ม.มหิดล โดย คณะเวชศาสตร์เขตร้อน เป็นเจ้าภาพจัดประชุม JITMM 2020 ระหว่างวันที่ 15 - 16 ธันวาคม 2563 โดยในปีนี้จัดในรูปแบบออนไลน์ครั้งแรก ได้รับเกียรติจาก ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) นำแสดงปาฐกกถา ร่วมด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเขตร้อนระดับโลก ถกปัญหาการแพร่ระบาด COVID-19 โรคเขตร้อน และโรคติดเชื้อต่างๆ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์วีระพงษ์ ภูมิรัตนประพิณ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการประชุมวิชาการนานาชาติเวชศาสตร์เขตร้อน (JITMM) ว่า ระหว่างวันที่ 15 - 16 ธันวาคม 2563 คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล จะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการนานาชาติเวชศาสตร์เขตร้อน JITMM 2020 โดยในปีนี้จัดในรูปแบบออนไลน์ครั้งแรก ภายใต้หัวข้อ "การควบคุมโรคเขตร้อนท่ามกลางการแพร่ระบาดของ COVID-19" เพื่อขยายโอกาสให้บุคลากรทางการแพทย์ทั่วโลกได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องโรคเขตร้อน โรคติดเชื้อต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ ซึ่งที่ผ่านมาการประชุมวิชาการนานาชาติ JITMM จัดมาแล้ว 25 ปี โดยเป็นการจัดประชุมวิชาการทางด้านโรคเขตร้อนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.ทีโดรส อัดฮานอม เกเบรเยซุส (Dr.Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) นำแสดงปาฐกถา
ศาสตราจารย์วิจัย ดร.เจตสุมน ประชุมศรี ประธานคณะกรรมการด้านวิทยาศาสตร์ JITMM 2020 กล่าวเสริมว่า การประชุมวิชาการนานาชาติ JITMM ในครั้งนี้ นอกจากจะได้รับเกียรติจากผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) นำแสดงปาฐกถาแล้ว ยังได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์เซอร์นิโคลัส ไวต์ Professor Sir Nicholas J. White ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเขตร้อนระดับโลก ผู้คิดค้นและพัฒนายารักษาโรคมาลาเรียประสิทธิภาพสูง ซึ่งใช้ควบคุมการระบาดของโรคมาลาเรียทั่วโลก โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์เซอร์นิโคลัส ไวต์ ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2553 สาขาการแพทย์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์เวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด สหราชอาณาจักร
การประชุมวิชาการออนไลน์ JITMM 2020 ได้รับการสนับสนุนหลักจากกระทรวงสาธารณสุข โดยเปิดโอกาสให้แพทย์ที่สนใจเข้าร่วม และสามารถเก็บคะแนน CME ได้ตามกำหนดของแพทยสภา มีหลายหัวข้อที่น่าสนใจเกี่ยวกับ COVID-19 อาทิ "การใช้ยาคลอโรควิน และไฮดรอซีคลอโรควิน เพื่อการป้องกัน COVID-19" (Cloroquine and hydroxychloroquine for COVID-19 prophylasis) "การจัดการทางคลินิกของ COVID-19" (Clinical management of COVID-19) "มุมมองการวิจัย เฝ้าระวัง และการรักษา COVID-19" (Perspectives on COVID-19 research, surveilliance, and treatments) "การควบคุมโรคเขตร้อนท่ามกลางการแพร่ระบาดของ COVID-19" (Tropical disease controls amid the COVID-19 pandemic) และ "COVID-19 เวชศาสตร์การท่องเที่ยว และอื่นๆ" (COVID-19, travel medicine, others) เป็นต้น โดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการจัดประชุมวิชาการ และมีบางหัวข้อบรรยายเป็นภาษาไทย ซึ่งผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ Facebook: Joint International Tropical Medicine Meeting