เน้นการเสริมสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการและผู้บริโภคให้มีความพร้อม สร้างความเข้มแข็ง กระตุ้นการแข่งขันของผู้ประกอบการดิจิทัลไทย พร้อมทั้งยกระดับการจัดการภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาการจัดเก็บภาษีธุรกิจบริการดิจิทัล
จากการที่ประเทศต่าง ๆ กว่า 40 ประเทศทั่วโลกเริ่มมีการออกกฎหมายจัดเก็บภาษีธุรกิจบริการดิจิทัล สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) จึงได้มอบหมายให้ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการโครงการศึกษาวิจัยและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับกลไกด้านภาษีในภาคธุรกิจดิจิทัล เพื่อศึกษาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวทางและกลไกด้านภาษีของภาคธุรกิจบริการดิจิทัลหรือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและแผนงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนและการปรับตัวของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเมื่อมีการนำภาษีธุรกิจบริการดิจิทัลมาบังคับใช้ในประเทศไทยต่อไป
โดยคณะผู้วิจัยได้ทำการศึกษาทบทวนแนวนโยบายการจัดเก็บภาษีของไทยและแนวทางปฏิบัติในการจัดเก็บภาษีธุรกิจบริการดิจิทัลจากต่างประเทศ (Digital Service Tax: DST) ได้แก่ ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น พบว่า นานาประเทศได้นำแนวคิดกรอบการดำเนินงานว่าด้วยการลดกัดกร่อนฐานภาษีและโอนกำไรไปต่างประเทศ (Base Erosion and Profit Shifting: BEPS) ของ Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) มาใช้อ้างอิงในการจัดเก็บ DST กลุ่มผู้ได้รับประโยชน์จากการเก็บ DST ได้แก่ 1) หน่วยงานจัดเก็บภาษี 2) ผู้ประกอบการไทยที่ขายสินค้าและบริการออนไลน์ และ 3) ผู้ประกอบการต่างชาติที่จดทะเบียนภาษีในไทย ขณะที่ผู้ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ได้แก่ 1) ผู้ประกอบการต่างชาติที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีในไทยที่ต้องมีภาระในการเสีย DST ให้แก่หน่วยงานจัดเก็บภาษี และ 2) ผู้บริโภคในไทยที่อาจได้รับผลกระทบอันเกิดจากการที่ผู้ประกอบการต่างชาติผลักภาระ การเสียภาษีให้แก่ผู้บริโภคในไทย
ประเด็นสำคัญที่หน่วยงานภาครัฐไทยควรให้ความสำคัญในการปรับตัวกับการจัดเก็บ DST มีดังนี้
1) การจัดเก็บภาษีธุรกิจบริการดิจิทัลมีความจำเป็นเพื่อให้สอดคล้องกับพัฒนาการทางการค้าและเทคโนโลยี
เพื่อเพิ่มแหล่งรายได้ใหม่ให้ภาครัฐและสอดคล้องกับวิธีปฏิบัติของนานาประเทศ 2) ต้องมีความชัดเจนด้านบริการดิจิทัลหรือผลิตภัณฑ์ดิจิทัลที่อยู่ในขอบเขตที่ต้องเสียภาษี และ 3) ต้องมีการบูรณาการความร่วมมือจาก
ผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก
คณะผู้วิจัยได้เสนอ 4 แนวทางหลักในการขับเคลื่อนการจัดเก็บ DST เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของผู้ประกอบการ ได้แก่ 1) การเสริมสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการและผู้บริโภคให้มีความพร้อมต่อการนำภาษีธุรกิจบริการดิจิทัลมาใช้ โดยเสริมสร้างการปฏิบัติทางภาษีให้ถูกต้อง การสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการ และการพิจารณาปรับวิธีการจัดเก็บ DST ให้เรียบง่ายเพื่อจูงใจให้กิจการดิจิทัลข้ามชาติมาขึ้นทะเบียนภาษีในไทย 2) การสร้างความเข้มแข็งและแข่งขันของผู้ประกอบการดิจิทัลไทย โดยการส่งเสริมการทำผลิตภัณฑ์ดิจิทัลและสื่อกลางดิจิทัลของคนไทย การส่งเสริมให้ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้บริการผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีตัวตนอยู่จริงเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค และการพิจารณาประเภทบริการดิจิทัลที่อยู่ภายใต้บังคับที่ต้องเสีย DST 3) การยกระดับการจัดการภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีธุรกิจดิจิทัล โดยยกระดับความร่วมมือระหว่างหน่วยงานจัดเก็บภาษีกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง การอำนวยความสะดวกในการจัดตั้งกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และการเสียภาษีที่เกี่ยวข้อง การนำระบบจัดการความเสี่ยงในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มขณะนำเข้าสิ่งของมูลค่าต่ำที่จัดส่งผ่านช่องทางไปรษณีย์และไม่ได้ผ่านพิธีการศุลกากร และการจัดตั้งศูนย์บริการข้อมูลและให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง และ 4) การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาการจัดเก็บภาษีธุรกิจบริการดิจิทัล โดยปรับกฎระเบียบในประเทศให้สอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานจัดเก็บภาษีของไทยกับต่างประเทศ และการพิจารณาทบทวนความตกลงการเว้นการเก็บภาษีซ้อนของไทยที่อาจมีความเกี่ยวข้องกับภาษีธุรกิจบริการดิจิทัล
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจรายงานผลการศึกษาวิจัยฯ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/39YFeMG