ม.มหิดล ต้อนรับอุปทูตจีน เชื่อมสัมพันธ์อุดมศึกษา

ข่าวทั่วไป Tuesday December 8, 2020 11:44 —ThaiPR.net

ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดล มีความร่วมมืออย่างแน่นแฟ้นกับมหาวิทยาลัยในสาธารณรัฐประชาชนจีนมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยที่อยู่ใน 5 อันดับแรก (Top 5 Universities) ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้แก่ มหาวิทยาลัยชิงหฺวา มหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียงตง มหาวิทยาลัยฟูตัน และ มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง รวมทั้ง Chinese Academy of Sciences (CAS) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีนวัตกรรมสูงสุดในโลก

เมื่อเร็วๆ นี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล และผู้บริหารส่วนงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีโอกาสต้อนรับนายหยาง ซิน (Mr.Yang Xin) อุปทูต รักษาการแทนเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ในโอกาสบรรยายพิเศษหัวข้อ "สาธารณรัฐประชาชนจีน และการอุดมศึกษาจีน" ในที่ประชุมกรรมการประจำมหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งที่ 21/2563 ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์นที รักษ์พลเมือง ชั้น 5 สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

นายหยาง ซิน กล่าวว่า นับเป็นเวลา 70 ปีที่จีนได้รับการสถาปนาเป็น "สาธารณรัฐประชาชนจีน" ซึ่งมีนโยบายการบริหารประเทศเพื่อประโยชน์แห่งปวงชนชาวจีนอย่างชัดเจน ทำให้สาธารณรัฐประชาชนจีนมีความเจริญก้าวหน้าจนได้เป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกเช่นในปัจจุบัน โดย สาธารณรัฐประชาชนจีนได้เป็นประเทศที่มีบทบาททางการค้า และมีเงินสำรองระหว่างประเทศมากที่สุดในโลกอยู่ในขณะนี้

ด้วยความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จากการมุ่งพัฒนาการศึกษาและวิจัยของประเทศโดยให้น้ำหนักไปทางด้านดังกล่าวเป็นอันดับแรก ทำให้ปัจจุบันสาธารณรัฐประชาชนจีนมีจำนวนคำขอสิทธิบัตร (Patents) งานวิจัยและนวัตกรรมมากที่สุดในโลก โดยล่าสุดปี 2019 มีมากกว่า 1 ล้านรายการ และจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก สาธารณรัฐประชาชนจีนได้เป็นอันดับ 1 ของเอเชีย

เมื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-ไทยที่มีมาอย่างยาวนาน โดยครบรอบ 45 ปีในปี 2020 นี้ นายหยาง ซิน กล่าวว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากการเสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศโดยพระบรมวงศานุวงศ์ไทยทุกพระองค์ที่เป็นไปอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาที่ผ่านมา จนปัจจุบันสาธารณรัฐประชาชนจีนมีมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนภาษาไทย หรือวิชาที่เกี่ยวกับภาษาไทยมากขึ้น ซึ่งนายหยาง ซินเองก็จบวิชาเอกภาษาไทยจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง และสามารถใช้ภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว

นอกจากการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยแล้ว ยังมีมหาวิทยาลัยในสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นจำนวนมากที่มีการเรียนการสอนวิชาวรรณคดีไทยประวัติศาสตร์ไทย และทำวิจัยเกี่ยวกับการเมือง เศรษฐกิจ การต่างประเทศ และสังคมที่เกี่ยวกับประเทศไทย และในขณะเดียวกันประเทศไทยก็มีนักศึกษาจากสาธารณรัฐประชาชนจีนมาเรียนในประเทศเป็นจำนวนมากที่สุดในบรรดาจำนวนนักศึกษาที่มาจากต่างประเทศ โดยปัจจุบันมีจำนวนผู้เรียนภาษาจีนในประเทศไทยรวมมากกว่า 7 ล้านคน

นายหยาง ซิน กล่าวต่อไปว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนมีความร่วมมือที่สอดคล้องกับ "ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0" โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความร่วมมือทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ซึ่งจะมีการส่งเสริมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยจะให้ครู อาจารย์ นักเรียน และนักศึกษา ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนทางการศึกษาระหว่าง 2 ประเทศให้มากขึ้น นอกจากนี้ จะมีความร่วมมือที่เน้นไปทางด้านแพทย์แผนโบราณทั้งจีนและไทย การศึกษาภาษาจีนและภาษาไทย และด้านอื่นๆ ตลอดจนจะมีการผลิตบุคลากรเพื่อสนองความต้องการระหว่าง 2 ประเทศให้มากขึ้น

และเพื่อให้ทันต่อโลกยุคดิจิทัล จะร่วมพัฒนาความร่วมมือทางการศึกษาที่เน้นไปทางด้านอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยี Big Data หรือการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ