ผยง ศรีวณิช นักการเงินแห่งปี 2563

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 8, 2020 15:59 —ThaiPR.net

คณะกรรมการตัดสินรางวัลเกียรติยศ "นักการเงินแห่งปี" ของ วารสารการเงินธนาคาร มีมติให้ ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ครองตำแหน่งนักการเงินแห่งปี 2563 ด้วยคุณสมบัติของการเป็นนักการเงินแห่งปีครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การพิจารณาทั้ง 4 ด้าน เป็นนักการเงินมืออาชีพที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและทันสมัย มีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ สร้างความเติบโตยั่งยืนให้กับองค์กร รับผิดชอบต่อสังคมและทำคุณประโยชน์ต่อส่วนรวม

ท่ามกลางความท้าทายจากปัจจัยความผันผวนต่างๆ เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจทั่วโลก ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้น การกำหนดมาตรฐานการรายงานทางการเงินใหม่ IFRS9 รวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ซึ่งกดดันผลประกอบการของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนการเกิด Digital Disruption จากความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี จนมีผู้เล่นรายใหม่อย่างฟินเทคเข้ามาแข่งขัน และสถานการณ์ล่าสุดที่ต้องรับมือกับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19

คณะกรรมการตัดสินรางวัล "นักการเงินแห่งปี" มีความเห็นร่วมกันว่า ในสภาวการณ์ดังกล่าว ธนาคารกรุงไทย ภายใต้การนำของ ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ มีความโดดเด่นและสามารถยืนหยัดได้อย่างแข็งแกร่งในการรับมือกระแสการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

โดยธนาคารยังคงรักษาระดับกำไรให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ยุทธศาสตร์ 2 Banking Model เพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปพร้อมๆ กัน ทั้งการขับเคลื่อนธุรกิจแบบดั้งเดิม และการขับเคลื่อนธุรกิจแบบใหม่ เพื่อลดผลกระทบของรายได้และกำไรจาก Disruption

นอกจากนี้ ยังเดินหน้าขยายบริการดิจิทัลของธนาคารให้เติบโตขึ้น ในช่วงเทคโนโลยี Disruption ด้วยการเร่งปรับโครงสร้างธุรกิจ ปฏิวัติระบบเทคโนโลยี ปรับปรุงกระบวนการทำงาน โดยมีเป้าหมายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันควบคู่ไปกับการสนับสนุนภาครัฐ ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มใหญ่ที่สุดในประเทศเพื่อเป็นช่องทางในการดำเนินโครงการการต่างๆ ของภาครัฐ

ผลงานและความโดดเด่นเป็นผลให้ คณะกรรมการตัดสินรางวัลนักการเงินแห่งปี ลงมติให้ ผยง ศรีวณิช เป็นนักการเงินแห่งปี ประจำปี 2563 Financier of the Year 2020

นักการเงินที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและทันสมัย
ภายใต้การนำของ ผยง ศรีวณิช กรรรมการผู้จัดการใหญ่ จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์คู่ขนาน หรือ 2 Banking Model เพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปพร้อมๆ กัน คือ

1. การขับเคลื่อนธุรกิจแบบดั้งเดิม (Traditional Banking) เปรียบเสมือนเรือบรรทุกเครื่องบิน (Carrier) เป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนธุรกิจหลักที่ธนาคารดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบัน จุดมุ่งหมายหลักคือ ลดการกัดกร่อนของรายได้และกำไรจาก Disruption ให้น้อยที่สุด

2. การขับเคลื่อนธุรกิจแบบใหม่ (Digital Organization) เปรียบเสมือนเรือเร็ว (Speedboat) เป็นองค์กรใหม่ที่มีจุดมุ่งหมายในการแสวงหาโอกาสและรายได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ (New Business Model) หรือการร่วมมือกับพันธมิตรที่มีศักยภาพ ตลอดจนการสร้างแพลตฟอร์มแบบเปิด (Open Banking) ที่เชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น แอปพลิเคชั่นเป๋าตัง

นอกจากนี้ ยังเดินหน้าผลักดันธนาคารสู่ Invisible Banking ด้วยเทคโนโลยีการเงินที่ล้ำสมัย และมีส่วนสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ และจากจุดแข็งในการให้บริการทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ผ่านโครงการสำคัญๆ ของภาครัฐ ทำให้ธนาคารสามารถสร้างแพลตฟอร์มใหญ่ที่สุดในประเทศ

ส่งผลให้ธนาคารมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่มีประโยชน์ในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสนับสนุนโครงการภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น แอปพลิเคชั่นถุงเงิน ให้ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ รับชำระค่าสินค้าจากผู้ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กว่า 200,000 แห่ง และ แอปพลิเคชั่นเป๋าตัง กระเป๋าเงินดิจิทัลเพื่อโอนเติมจ่ายได้สะดวก โดยไม่ต้องมีบัญชีธนาคาร มีผู้ใช้ถึง 15 ล้านราย

นอกจากนี้ ยังได้นำเทคโนโลยีขั้นสูงมาพัฒนาบริการทางการเงินเพื่อเชื่อมโยงภาครัฐกับประชาชน ได้แก่ ระบบลงทะเบียน "ชิม ช้อป ใช้" แพลตฟอร์มไทยชนะ พัฒนาเว็บไซต์ เราไม่ทิ้งกัน.com และ คนละครึ่ง.com

นักการเงินมืออาชีพที่มีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ
ผยงได้แสดงบทบาทในการเป็นนักการเงินมืออาชีพที่มีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ โดยกำหนดยุทธศาสตร์บรรษัทภิบาลระหว่างปี 2560-2564 ขับเคลื่อนธนาคารสู่การเป็นองค์กรคุณธรรมต้นแบบที่มีมาตรฐานสากลและเป็นธนาคารที่ทุกคนไว้วางใจ (Public Trust) ภายใต้โครงการ กรุงไทยคุณธรรม เพื่อยกระดับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ทนต่อการทุจริตทุกรูปแบบทั่วทั้งองค์กร (Zero Tolerance)

โดยใช้ ยุทธศาสตร์ 3 ป. คือ ปลูกจิต ปลูกจิตสำนึกพนักงานให้มีคุณธรรม ปฏิบัติงานตามกฏระเบียบ ข้อบังคับ ป้องกัน ตรวจทานและป้องกันการกระทำผิดที่จะเกิดขึ้นจากความเสี่ยงต่างๆ ปรับเปลี่ยน ยกระดับมาตรฐานกระบวนการภายในธนาคาร ดำเนินการทางกฎหมายแพ่งและอาญาอย่างรวดเร็วควบคู่กับการพิจารณาโทษทางวินัยอย่างจริงจัง

นักการเงินที่สร้างความเจริญเติบโตให้กับองค์กร
ท่ามกลางปัจจัยความผันผวนต่างๆ ธนาคารภายใต้การบริหารของผยง ยังคงรักษาความสามารถในการทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง ในปี 2561 ธนาคารมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 28,491 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.0% ในปี 2562 ธนาคารมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 29,284 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.8% และช่วง 9 เดือนปี 2563 ธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานเท่ากับ 54,149 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.4% ขณะที่ไตรมาส 3 กำไรจากการดำเนินงาน เท่ากับ 16,572 ล้านบาท 16.0% ท่ามกลางสภาวะดอกเบี้ยนโยบายที่ถูกปรับลดจนต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19

โดยธนาคารได้วางแผนพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนการตอบโจทย์ธุรกิจด้านดิจิทัล ออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน โดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง คำนึงถึงความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ

กลุ่มภาครัฐ ธนาคารได้วางยุทธศาสตร์การต่อยอดธุรกิจจากคู่ค้าของลูกค้า หรือที่เรียกว่า X2G2X ที่มีจุดเริ่มต้นจาก G คือ Government จากที่ธนาคารเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนนโยบายของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง

กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารให้บริการด้านสินเชื่อและบริการทางการเงินอย่างครบวงจร สำหรับลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ โดยแบ่งตามประเภทธุรกิจ ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจการเกษตร ธุรกิจก่อสร้างและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจบริการ และธุรกิจอุตสาหกรรม

กลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก-กลาง ธนาคารได้ให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ด้วยผลิตภัณฑ์สินเชื่อต่างๆ สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง ธนาคารให้บริการสินเชื่อที่สามารถตอบสนองความต้องการด้านเงินทุนหมุนเวียนและการขยายกิจการ ทั้งลูกค้าในกลุ่มภาคการผลิต บริการ ค้าส่ง ค้าปลีก การเกษตร รวมถึงธุรกิจนำเข้าและส่งออก

กลุ่มลูกค้ารายย่อย ธนาคารมุ่งสร้างการเติบโตและสร้างกำไรอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน ผ่านโครงการต่างๆ ทั้งการขยายฐานลูกค้าด้วยการต่อยอดจากโครงการภาครัฐ พัฒนาช่องทางการบริการ ยกระดับการให้บริการในทุกมิติ โดย ธนาคารได้ขยายบริการ Krungthai NEXT จนปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 9.95 ล้านราย และอีกหนึ่งแอปพลิเคชั่นที่เข้าไปมีบทบาทต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ คือ "เป๋าตัง" เพื่อตอบสนองโครงการต่างๆ ของภาครัฐ ได้ปรับสู่การเป็น G-Wallet อย่างสมบูรณ์แบบ เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงธุรกรรมทางการเงินได้สะดวกมากขึ้น

นักการเงินที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม
ภายใต้การนำของผยงได้ให้ความสำคัญของการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักการ ESG ได้แก่ สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) โดยธนาคารได้ดำเนินการผ่านกิจกรรม CSR เพื่อให้สภาพแวดล้อม สังคมและระบบเศรษฐกิจดีขึ้น ด้วยการร่วมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ผ่านโครงการกรุงไทย รักชุมชน ธนาคารสนับสนุนให้ความรู้ทางด้านการเงิน (Financial Literacy) และเทคโนโลยีด้านการเงิน (Digital Literacy) เพื่อให้ชุมชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่ทันสมัย เป็นการสร้างโอกาสใหม่ในการดำเนินธุรกิจของชุมชน

นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินธุรกิจตามกรอบแนวคิด กรุงไทย เคียงข้างไทย สู่ความยั่งยืน "Sustainable Banking" ไปยังภาคส่วนอื่นๆ เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทำให้คนไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและสามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน

และในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทยที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 ผยงยังมีภารกิจที่ต้องเร่งผลักดันให้เกิดการ่วมมือกับภาครัฐและเอกชนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งการพัฒนาระบบธนาคารพาณิชย์ให้เป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวผ่านวิกฤติเศรษฐกิจและตอบโจทย์ทุกความต้องการของคนไทยในทุกภาคส่วน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ