เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals -SDGs) 17 ข้อของสหประชาชาติ ที่มุ่งหวังจะช่วยแก้ปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่ เช่น ขจัดความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น เป็นหัวข้อหลักในการประชุมประจำปีของเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ "Sustainable Campus by SDGs in Actions: Best Practice Sharing & Learning Experience"เพื่อร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยรวมพลังขับเคลื่อนเป็นพื้นที่การศึกษาแห่งความยั่งยืนภายใต้กรอบ SDGs 2030 ด้วยการลงมือปฏิบัติและสื่อให้เห็นถึงความสอดคล้องของกิจกรรมที่ปฏิบัติกับเป้าหมายความยั่งยืน โดยในการประชุมมีการหารือร่วมกันระหว่างคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กับ SUN Thailand เพื่อขยายความร่วมมือไปยังมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ก่อนที่จะลงนามในปีหน้า ขณะเดียวกันในการประชุมจะมีการหารือถึงปัญหา PM2.5 ว่าจะมีแนวทางในการขับเคลื่อนอย่างไร
การประชุมประจำปีเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 5 (The 5th Annual Conference of Sustainable University Network of Thailand)" ในหัวข้อ "Sustainable Campus by SDGs in Actions: Best Practice Sharing & Learning Experience" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 - 4 ธันวาคม 2563 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางขุนเทียน) โดยในปีนี้ มจธ. ในฐานะประธานเครือข่าย SUN Thailand และเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมและเป็นหนึ่งในกิจกรรมเนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปีแห่งการสถาปนา มจธ. โดยมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักในการจัดประชุมครั้งนี้ คือ ความร่วมมือกันของมหาวิทยาลัยเครือข่ายที่ร่วมกันขับเคลื่อนให้ทุกมหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่การศึกษาแห่งความยั่งยืนภายใต้กรอบ SDGs 2030 ด้วยการลงมือปฏิบัติและสื่อให้เห็นถึงความสอดคล้องของกิจกรรมที่ปฏิบัติกับเป้าหมายความยั่งยืน โดยเน้นให้เกิดการนำตัวอย่างที่ดีของแต่ละมหาวิทยาลัยเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อที่มหาวิทยาลัยเครือข่ายจะได้นำวิธีการที่ดีไปปรับหรือประยุกต์ใช้ได้
ผศ.ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย ประจำปี 2563 กล่าวว่า "จุดเริ่มต้นของเครือข่ายมาจากมหาวิทยาลัยสีเขียวที่มหาวิทยาลัยต่างๆ มีการดำเนินการของมหาวิทยาลัยตนเองเป็นหลัก เช่น การกำจัดขยะ กำจัดน้ำเสีย การใช้พลังงานหมุนเวียน การใช้น้ำอย่างคุ้มค่า แต่มหาวิทยาลัยสีเขียวมีแนวทางการดำเนินงานที่ค่อนข้างแคบ เมื่อมาเป็นเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนจึงนำเอาแนวทาง SDGs (Sustainable Development Goals) มาเป็นเป้าหมายหลักในการขับเคลื่อน จึงเกิดเป็น Sustainable University ซึ่งความหมายของ Sustainable จึงกว้างขึ้นกว่าคำว่า Green เพราะรวมถึงเรื่องของชุมชน สังคม ความยากจน สิ่งแวดล้อม พลังงาน และอื่นๆ
ผศ.ดร.ประเสริฐ กล่าวว่า "เป้าหมาย SUN Thailand คือ เราต้องตอบโจทย์ประเทศว่ากิจกรรมที่มหาวิทยาลัยในเครือข่ายของ SUN Thailand ดำเนินการนั้นมีผลกระทบ (Impact) ต่อการขับเคลื่อน SDGs ประเทศอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมามีกิจกรรมเด่นๆ เช่น การลดการใช้ถุงพลาสติก โดยมหาวิทยาลัยสมาชิกมีการตกลงร่วมกัน มีการออกกฎระเบียบในมหาวิทยาลัยและร่วมมือกับภาคเอกชน ซึ่งเป็นส่วนผลักดันให้รัฐออกกฎหมายลดและเลิกการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เป็นต้น ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนจากเครือข่าย SUN Thailand ที่มีผลกระทบในวงกว้าง จึงเห็นว่า SUN Thailand เป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบไม่เฉพาะแต่ในมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่เป็นเครือข่ายที่จะเริ่มต้นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับสังคม นอกจากนั้นยังมีการจัดการขยะภายในมหาวิทยาลัย และการใช้ประโยชน์จากขยะอย่างครบถ้วนโดยตั้งเป้าหมายให้เป็น Zero waste รวมถึงการทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อแก้ปัญหาความยากจน และลดความหิวโหย เป็นต้น"
การขับเคลื่อนของ SUN Thailand ในปี 2563 ตลอดปีที่ผ่านมา ผศ.ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ ในฐานะประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย ประจำปี 2563 กล่าวว่า ได้วางเป้าหมายไว้สองเรื่อง เรื่องแรก เครือข่าย SUN Thailand จะนำเสนอรายงานต่อสาธารณะถึงบทบาทการขับเคลื่อน SDGs ของประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ สภาพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติ และกระทรวงการต่างประเทศ เรื่องที่สอง คือ การขับเคลื่อนกิจกรรมร่วมกันเพื่อการสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Social change agent) ที่มี Green Heart โดยนำเรื่องความยั่งยืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนของทุกมหาวิทยาลัย
ในส่วนของ มจธ. ได้ตั้งเป้าหมายในการเป็นมหาวิทยาลัยที่ยั่งยืนภายใต้กรอบของ SDGs 2030 ตั้งแต่ปี 2559 "KMUTT Sustainable University for SDGs 2030" และมีการจัดทำนโยบายด้านการเป็นมหาวิทยาลัยที่ยั่งยืน โดยเน้นการสร้างนักศึกษา Green Heart ที่มีความเข้าใจและการตระหนักรู้ในเรื่องของผลกระทบของเทคโนโลยี การเรียนการสอน การวิจัย การใช้พลังงานต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคมรอบข้าง
การประชุมเครือข่าย SUN Thailand ครั้งนี้ จึงมีการเจรจาความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กับ เครือข่าย SUN Thailand เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้มหาวิทยาลัยในประเทศเข้าร่วมเพื่อยกระดับเป็น Sustainable University มี SUN Thailand ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง และมีเป้าหมายสูงสุด คือ นำเอา SDGs เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ของนักศึกษาของทุกมหาวิทยาลัย และจะเป็นจุดเริ่มต้นในการนำไปสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง กกอ. กับ SUN Thailand ในปีถัดไป โดยจะมีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานเครือข่ายฯ ประจำปี 2564"
สำหรับการประชุมวิชาการประจำปีเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนฯ ครั้งที่ 5 นี้ นอกจากได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์อุดม คชินทร อดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและอดีตประธานกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "นโยบายคณะกรรมการอุดมศึกษาต่อการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยยั่งยืน", การเสวนาเรื่อง "Educational Sustainability & Educational Reform in Thai University" โดย ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์, ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยและอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, ดร.พรชัย มงคลวนิช รองประธานเครือข่าย IAU (The International Association of Universities) และนายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย รวมทั้งการบรรยายเรื่อง "ผลกระทบโควิด-19 ต่อการบรรลุเป้าหมาย SDGs (Impact of COVID-19 on Sustainable Development Goals)" โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีด้านการติดตามและประเมินผลยุทธศาสตร์แผนการงบประมาณ และสุขภาวะ ประธานคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินไวรัส โคโรนา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว ยังมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกิจกรรมด้านความยั่งยืนระหว่างมหาวิทยาลัยกับสมาชิกเครือข่าย ประกอบด้วยธีมทั้งหมด 6 ธีม ได้แก่ 1. SEP for SDGs 2. Sustainable Education 3. Sustainable Energy 4. Sustainable Environment 5. Sustainable Health & Safety และ 6. Sustainable Mobility/Sustainable Transportation
โดยให้มหาวิทยาลัยเครือข่ายนำเสนอนำเสนอผลงานโปสเตอร์ Oral presentation และจัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีในผลการทำงานด้านความยั่งยืนของชุมชน (Best Practice Sharing & Learning Experience on University-Community Engagement) โดย มจธ.ได้จัดแสดงนิทรรศการ และจัด Special Talk เพื่อนำผลการทำงานด้านความยั่งยืนของชุมชน (Best Practice Sharing & Learning Experience on University-Community Engagement เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทุกมหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งนี้ด้วย
ทั้งนี้ เครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Sustainable University Network of Thailand - SUN Thailand) ได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2559 โดยมี 16 มหาวิทยาลัยเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีสำคัญสำหรับมหาวิทยาลัยในการกำหนดแนวนโยบาย เพื่อสนับสนุนการพัฒนามหาวิทยาลัยตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การดำเนินงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในสถาบันอุดมศึกษาของประเทศ รวมถึงการกำหนดมาตรฐานการชี้วัดความเป็นมหาวิทยาลัยยั่งยืน อันจะเป็นส่วนสำคัญของการยกระดับมหาวิทยาลัยภายในประเทศ เพื่อสร้างเครือข่ายและความร่วมมือของสถาบันอุดมศึกษาภายในประเทศ ที่สอดคล้องเชื่อมโยงต่อบริบทการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับนานาชาติ นำไปสู่การเป็นต้นแบบสำคัญของภาคส่วนภายในสังคมของประเทศที่สามารถใช้เป็นต้นแบบ เพื่อการขยายผลการดำเนินงานสู่ภาคส่วนอื่นได้ต่อไปในอนาคต ปัจจุบันมีสมาชิกเครือข่ายทั้งสิ้น 36 มหาวิทยาลัย