องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Thailand Business Council for Sustainable Development: TBCSD) ได้จัดงานประจำปี 2563 (Gala Dinner 2020) ของ TBCSD ขึ้น ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัล พลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อรับฟังปาฐกถาพิเศษ และวิสัยทัศน์ขององค์กรฯ ในการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมไทยให้ยั่งยืน รวมถึงได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการพัฒนาที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยในงานครั้งนี้ได้รับเกียรติอย่างสูงจาก นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน มาเป็นประธาน พร้อมด้วยผู้บริหารจากองค์กรสมาชิก TBCSD เกือบ 40 องค์กร ซึ่งครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม กลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจการเงิน กลุ่มอุตสาหกรรมบริการ กลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุตสาหกรรม กลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง กลุ่มอุตสาหกรรมทรัพยากร กลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มอื่น ๆ
นอกจากองค์กรสมาชิก TBCSD ภายในงานยังได้รับเกียรติอย่างสูงจาก 3 หน่วยงานหลักของประเทศ ได้แก่
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรพันธมิตรของ TBCSD และผู้แทนจากองค์กรต่างประเทศ ได้แก่ UNDP และ สหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เข้าร่วมงาน
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า "ในปี 2563 นี้ ประเทศทั่วทุกมุมโลกรวมทั้งประเทศไทยได้เผชิญกับความท้าทายในรูปแบบใหม่ จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกภาคส่วน และกระทบถึงระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมไปถึงวิถีการดำเนินชีวิต โดยมียอดจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกมากกว่า 50 ล้านคนและผู้เสียชีวิตทะลุ 1 ล้านคน ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะสามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้รับการจัดอันดับดัชนี Global COVID-19 Index (GCI) เป็นอันดับ 1 ที่ฟื้นตัวจากสถานการณ์ของโรค COVID-19 จาก 184 ประเทศทั่วโลก แต่สถานการณ์ในหลายๆ ประเทศทั่วโลกยังอยู่ในสถานการณ์ที่มีความน่าเป็นห่วงอยู่และภาคธุรกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างต่อเนื่อง ทั้งยอดรายได้ที่ลดลงอย่างมาก และความไม่แน่นอนของธุรกิจ ภาคธุรกิจจึงต้องวิเคราะห์โอกาส ปรับตัวและหาทางออกโดยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจตาม "New Normal" หรือชีวิตวิถีใหม่ และมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อช่วยลดต้นทุน ปรับปรุงคุณภาพการผลิตและสินค้าให้มีความสอดคล้องกับตลาด New Normal พัฒนายุทธศาสตร์เพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและบริหารความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ยิ่งไปกว่านั้น องค์กรสมาชิก TBCSD ยังได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคมและภาคส่วนอื่นๆ ผ่านการดำเนินงานในรูปแบบต่างๆ รวมเป็นยอดเงินบริจาคมากกว่า 1,600 ล้านบาท รวมทั้งการสื่อสารทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิถี New Normal อย่างต่อเนื่อง"
ปาฐกถาพิเศษ โดย นายปีย์กะ ตาปิโอละ (H.E. Mr. Pirkka Tapiola) เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย มาร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "EU Green Deal" กล่าวว่า "สหภาพยุโรปสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ประหยัดทรัพยากรและยั่งยืนมากขึ้น และเป็นแนวหน้าในการสร้างระบบการเงินที่สนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน แผนนโยบาย European Green Deal เป็นกลยุทธ์ใหม่ในการการเติบโตของยุโรป โดยมุ่งขับเคลื่อนภูมิภาคยุโรปสู่สังคมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 แผนนโยบายที่ประกาศไว้ รวมถึงมาตรการในการเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียน ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ในภาคการขนส่งและที่อยู่อาศัย สร้างระบบอาหาร มีความยั่งยืน และกำหนดให้ผลิตภัณฑ์มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น สามารถซ่อมแซมได้ง่าย นำกลับมาใช้ใหม่ และนำไปรีไซเคิลได้ดีขึ้น แผนนโยบาย European Green Deal จะเป็นตัวกำหนดทิศทางนโยบายต่างๆ ของสหภาพยุโรป ทั้งหมดตั้งแต่การวิจัยและนวัตกรรมไปจนถึงอุตสาหกรรมการค้าและผู้บริโภค"
แถลงสรุปผลงาน TBCSD และทิศทางการขับเคลื่อนงาน TBCSD ปี 2564 โดย คณะกรรมการบริหารองค์กรธุรกิจ
เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) นำโดย นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมด้วย ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย
นายนพดล ปิ่นสุภา อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและดิจิทัล บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา เลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้ร่วมกันแถลงว่า "ในปีที่ผ่านมา TBCSD ได้ร่วมส่งเสริมภาคธุรกิจด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมๆ กับการขยายกรอบการทำงานเพื่อร่วมแก้ไขปัญหา Country Issue ด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ โดยประเด็นสำคัญ ได้แก่ PM2.5 Climate Change ขยะพลาสติก ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น โดยร่วมกันวางแผนการดำเนินงานสำหรับภาคเอกชนไทยเพื่อเป็นต้นแบบที่ดีและทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆ เพื่อนำเสนอแผนการรับมือกับปัญหาต่างๆ และแนวทางปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งการรวบรวมข้อมูลและรายงานผลอย่างเป็นระบบ และยังดำเนินงานร่วมกับเครือข่าย WBCSD, องค์กร development partner และองค์กรพันธมิตร 3 องค์กร เพื่อยกระดับ scale up งานต่างๆ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และ best practices โดยในปี 2564 TBCSD จะเดินหน้าขับเคลื่อนการแก้ปัญหาและระดมความร่วมมือในประเด็นที่เป็นความท้าทายของประเทศปัญหา Country Issue อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และเพิ่มขีดความสามารถของสมาชิก เพื่อให้มีความเข้าใจที่ดีและดำเนินงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีกิจกรรมส่งเสริมเยาวชนไทย เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Youth in Charge) และที่สำคัญ คือ ผลักดันให้เกิดนโยบายที่เป็นธรรมกับทุกภาคส่วน และนำมาสู่การปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม"
งานเสวนา Sustainable Growth Strategy ในยุค 'New Normal' ผู้แทน TBCSD นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และองค์กรพันธมิตร นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมเสวนาในหัวข้อเรื่อง Sustainable Growth Strategy ในยุค 'New Normal' เพื่อร่วมถ่ายทอดข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืนหลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งเป็นแนวทางที่ภาคธุรกิจไทยสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจตามบริบทขององค์กรได้
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "จากวิกฤตการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านอุปทานจากการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตและปัญหามลภาวะของสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการแพร่ระบาดของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เราต้องหันมาให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ปรับเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาให้หันกลับมาเน้นเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) และการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมสู่การเป็น Thailand 4.0 / Industry 4.0 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นตัวแทนภาคอุตสาหกรรมและเน้นการดำเนินการด้าน Service Organization ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกมีการผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตสู่การเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่นำไปสู่การพัฒนาเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ รวมทั้งส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมมีการบริหารจัดการน้ำ สิ่งแวดล้อม ซากผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ภายใต้หลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียน และการนำระบบ IoT มาประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนาสู่การเป็น Smart Industry ที่สามารถปรับตัวให้ตอบรับกับยุค New Normal และดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน"
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "ความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนคือ ทุกคนต้องมีส่วนร่วม ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนต้องร่วมมือกัน มองผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก เพื่อประเทศไทยของเราจะเติบโตอย่างยั่งยืน"
ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า "ภายใต้บริบทปัจจุบันที่สถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ภาคธุรกิจของไทยได้มีการปรับตัวและมุ่งเน้นประเด็นด้านความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังทำให้ภาคธุรกิจบริหารความเสี่ยงได้ดีและเติบโตอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งส่งเสริมบริษัทจดทะเบียนให้เห็นถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว และส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้วิสัยทัศน์ "To Make the Capital Market 'Work' for Everyone"
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ปี 2563 ทั่วโลกและประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคม ธุรกิจ พฤติกรรมของผู้บริโภค นำไปสู่บริบทใหม่ หรือ New normal ถือเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายอย่างยิ่งของประเทศไทย รวมถึงกลุ่ม ปตท. ดังนั้น กลุ่ม ปตท. ยังคงต้องรักษาความเข้มแข็งของธุรกิจหลักและสร้างธุรกิจใหม่แทนที่การเติบโตในรูปแบบเดิม โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ทุกภาคส่วน ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ พร้อมพัฒนาสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ตามแนวคิด PTT หรือ Powering Thailand's Transformation ด้วยการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ผสานด้วยการเปิดกว้างทางความคิดรับบริบทจากภายนอก เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย ด้วยกลยุทธ์ "PTT by PTT" คือ P artnership and Platform, T echnology for All และ T ransparency and Sustainability นอกจากนั้น กลุ่ม ปตท. ยังได้นำแนวคิด 4R (Resilience, Restart, Re-imagination, Reform) มาประยุกต์ใช้บริหารจัดการเพื่อรองรับวิกฤตและลดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในช่วงการระบาด ตามกรอบการบริหารจัดการความยั่งยืน ESG ควบคู่กับการดำเนินงานตามภารกิจการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ และแสวงหาการลงทุนในรูปแบบใหม่เพื่อต่อยอดธุรกิจและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ"
พิธีแสดงความมุ่งมั่น ผู้บริหารจากองค์กรสมาชิก TBCSD 40 องค์กร ร่วมกับองค์กรพันธมิตร 3 องค์กร พร้อมใจกัน
เข้าร่วมแสดงความมุ่งมั่น "TBCSD empowers sustainable business to build back better" เพื่อเป็นการแสดงออกถึงพลังความร่วมมือภาคธุรกิจไทยในการเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน
นอกจากนี้ ภายในงานได้มีการจัดพิธีมอบรางวัลงานวิจัยดีเด่น กองทุนสุขภาพกับสภาวะโลกร้อน โดย ศาสตราจารย์
นพ.ยง ภู่วรวรรณ ประธานกรรมการบริหารกองทุนสุขภาพกับสภาวะโลกร้อน ให้เกียรติเป็นผู้มอบรางวัลฯ ให้แก่เยาวชนที่มีความสามารถด้านงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและสภาวะโลกร้อน โครงงานวิจัย "การประยุกต์วัสดุห่อผลไม้เลียนแบบธรรมชาติของสัตว์" จากโรงเรียนพนมสารคาม "พนมอดุลวิทยา" จังหวัดฉะเชิงเทรา
ด้วยความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งขององค์กรสมาชิก TBCSD องค์กรพันธมิตร และเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ TBCSD จึงเป็นผู้นำในการยกระดับการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนในวงกว้างและสนับสนุนประเทศไทยให้ก้าวไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง