เดินหน้าเฟสสองแคมเปญ #YourHealthIsPriceless มุ่งสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้บริโภค
ถึงอันตรายของเครื่องสำอางปลอมต่อผิวหน้า ผิวกาย และสุขภาพโดยรวม
ไอพี คีย์ เซาท์อีสต์เอเชีย (IP Key South-East Asia) โครงการที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป เปิดตัวแคมเปญ #YourHealthIsPriceless เฟส 2 ในวันนี้ เพื่อสร้างความตระหนักรู้อย่างต่อเนื่องถึงอันตรายจากการใช้ยาและสินค้าเพื่อสุขภาพปลอม รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมความงามปลอม เช่น สกินแคร์และผลิตภัณฑ์ฉีดผิวหน้า สินค้าปลอมเหล่านี้นอกจากจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค ยังเป็นการละเมิดสิทธิ์ของผู้บริโภคและสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา และเนื่องจากสินค้าปลอมสามารถขนส่งและจำหน่ายได้อย่างง่ายดาย ผู้บริโภคจึงต้องตระหนักถึงอันตราย พิจารณาโปรโมชั่นของร้านค้าออนไลน์อย่างระมัดระวัง และเลือกซื้อสินค้าจากแหล่งจำหน่ายที่ถูกกฎหมายเท่านั้น
การดำเนินงานเฟสแรกเริ่มขึ้นเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยนำเสนอข้อมูลอันตรายของยาปลอมและเรียกร้องให้ร่วมกันต่อต้านการจำหน่าย การซื้อ และการบริโภคยาปลอม เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในหมู่ผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงอันตรายจากการใช้สินค้าปลอมและประโยชน์ของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาในการสร้างความมั่นคงทางสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค
"แคมเปญของไอพี คีย์ เซาท์อีสต์เอเชีย มุ่งสร้างความตระหนักรู้แก่สาธารณชนถึงปัญหาและความสำคัญของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงการปกป้องเครื่องหมายการค้า เพราะเครื่องหมายการค้าเป็นสิ่งที่ช่วยปกป้องผู้บริโภคจากความสับสน การหลอกลวง และข้อมูลที่ผิดพลาด ช่วยให้พวกเขาสามารถแยกแยะผลิตภัณฑ์แท้กับผลิตภัณฑ์ปลอม และการันตีถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ การปกป้องเครื่องหมายการค้าที่มีประสิทธิภาพยังช่วยป้องกันผู้บริโภคจากสารเคมีอันตรายและสร้างสวัสดิภาพในการใช้ชีวิต" นายติอาโก เกียเรอิโร หัวหน้าโครงการ ไอพี คีย์ เซาท์อีสต์เอเชีย กล่าว
"ในขณะนี้หน่วยงานท้องถิ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังดำเนินการเพื่อป้องกันการค้าผลิตภัณฑ์เสริมความงามปลอม และปกป้องผู้บริโภคจากอันตรายจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ที่ก่อให้เกิดปัญหากับใบหน้า ผิวพรรณ และความเป็นอยู่ที่ดีแบบองค์รวม ผ่านโครงการไอพี คีย์ เซาท์อีสต์เอเชีย โดยสหภาพยุโรปให้การสนับสนุนภารกิจนี้อย่างเต็มที่ทั่วทั้งภูมิภาค" เขากล่าวเสริม
เพื่อให้ผู้บริโภคทุกคนได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการป้องกันสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาระดับภูมิภาค ไอพี คีย์ เซาท์อีสต์เอเชียขอสนับสนุนให้คุณสนับสนุนความร่วมมือข้ามพรมแดน ในปัจจุบันในการปรับปรุงการบังคับใช้ IPR โดยแจ้งให้เพื่อนของคุณทราบถึงข้อเสียของการซื้อเครื่องสำอางปลอมและผลิตภัณฑ์ดูแลผิวกายจากแหล่งที่ผิดกฎหมาย ผู้สนใจสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการและแคมเปญนี้ได้ ผ่านการแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพปลอม พร้อมแนบรูปภาพหรือคลิปวิดีโอ และใส่แฮชแท็ก #YourHealthisPriceless #IPKeySEA #EUinThailand #EUForeignPolicy และแท็กถึงบัญชีทวิตเตอร์ @IPKey_EU หรือเพจเฟซบุ๊ก IP Key
หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถค้นหาข้อเท็จจริงและข้อมูลตัวเลขเกี่ยวกับเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลผิวกายปลอมได้ที่นี่
'Mapping Real Routes of Trade in Fake Goods' งานวิจัยซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในปี ค.ศ. 2017 โดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Cooperation and Development: OECD) และสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสหภาพยุโรป (European Union Intellectual Property Office : EUIPO) ระบุว่าในช่วงปี 2011-2013 ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและน้ำหอมปลอมจากมาเลเซีย ไทย และสิงคโปร์ มักถูกส่งไปจำหน่ายยังสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และตะวันออกกลาง ทั้งยังวางจำหน่ายทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งในตลาดซื้อขายสินค้าปกติ รวมถึงตลาดออนไลน์ซึ่งง่ายต่อการขนส่งในรูปแบบพัสดุไปรษณีย์สู่มือผู้บริโภคทั่วโลกโดยตรง
รายงาน Counterfeit and Piracy Watchlist 2018 ของคณะกรรมาธิการยุโรป ยังระบุว่า ตลาดซื้อขายสินค้าปกติซึ่งรวมถึงช้อปปิ้งมอลล์และตลาดนัดกลางแจ้งต่าง ๆ มีการจำหน่ายสินค้าปลอมในธุรกิจเหล่านี้ด้วยตราสินค้าที่แตกต่างกันมากมาย ซึ่งตลาดซื้อขายเหล่านี้ยังเป็นแหล่งจับจ่ายชื่อดัง เปิดกว้างแก่สาธารณชน และตั้งอยู่ใกล้กับสถานที่ท่องเที่ยวและแลนด์มาร์กสำคัญ ทั้งยังมีบริการขนส่งมวลชนเข้าถึงได้อย่างสะดวกสบาย
แหล่งซื้อขายขนาดใหญ่ยังรวมถึงศูนย์การค้าเอ็มบีเคในกรุงเทพฯ ที่มีร้านค้ามากกว่า 2,000 ร้าน ซึ่งถูกตรวจพบว่ามีสินค้าปลอม 100-500 รายการต่อร้าน ซึ่งรวมถึงเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ และผลิตภัณฑ์ความงามปลอมจำนวนมหาศาล ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสหภาพยุโรปยังรายงานว่าพบสินค้าปลอมจำนวนมากในศูนย์การค้าไมค์ช้อปปิ้งมอลล์ พัทยา, ตลาดนัดภูเก็ต ไนท์ มาร์เก็ต, และตลาดโรงเกลือในสระแก้ว ส่วนแหล่งซื้อขายสินค้าปลอมที่ประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังรวมถึง เพทัลลิ่ง สตรีท มาร์เก็ต กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย และไซ่ง่อน สแควร์ พลาซ่า เวียดนาม เป็นต้น
ส่วนตลาดออนไลน์ซึ่งมีจำนวนมากก็เป็นแหล่งจำหน่ายเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ และผลิตภัณฑ์ความงามปลอมด้วยเช่นกัน ซึ่งสร้างปัญหาใหญ่แก่ศุลกากรและหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายของแต่ละประเทศเป็นอย่างมาก
งานวิจัยของ OECD-EUIPO ปี 2017 อ้างอิงถึงจำนวนการจับกุมโดยศุลกากรทั่วโลกระหว่างปี 2011-2013 โดยระบุว่าร้านค้าออนไลน์เหล่านี้มีการขนส่งเครื่องสำอางและน้ำหอมปลอมด้วยพัสดุขนาดเล็กทางไปรณษณีย์ (51%) โดยมีวิธีการขนส่งสินค้าปลอมอื่น ๆ ได้แก่ การขนส่งทางถนน (28%) ทางทะเล (15%) และทางอากาศ (6%) โดยเฉพาะเมื่อกระแสโลกาภิวัฒน์และเทคโนโลยีมอบความสะดวกสบายมากขึ้น ทำให้ผู้ขายและผู้กระจายสินค้าปลอมสามารถดำเนินธุรกิจผิดกฎหมายได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น
"ปัจจุบัน หน่วยงานรัฐบาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างพยายามป้องกันการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพปลอม เพื่อปกป้องผู้บริโภคจากผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายจากสินค้าปลอมเหล่านี้ซึ่งอาจเกิดขึ้นทั้งที่ผิวหน้า ผิวกาย และสุขภาพโดยรวม ด้วยการดำเนินโครงการไอพี คีย์ เซาท์อีสต์เอเชีย ทำให้สหภาพยุโรปสามารถร่วมสนับสนุนภารกิจนี้ได้อย่างเต็มที่ทั่วทั้งภูมิภาค" นายติอาโก กล่าวเสริม
นอกจากนี้ การจำหน่ายสินค้าปลอมในธุรกิจเครื่องสำอางและน้ำหอมยังถือเป็นการทำลายห่วงโซ่อุปทานและการพัฒนาเศรษฐกิจทั่วโลก โดยงานวิจัยของ OECD-EUIPO ปี 2017 ระบุถึงความเสียหายของมูลค่าการค้าทั่วโลกซึ่งสูงถึง 3.8 พันล้านยูโรในปี 2013
รายงาน '2020 Status Report on IPR Infringement' ของ EUIPO แสดงให้เห็นว่าเฉพาะในสหภาพยุโรป ความเสียหายของรายได้รวมเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 17.9 พันล้านยูโร และความเสียหายของรายได้รวมของรัฐอยู่ที่ 3.5 พันล้านยูโรในช่วงปี 2013-2017 ผลกระทบเหล่านี้สร้างความวิตกกังวลอย่างมากทั้งแก่สหภาพยุโรป องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสหภาพยุโรป ด้วยเหตุนี้ การปกป้องธุรกิจเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพจากการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม จึงช่วยส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งในระดับภูมิภาคและทั่วโลก
เกี่ยวกับ ไอพี คีย์ เซาท์อีสต์ เอเชีย
แคมเปญ #YourHealthisPriceless คือกิจกรรมของ ไอพี คีย์ เซาท์อีสต์เอเชีย (IP Key SEA) ซึ่งเป็นโครงการระยะเวลา 4 ปีที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรปและดำเนินงานโดยสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสหภาพยุโรป (European Union Intellectual Property Office : EUIPO) มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการปกป้องสิทธิ์และการบังคับใช้กฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านการสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมทางกฎหมายและเศรษฐกิจที่เหมาะสมซึ่งช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุนในภูมิภาค ด้วยการสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายและการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพด้านทรัพย์สินทางปัญญา ไอพี คีย์ เซาท์อีสต์เอเชีย มุ่งหวังให้เกิดความเท่าเทียมทั้งสำหรับผู้ประกอบการในระดับประเทศและผู้ถือประโยชน์ทุกฝ่ายในสหภาพยุโรป โดย ไอพี คีย์ เซาท์อีสต์เอเชีย คือแผนงานหนึ่งในสามที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป มุ่งเน้นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและดำเนินงานโดยสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสหภาพยุโรป ร่วมกับ ไอพี คีย์ ไชน่า และ ไอพี คีย์ ละติน อเมริกา
เกี่ยวกับสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสหภาพยุโรป
สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสหภาพยุโรป (European Union Intellectual Property Office : EUIPO) คือหน่วยงานของสหภาพยุโรป มีฐานการดำเนินงานในเมืองอาลีคานเต้ ประเทศสเปน ทำหน้าที่บริหารการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของสหภาพยุโรป (European Union Trade Mark: EUTM) และหน่วยงาน Registered Community Design (RCD) โดยทั้งสองหน่วยงานให้ความคุ้มครองแก่รัฐสมาชิกสหภาพยุโรปทั้ง 27 รัฐ ตลอดจนดำเนินกิจการความร่วมมือระหว่างสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศต่าง ๆ ในระดับภูมิภาคของสหภาพยุโรป ภายใต้แผนกลยุทธ์ปี 2020 สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสหภาพยุโรปได้ประสานงานกับสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศต่าง ๆ ในสหภาพยุโรป เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระดับสากลในด้านทรัพย์สินทางปัญญา ระหว่างกลุ่มพันธมิตรของสหภาพยุโรป ประเทศนอกสหภาพยุโรป และองค์กรพหุภาคี