รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย (Thailand Accident Research Center) สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) แนะประชาชนที่กำลังจะเดินทางไกลช่วงวันหยุดยาวในเดือนธันวาคมนี้ หลีกเลี่ยงขับรถด้วยความเร็ว โดยผลวิจัยชี้ว่า รถจักรยานยนต์ ควรขับไม่เกิน 80 กม./ชม. ขณะที่รถยนต์ ควรขับไม่เกิน 100 กม./ชม. หากขับเกินความเร็วดังกล่าวมีโอกาสเสียชีวิตเมื่อเกิดอุบัติเหตุสูง ขณะที่ผลสำรวจช่วง 7 วันอันตราย พบว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นบนทางสายรองมากที่สุด เนื่องจากผู้ขับขี่ใช้เลี่ยงการจราจรติดขัด ทำความเร็วได้มากกว่า แต่มาตรฐานอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยไม่สมบูรณ์ เช่น ป้ายไม่ชัดเจน, ถนนไม่เรียบ ซึ่งหากขับขี่ด้วยความเร็ว ยิ่งเสี่ยงอุบัติเหตุสูงขึ้น ย้ำความเร็วเป็นเรื่องสำคัญ เพราะที่ผ่านมา ความเร็ว เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตสูงสุดมาโดยตลอด รองลงมาคือ เมาแล้วขับ ซึ่งตัวเลขจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงเทศกาลและวันหยุดยาว
"เมาแล้วขับนับเป็นสาเหตุอันดับ 2 ซึ่งในช่วงเทศกาลจะดีดตัวเลขสูงขึ้น นอกจากนี้สาเหตุของการตายจากอุบัติเหตุ ยังมาจากคนไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัยขณะขับขี่ เช่น รถจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกกันน็อค รถยนต์ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย โดยพบว่าผู้เสียชีวิต 60% ไม่ได้สวมหมวกกันน็อค หากสวมหมวกกันน็อคช่วยป้องกันได้กว่า 40% และคาดเข็มขัดนิรภัยก็ช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้ ผลการวิจัยยังพบว่า คนเมาเกือบ 100% ไม่สวมหมวกกันน็อค" รศ.ดร.กัณวีร์ กล่าว
ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า การบังคับใช้กฎหมายด้านการจำกัดความเร็วบนท้องถนนในเมืองไทยยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เช่น หากเทียบปริมาณกล้องตรวจจับความเร็วกับความยาวของถนนทั้งประเทศ มีกล้องตรวจจับความเร็ว ไม่ถึง 5% ขณะที่ผู้ขับขี่บางส่วนเลี่ยงไม่จ่ายค่าปรับ แม้จะมีใบสั่งส่งไปถึงที่พักอาศัยก็ตาม
นอกจากนี้ รศ.ดร.กัณวีร์ ยังเปิดเผยถึงผลการวิจัยอุบัติเหตุที่เกิดกับผู้ใช้รถจักรยานยนต์ พบว่า ความผิดพลาดที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุที่พบบ่อยที่สุด ถึง 50% คือ ความผิดพลาดที่ผู้ขับขี่ไม่มีการรับรู้สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นขณะขับขี่ (Perception failure) หรือ ไม่มีทักษะในการคาดการณ์อุบัติเหตุ เช่น เปลี่ยนช่องจราจรกะทันหัน ไม่มีการมองรถซ้ายขวา โดยรถจักรยานยนต์กว่า 70% ไม่ติดตั้งกระจกมองข้าง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุด้วย รวมถึงการขับผ่านทางแยก ไม่มีการสังเกตรถคันอื่น สิ่งนี้เป็นความผิดพลาดของผู้ขับขี่ที่ไม่คาดการณ์สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น, การตัดสินใจที่ผิดพลาด เช่น จะเลี้ยวรถจักรยานยนต์เข้าซอย คิดว่าเลี้ยวพ้นรถที่ขับมา แต่ไม่พ้นทำให้เกิดการตัดหน้า และสุดท้ายควบคุมรถจักรยานยนต์ไม่ถูกต้อง เช่น การใช้เบรคหน้า เบรคหลัง เป็นต้น ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากผู้ขับขี่ไม่มีทักษะ
"เราย้อนกลับไปดูว่าผู้ขับขี่ฝึกอย่างไร พบว่า กว่า 90% ฝึกด้วยตัวเอง หรือ ครอบครัว เพื่อน เป็นผู้สอน มีเพียง 2% เท่านั้น ที่เรียนจากศูนย์ฝึก ทำให้ไม่ได้ศึกษาทักษะการคาดการณ์อุบัติเหตุ และเมื่อไปดูที่ขั้นตอนการสอบใบอนุญาตขับขี่ การอบรมไม่ได้เน้นทักษะเหล่านี้ ส่วนเนื้อหาข้อสอบมีเนื้อหาที่คล้ายกันระหว่างรถยนต์กับรถจักรยานยนต์ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การขับขี่ของรถ 2 ประเภทนี้ใช้ทักษะต่างกัน ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุฯ สถาบัน AIT จึงนำผลการศึกษานี้เสนอไปยังกรมขนส่งทางบกให้แยกประเภทข้อสอบให้ชัดเจน และเพิ่มเนื้อหาทักษะการคาดการณ์อุบัติเหตุ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุเข้าไปด้วย เชื่อว่าหากมีการเตรียมความพร้อมให้ผู้ขับขี่ตั้งแต่ก่อนได้รับใบอนุญาต ก็จะช่วยให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์มีความสามารถในการเอาตัวรอดจากอุบัติเหตุได้ดีขึ้น" รศ.ดร.กัณวีร์ กล่าว