เมื่อกล่าวถึง "พื้นที่ปลอดภัย" ส่วนใหญ่จะนึกถึงพื้นที่เพื่อการแสดงออกทางการเมือง แต่ "พื้นที่แห่งสันติภาพ" จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยเพื่อการลดความขัดแย้งและสร้างสุข เพื่อการอยู่ร่วมกันโดยสันติสุข และสันติภาพ
กว่า 5 ปีในการเป็นพระวิทยากรบัณฑิตอาสา วิทยาลัยศาสนศึกษา ม.มหิดล อบรมธรรมะเยาวชนเชิงสร้างสรรค์ พระสุมินทร์ อินตะจักร หรือ "หลวงพี่มิน" หัวหน้าทีมพระวิทยากร "ธรรมะทูเดย์" พระบัณฑิตอาสา วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำเอาประสบการณ์ที่ได้จากการใช้พื้นที่ทำกิจกรรมอบรมเยาวชน ณ "บ้านพี่สอนน้อง" แห่งชุมชนหมู่บ้านต้นลำไย ต.บ้านใหม่ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี มาทำวิจัย เรื่อง "การพัฒนาธรรมะสถานสาธารณะ "บ้านพี่สอนน้อง" เพื่อสันติภาพ กรณีศึกษาบ้านพี่สอนน้อง ต.บ้านใหม่ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาระดับปริญญาโท หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชิตชยางค์ ยมาภัย อาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา โดย "หลวงพี่มิน" ได้นำเสนอผลงานการวิจัยดังกล่าวในการประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 17 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เมื่อเร็วๆ นี้
ธรรมสถานสาธารณะชุมชน "บ้านพี่สอนน้อง" จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2551 โดย พระครูสังฆภารพิสิฏฐ์ (พระอาจารย์มาโนช ธมฺมครุโก) ซึ่งได้แนวคิดจากพระอุปัชฌาย์ (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ป.อ.ปยุตฺโต) ปราชญ์ของไทย โดยจัดสร้างบนพื้นที่บ้านเกิดของพระอาจารย์มาโนชเอง เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับเยาวชนในชุมชน ซึ่งหลวงพี่มินได้มีโอกาสใช้อบรมเยาวชนธรรมะทูเดย์ ตั้งแต่ริเริ่มโครงการจนถึงปัจจุบัน
ด้วยหลัก "มัจฉริยะ 5" ที่ว่าด้วยความตระหนี่หวงแหน และ "ปปัญจธรรม 3" ที่ทำให้ค้นพบว่าเมื่อเราปราศจากความตระหนี่หวงแหน รักเพื่อนมนุษย์โดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นใคร นับถือศาสนาอะไร เราจะอยู่ด้วยกันได้อย่างสันติสุขและสันติภาพ เป็นหลักการของ "บ้านพี่สอนน้อง" ในการสร้างพื้นที่สาธารณะแห่งสันติภาพและสันติสุข ที่ใช้ "ความดีงาม" มาสร้างให้ผู้คนอยู่ด้วยกันด้วยความรัก ความเมตตา เกื้อกูล แบ่งปัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และอยู่ด้วยกันอย่างสันติสุขและสันติภาพ
"บ้านพี่สอนน้อง" นอกจากเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับเยาวชนแล้ว ยังเป็นศูนย์รวมสิ่งของบริจาคเพื่อเยาวชนที่ขาดแคลนปัจจัยต่างๆ ซึ่งกรณีศึกษาจากแนวคิดในการจัดสร้าง "บ้านพี่สอนน้อง" หลวงพี่มิน ในฐานะผู้วิจัย หวังจะให้เป็นต้นแบบในการสร้าง "พื้นที่แห่งสันติภาพ" ให้กับสังคมไทย และสังคมโลกต่อไป
ซึ่ง "พื้นที่แห่งสันติภาพ" ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่สิ่งปลูกสร้าง แต่ยังสามารถทำได้บน "พื้นที่ออนไลน์" ซึ่งจากช่วงวิกฤต Covid-19 ที่ผ่านมา หลวงพี่มินได้ริเริ่มใช้สื่อ TikTok เพื่อเผยแผ่ธรรมะแก่เยาวชน ด้วยคลิปคำคมแนวคิดต่างๆ ที่สร้างรอยยิ้ม แต่แฝงด้วยธรรมะ ซึ่งบางคลิปได้รับความสนใจถึง 6 ล้านวิวภายในเพียงวันเดียว ปัจจุบันขยายกลุ่มเป้าหมายไปที่วัยผู้ใหญ่ด้วย จนมีผู้ติดตามกว่าแสนราย
มาถึงช่วงนี้เป็นช่วงที่ต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของ Covid-19 กันอย่างเข้มข้นอีกครั้ง ในขณะที่ปีใหม่ 2564 ก็กำลังจะใกล้เข้ามา "หลวงพี่มิน" ได้กล่าวฝากทิ้งท้ายขอให้ทุกคนมีกำลังใจ และพร้อมสู้ "ไม่ว่าล้มหรือลุก อย่าเพิ่งไปทุกข์กับชีวิต ถูกหรือผิด อย่าไปคิดหนีปัญหา ดีหรือแย่ อย่าเพิ่งไปแคร์คนนินทา ชมหรือด่า อย่าไปเก็บมาให้เจ็บใจ" เพื่อจะได้เดินหน้าไปด้วยกันอย่างสันติสุขและสันติภาพต่อไป
ติดตามกิจกรรมที่น่าสนใจ และสื่อสร้างสรรค์เชิงธรรมะได้ที่ FB: ธรรมะทูเดย์ บัณฑิตอาสาวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล