สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกับ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ) ลงนามบันทึกความเข้าใจจำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ (1) ความร่วมมือในการจัดทำหลักสูตรอบรมธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนสำหรับภาคธุรกิจในตลาดทุนไทย ตามแผน NAP และ (2) ความร่วมมือทางวิชาการเพื่อพัฒนามาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563
ภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือครั้งนี้ ระหว่าง ก.ล.ต. กับ คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานใน 2 ส่วน ได้แก่
(1) ความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรอบรมด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนให้แก่ภาคธุรกิจในตลาดทุนไทย ตามที่ได้รับมอบหมายพันธกิจตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2565) หรือ National Action Plan on Business and Human Rights (แผน NAP) โดยใช้หลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (หลักการชี้แนะฯ UNGPs) ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวจะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถไปปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจได้ โดยการประชุมคณะทำงานจัดทำหลักสูตรอบรม "ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน สำหรับภาคธุรกิจในตลาดทุน" ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 ได้มีมติเห็นชอบให้คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เป็นผู้จัดทำและกำหนดโครงสร้างหลักสูตรอบรมและสัมมนา และ
(2) ความร่วมมือในการเตรียมความพร้อมการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้งพัฒนามาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อสนับสนุนการออกกฎหมายลำดับรอง และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2564
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า "ความร่วมมือในการจัดทำหลักสูตรอบรมธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนสำหรับภาคธุรกิจในตลาดทุนไทย เป็นการตอบโจทย์ที่ ก.ล.ต. เป็นหนึ่งในองค์กรภาครัฐที่ได้รับมอบหมายพันธกิจตามแผน NAP โดยนำหลักการชี้แนะฯ UNGPs มาใช้ เพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจในตลาดทุนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทจดทะเบียนให้คำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนและสามารถผนวกเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้ากับการดำเนินธุรกิจตามความเหมาะสม และสามารถจัดทำข้อมูลด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเพื่อเปิดเผยในแบบ 56-1 One report ในปี 2565 ตอบสนองความคาดหวังของผู้ลงทุนทั่วโลกที่ให้ความสนใจและใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนมากขึ้น
นอกจากนี้ การเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินธุรกิจของภาคธุรกิจในตลาดทุน ซึ่ง ก.ล.ต. ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้และเห็นว่าภาคธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนไทย จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจถึงหลักการและเหตุผลในเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของนักลงทุน อีกทั้ง สามารถดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ดังนั้น การเตรียมความพร้อมของบุคลากรในตลาดทุนในทุกระดับขององค์กร จึงเป็นรากฐานที่สำคัญของการดำเนินธุรกิจภายใต้มาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศไทยซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับมาตรฐานระดับสากล ความร่วมมือกับคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ในครั้งนี้ จะช่วยเสริมสร้างให้กิจการในตลาดทุนไทย มีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจที่ยกระดับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของไทยให้เทียบเคียงกับระดับสากล"
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า "ในการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชน นอกจากจะต้องเตรียมความพร้อมให้ภาคธุรกิจในตลาดทุนสามารถดำเนินธุรกิจโดยเคารพสิทธิมนุษยชนโดยใช้หลักการชี้แนะฯ UNGPs ผ่านการมีหลักสูตรอบรม สัมมนา และแนวทางปฏิบัติแล้ว ประเด็นสำคัญในด้านสิทธิมนุษยชนที่จะขาดไม่ได้ คือ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นไปตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2564 โดยคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ มีความยินดีที่จะได้มีส่วนร่วมในการช่วยเตรียมความพร้อมและพัฒนามาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งด้านการพัฒนาแนวปฏิบัติ จัดอบรม และสัมมนา รวมถึงการจัดทำสื่อการอบรมออนไลน์ เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว รวมถึงกฎหมายลำดับรอง และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องที่จะประกาศใช้ต่อไปในอนาคต"