรวง อว. จะมีบทบาทในส่วนนี้ ดังนั้นต่อไปหากมีการตั้งเป็น "หอการศึกษาจังหวัด" โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วน หรืออาจจะตั้งเป็น "วิทยสถานน่านนคร" ขึ้น ก็จะมีการนำงานของกระทรวง อว. เข้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น เป็นการให้ความรู้ไปสู่การเลี้ยงชีพ ยกรายได้ให้สูงขึ้นและยั่งยืน..." ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กล่าว
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต กล่าวถึงก้าวต่อไปในการดำเนินงานของ วว. และพันธมิตรในพื้นที่จังหวัดน่าน ผ่านการขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของ วว. ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง เพิ่มมูลค่าพืชอัตลักษณ์ในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมว่า วว. และจังหวัดน่าน รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ จะร่วมกันบูรณาการผ่านโครงการการใช้เทคโนโลยี ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตการเกษตรและพืชอัตลักษณ์ของจังหวัดน่าน สนับสนุน ส่งเสริม และเสริมสร้างความเข้มแข็ง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน และสังคมสู่ความยั่งยืน มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมทั้งเสริมสร้างความร่วมมือ ในการนำองค์ความรู้ด้าน วทน. ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรและชีวภาพ อาหาร เวชสำอางไทย ผลิตภัณฑ์อื่นๆที่เพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งพัฒนาวิธีบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่จังหวัดน่านให้มีการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า
"?Shared Service เป็นกลไกซึ่ง วว. ได้สร้างขึ้น เพื่อให้ชุมชนมีเครื่องมือ มีเทคโนโลยีที่เหมาะสม ในการเข้าไปเพิ่มปริมาณการผลิต สร้างความเข้มแข็งชุมชนให้ยั่งยืน?" ผู้ว่าการ วว. กล่าวสรุป