ปัจจุบันเทรนด์พฤติกรรมของผู้บริโภคไม่เพียงแต่สนใจด้าน "สุขภาพ" เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังขยายไปสู่ "การบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ" นอกจากจะใส่ใจในสุขภาพแล้ว ยังใส่ใจในสิ่งแวดล้อม เกิดเป็นทัศนคติใหม่ที่ว่า "สิ่งใดที่ดีสำหรับโลกใบนี้ ย่อมดีสำหรับฉันด้วย" ผู้บริโภคจึงมีแนวโน้มในการมองหาสินค้าที่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพและขณะเดียวกัน ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเป็นสินค้าที่มีปริมาณการบริโภคในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก และสิ่งที่ตามมาคือปริมาณบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วก็จะมีปริมาณมากเช่นกัน ในฐานะผู้ผลิตเครื่องดื่ม โอสถสภาจึงให้ความสำคัญในการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เน้นการใช้ขวดแก้วและกระป๋องอลูมิเนียมในการบรรจุเครื่องดื่ม เนื่องจากบรรจุภัณฑ์ทั้งสองประเภทนั้น สามารถนำมารีไซเคิลได้ ช่วยลดปริมาณขยะ และช่วยตอบความต้องการและความรับผิดชอบของผู้บริโภคที่ต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของบรรจุภัณฑ์ นอกจากโอสถสภาจะบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ในการผลิตแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการดูแลนำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วกลับมาใช้ประโยชน์ เพื่อช่วยลดปริมาณขยะ โดยเริ่มจากการเปิดศูนย์รีไซเคิลขึ้นในจังหวัดสระบุรี เพื่อรับบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เมื่อศูนย์รีไซเคิลได้รับขยะขวดแก้วและกระป๋องอลูมิเนียม จะนำมาผ่านกระบวนการแยกชิ้นส่วนและแยกประเภทอย่างเป็นระบบ เพื่อนำทุกส่วนไปรีไซเคิลใช้ประโยชน์ให้ได้สูงสุด เช่น ขวดแก้วและเศษแก้วจะถูกส่งต่อไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตขวดแก้ว ช่วยให้สามารถลดการใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตได้เป็นจำนวนมาก ฝาอลูมิเนียมที่คัดแยกออกมา จะนำมารวมกับขยะกระป๋องและส่งให้โรงงานที่เชี่ยวชาญด้านอลูมิเนียมนำไปรีไซเคิลต่อไป สำหรับส่วนประกอบอื่นๆ ของบรรจุภัณฑ์นั้นได้รับการออกแบบให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด แผ่นรองฝาขวดเครื่องดื่มส่วนใหญ่ของโอสถสภานั้น ทำจากวัสดุที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ส่วนฉลากของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มของโอสถสภานั้น ส่วนใหญ่ทำจากกระดาษ
หลังจากเปิดใช้งานศูนย์รีไซเคิลแห่งนี้เมื่อช่วงปลายปี 2562 โอสถสภาสามารถนำขวดแก้วและกระป๋องอลูมิเนียมเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้เป็นจำนวนมาก จึงได้ขยายศูนย์ฯ ให้สามารถรองรับได้มากขึ้น ในขณะเดียวกัน ได้จับมือกับโรงงานคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิลวงษ์พาณิชย์เพื่อเพิ่มศักยภาพในการจัดหาขวดแก้วที่ใช้แล้วเพื่อนำมารีไซเคิลอีกด้วย
การนำบรรจุภัณฑ์ต่างๆ มาหมุนเวียน กลับมาใช้ประโยชน์ ถือเป็นส่วนสำคัญในนโยบายลดและกำจัดปริมาณของเสียจากการดำเนินงานทุกๆ ส่วน จนทำให้ โอสถสภาสามารถลดปริมาณขยะฝังกลบจากกระบวนการผลิตให้เป็นศูนย์ได้สำเร็จ ตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมา นับเป็นหนึ่งในไม่กี่องค์กรในประเทศไทยที่สามารถบรรลุเป้าหมายนี้
"โอสถสภาให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจโดยส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุดมาโดยตลอด จึงมุ่งเน้นศึกษาและพัฒนาแนวทางบริหารจัดการและสร้างการหมุนเวียนของบรรจุภัณฑ์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของโอสถสภา เพื่อนำไปสู่การใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า และนำความยั่งยืนมาสู่สังคม" นางวรรณิภา ภักดีบุตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) กล่าว